20 องค์กรท่องเที่ยวชง “บิ๊กตู่” ยกเลิก RT-PCR ทัวริสต์ครั้งแรก เริ่ม 1 เม.ย. 65
20 องค์กรท่องเที่ยวทำหนังสืออ้อน “บิ๊กตู่” ทบทวนความจำเป็นของระบบ “ไทยแลนด์พาส” พร้อมยกเลิกตรวจหาเชื้อทัวริสต์ด้วยวิธี RT-PCR ครั้งที่ 1 ในวันแรกที่เดินทางมาถึง เปลี่ยนมาใช้ ATK แทน พร้อมยกเลิกการแนบเอกสารประกันโควิด 19 และเอกสารยืนยันที่พัก หวังดีเดย์ 1 เม.ย.65
ตัวแทนภาคเอกชนท่องเที่ยวจาก 20 องค์กร กล่าวว่า ทั้ง 20 องค์กรเอกชนท่องเที่ยวซึ่งเป็นสมาคมและสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจากส่วนกลางและในต่างจังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี สตูล ตรัง ระนอง และชลบุรี ได้ทำหนังสือลงนามเมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา เรื่องการสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทย และมาตรการการเดินทางเข้าประเทศที่ส่งผลต่อยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวประเทศไทย เพื่อยื่นถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
พร้อมสำเนาถึงรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการการต่างประเทศ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ, ประธานคณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
สำหรับเนื้อหาของหนังสือ ระบุไว้ดังนี้...
รัฐบาลภายใต้การนําของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กําหนดยุทธศาสตร์ ที่สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ในการสร้างความสมดุลของการควบคุมการระบาด และกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภายใต้ชื่อ Phuket Tourism Sandbox ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2564 ซึ่งเป็นที่จับตามองของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลก และภายหลังประเทศไทยได้รับความชื่นชมในความสําเร็จที่ได้เป็นผู้นําทางความคิดและริเริ่มในการสร้างความเข้าใจในการอยู่ร่วมกับโควิด-19 จากนานาประเทศ
จากพัฒนาการของ Phuket Tourism Sandbox ทําให้หลายประเทศได้นําแนวความคิดและรูปแบบของประเทศไทยเป็นตัวแบบตั้งต้นในการเริ่มเปิดประเทศ และเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ประเทศไทยได้พัฒนารูปแบบของการเดินทางเข้าประเทศไทยจาก Phuket Tourism Sandbox เป็นแบบ Test & Go ที่ดําเนินการในปัจจุบัน และได้ปรับลดเงื่อนไขด้านขั้นตอนและเอกสารให้ง่ายลง แต่จากการศึกษาเชิงเปรียบเทียบถึงเงื่อนไขและขั้นตอนของประเทศไทยกับนานาประเทศ พบว่าในหลายประเทศได้ปรับเงื่อนไขการเดินทางเข้าประเทศลงอย่างมาก
เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้ตัดสินใจเดินทางเข้าประเทศง่ายขึ้น อันเป็นปัจจัยหลักในการสร้างเสริมสภาพเศรษฐกิจในประเทศนั้นๆ ให้เติบโตขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยที่เป็นที่ยอมรับ และสามารถช่วงชิงความเป็นผู้นําในด้านรูปแบบการเปิดประเทศ และเป็นการเพิ่มโอกาส ศักยภาพ และขีดความสามารถด้านการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวไทย ทางหน่วยงานทางการท่องเที่ยวทั้งประเทศไทยใคร่นําเสนอมาตรการการเดินทางเข้าประเทศที่ส่งผลต่อยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวประเทศไทย โดยขอให้มีการประกาศใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นต้นไป
1. พิจารณาทบทวนความจําเป็นของกระบวนการเดินทางเข้า Thailand Pass ว่า มีความจําเป็นในการคงอยู่ของระบบ Thailand Pass โดยเสนอให้มีการวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ
2. พิจารณาเงื่อนไขการเดินทางเข้าประเทศจากเอกสารการรับรองการได้รับวัคซีนที่ครบตามเงื่อนไขเพียงอย่างเดียว โดยเสนอพิจารณายกเลิกการแนบเอกสารประกันโควิด 19 และเอกสารยืนยันที่พัก
