ห่วงสินค้าแพง “หอการค้า” ถก “พาณิชย์” รับมือวัตถุดิบขาดหลังวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน
"สนั่น" นำทัพ หอการค้าถก "พาณิชย์" รับมือวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ยอมรับห่วงราคาสินค้าแพง หลังต้นทุนพุ่ง "ธัญพืช-ปุ๋ย-เหล็ก-ยาง" ขึ้นราคา หวั่นสถานการณ์ยืดเยื้อกระทบขาดแคลนวัตถุดิบ – ค่าขนส่งทุบซ้ำอีก เตือนเอกชนบริหารต้นทุน-วางแผนสำรองรอบคอบ
วันที่ 13 มีนาคม 2565 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า ในสัปดาห์หน้า คณะทำงานมาติดตามสถานการณ์วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน หอการค้าไทย จะประชุมกระทรวงพาณิชย์เพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์ล่าสุด หลังจากนั้นจะมีการทยอยพบและหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
โดยหอการค้าไทยได้ติดตามสถานการณ์ขณะนี้พบว่า ต้นทุนราคาสินค้าที่จะสูงขึ้นเนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งนี้ เช่น สินค้าประเภทธัญพืชต่าง ๆ ทั้ง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี เมล็ดทานตะวัน เป็นต้น ซึ่งนอกจากราคาที่จะสูงขึ้นแล้ว อาจประสบกับภาวะขาดแคลน สิ่งเหล่านี้จะกระทบกับต้นทุนสินค้าอาหาร
นอกจากนั้น วัตถุดิบจำพวกสินแร่ต่าง ๆ (Rare Earth) อาจจะกระทบกับการผลิตแผงวงจรไฟฟ้า และการผลิตชิป และอาจทำให้ต้นทุนการนำเข้าของบางสินค้ากระทบด้วย ซึ่งเอกชนต้องวางแผนบริหารจัดการต้นทุนอย่างรอบคอบ
“สิ่งที่กังวลอยู่ในขณะนี้ คือเรื่องราคาปุ๋ยที่จะแพงขึ้น เพราะไทยนำเข้าปุ๋ยประมาณ 5 ล้านตันต่อปี หากราคาปุ๋ยมีราคาสูงขึ้น เกษตรกรก็จะใส่น้อยลง ผลผลิตก็จะน้อยลงตามไปด้วย อันหมายถึงรายได้ของเกษตรกรที่จะหายไป ซึ่งปัญหานี้คาดว่าจะเกิดขึ้นอีกไม่นาน”
ขณะเดียวกัน หอการค้าฯ ประเมินว่า สินค้าที่จะปรับราคาสูงขึ้น จะเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับ รัสเซีย ยูเครน เช่น เหล็ก ผลิตภัณฑ์ยาง สินแร่ต่าง ๆ สินค้าเหล่านี้เป็นวัตถุดิบที่นำมาต่อยอดในอุตสาหกรรมจำนวนมาก รวมไปถึงข้าวสาลี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เมล็ดทานตะวัน และธัญพืชต่าง ๆ นอกจากนั้น สินค้าที่ไทยนำเข้าจากยุโรป ก็จะมีราคาสูงขึ้น เนื่องจากผลพวงของราคาพลังงานที่ยุโรปนำเข้าจากรัสเซีย
“ราคาอาหาร เป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะนอกจากต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นแล้ว ยังได้รับผลกระทบมาจากราคาอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น ส่งผลให้เนื้อสัตว์มีราคาแพงตามอีกด้วย และที่สำคัญคือสินค้าที่กระทบกับพลังงานที่ราคาสูงขึ้น ทั้งโดยตรงและที่เกี่ยวเนื่องกับค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น (Logistics Cost)”
อย่างไรก็ตาม ต้นทุนหลาย ๆ อย่างที่เพิ่มขึ้น เกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ ดังนั้น ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมควบคุมปริมาณการผลิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จะได้ไม่เป็นการแบกรับต้นทุนจนเกินกำลัง
“ขอให้ประชาชนและภาคเอกชน เตรียมตัวคือรับมือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นยืดเยื้อ ซึ่งเชื่อว่า ภาครัฐคงจะช่วยพยุงสถานการณ์ไม่ได้นานหากเหตุการณ์ยืดเยื้อ ซึ่งก็ไม่ควรไปฝืนราคาตลาดโลกนานมากเกินไป ดังนั้น แต่ละท่านควรมีแผนสำรอง เพื่อให้สามารถเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ และควรระมัดระวังเรื่องการลงทุนเพิ่มเติม โดยต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเห็นด้วยกับภาครัฐที่ ส่งเสริมให้ประชาชนประหยัดพลังงาน”
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 13 มีนาคม 2565