น่าห่วง!! ลอง โควิด ในผู้สูงอายุ เสี่ยงเกิดโรคระบบหัวใจ-หลอดเลือดมากขึ้นกว่า 2-4 เท่า
“หมอนิธิพัฒน์” ห่วงภาวะลอง โควิด ในผู้สูงอายุ มีโอกาสเกิดโรคในระบบหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้นกว่าเดิม 2-4 เท่า
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เพจเฟซบุ๊ก นิธิพัฒน์ เจียรกุล เตือนลองโควิด ในผู้สูงอายุ ดังนี้
ดูเหมือนสถิติวันนี้ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงชัดเจน ยกเว้นผู้ป่วยรายใหม่ที่สวิงขึ้นลงและผู้ป่วยอาการรุนแรงที่เพิ่มขึ้นราวแค่ 1%
ส่วนที่บ้านริมน้ำ ยอดผู้ติดเชื้อรวมดูคงที่แบบลดลงจากสัปดาห์ก่อน ที่น่าจะบ่งว่าดีขึ้นคือคนกลุ่มเปราะบางที่ติดเชื้อมีสัดส่วนลดลง แต่กลุ่มร่างกายไม่เปราะบางเช่นสมาชิกบ้านริมน้ำยังคงติดกันงอมแงมอยู่ น่าเห็นใจว่ากายแกร่ง แต่ใจอาจจะแผ่วเพราะตรากตรำงานหนักกันมานาน
อย่างไรก็ตามถนอมตัว ระมัดระวังกิจกรรมเสี่ยงในการรวมกลุ่มกันหน่อย แม้ยกเลิกการกักตัวกลุ่มเสี่ยงสูงไปแล้ว แต่ถ้าป่วยกันเรื่อยๆ คนที่เหลือจะงานหนัก ถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น อาจจำเป็นต้องให้คนที่ติดเชื้อหรือป่วยอาการน้อยกลับมาทำงานเร็วขึ้นภายใต้เงื่อนไข
สิ่งที่พวกเราทนุถนอมรักและหวงแหน คือหัวใจดวงน้อย ๆ สถิตในทรวงอกด้านซ้าย ที่ไม่สามารถให้ใครอื่นเอาไปครอบครองได้โดยง่าย
หากเราต้องป่วยจากโควิดแล้ว กล่องใบสำคัญนี้จะมีผลระยะยาวอย่างไร
ข้อมูลจากการตรวจศพผู้เสียชีวิตจากโควิด พบกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเพียงไม่ถึง 10% แต่ในระหว่างการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดรุนแรง/วิกฤต พบร่องรอยของกล้ามเนื้อหัวใจเกิดภยันตรายได้บ่อย
จากการตรวจสารชีวภาพในเลือด (cardiac troponins) เชื่อว่าเป็นผลจากระบบไหลเวียนเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจถูกรบกวน
ข้อมูลจากการติดตามผู้ป่วยจำนวนมากในอเมริกาและอังกฤษ พบว่าผู้สูงอายุ (เกิน 60 ปี) หลังหายจากโควิดแล้ว มีโอกาสเกิดโรคในระบบหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้นกว่าเดิม 2-4 เท่า
ปัจจุบันกำลังมีนักวิจัยที่สนใจเรื่องนี้จากทั่วโลก ติดตามผลกระทบด้านหัวใจในผู้ป่วยลองโควิด โดยติดตามทั้งการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) คลื่นเสียงสะท้อน (echocardiography)
การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หลอดเลือด (coronary CTA) คลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็ก (MRI) และ การประเมินหัวใจและปอดขณะออกกำลังกาย (CPET) นับว่าเป็นเรื่องที่สมควรติดตามใกล้ชิดกันต่อไป
ที่มา the bangkok insight
วันที่ 17 มีนาคม 2565