- จากการดําเนินงานมาตลอดระยะเวลาที่ได้มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศนั้น พบว่านักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนครบแล้ว แม้มีการได้รับเชื้อโควิด-19 ร้อยละ 95 เป็นผู้ป่วยที่มีอาการน้อยมาก หรือแทบไม่แสดงอาการ จึงไม่มีความจําเป็นใดที่ต้องให้มีการแนบเอกสารประกันโควิด 19 ในการเดินทางเข้าประเทศ
- การที่นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้รับเชื้อโควิด-19 และไม่แสดงอาการนั้น ทําให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายจากประกันต่างประเทศได้ เพราะกรมธรรม์ส่วนใหญ่ระบุให้เบิกค่าใช้จ่ายเฉพาะกรณีที่ต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเท่านั้น
- ปัจจุบันนักท่องเที่ยวต้องส่งเอกสารการจองห้องพักเข้าระบบ Thailand Pass ซึ่งไม่มีความจําเป็น เนื่องจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้สร้างระบบ TPHS รองรับแล้ว
3. พิจารณาการปรับวิธีการตรวจหาเชื้อจาก RT-PCR เป็น ATK ในการตรวจครั้งที่ 1 ในวันเดินทางถึง และยกเลิกการตรวจ ATK ในการตรวจครั้งที่ 2
- จากการวิเคราะห์ข้อมูลตลอดระยะเวลาตั้งแต่การดําเนินการ Phuket Tourism Sandbox พบว่าอัตราการพบผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศในการตรวจครั้งที่ 1 นั้นมีประมาณ 1-2% ของจํานวนผู้เดินทางเข้ามาทั้งหมด
- วิธีการตรวจภายในประเทศในปัจจุบันได้ใช้วิธี ATK การสร้างมาตรฐานเดียวกันระหว่างภายในประเทศและผู้เดินทางจากต่างประเทศจึงเป็นวิธีที่ดี และสามารถตรวจ RT-PCR ซ้ำได้ในเฉพาะผู้ที่มีผลที่มีความเป็นไปได้ในการรับเชื้อโควิด-19
-ส่วนการตรวจ ATK ครั้งที่ 2 ในวันที่ 5 หรือ 6 นั้น เสนอพิจารณายกเลิก เนื่องจากอัตราการระบาดภายในประเทศที่ประมาณ 8-10% และไม่สามารถระบุได้ว่าการติดเชื้อของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ประมาณ 5-7% นั้น เป็นการติดเชื้อจากภายในประเทศ หรือจากต่างประเทศ
4. ปรับวิธีการกักตัวผู้มีความเสี่ยงสูง (HRC)
- เสนอปรับวิธีจัดการผู้มีความเสี่ยงสูงโดยทั่วไป ให้เป็นไปตามข้อแนะนําของกระทรวงสาธารณสุขที่อนุญาตบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูงที่หากผลการตรวจ ATK เป็นลบในวันแรก สามารถทํางานตามปกติ บนมาตรการเฝ้าระวังและตรวจ ATK ทุก 2 วัน
- ปัจจุบันแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกําลังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างมาก ส่วนหนึ่งมาจากกําลังงานที่มีความเสี่ยงสูง จําเป็นต้องกักตัวตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข หากการอนุญาตให้แรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีมาตรฐานในการกักตัวผู้มีความเสี่ยงสูงเหมือนกับบุคลากรทางการแพทย์ได้ จะเป็นนโยบายที่สนับสนุนการทํางานได้อย่างมาก
5. ปรับลดจำนวนวันในการกักตัวผู้ติดเชื้อจาก 10 วันให้คงเหลือ 5 วัน
- เสนอปรับมาตรฐานการรักษาผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการหรือมีอาการน้อย ให้รักษาตัวโดยการกักตัวจาก 10 วัน ให้เหลือ 5 วัน ตามมาตรฐานการรักษาของ National Health Services ประเทศสหราชอาณาจักร
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยกําลังถูกท้าทายจากมาตรการการเดินทางเข้าของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่มียุทธศาสตร์ที่เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเติบโต ทั้งประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศเวียดนาม ประเทศมาเลเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงภูมิภาคต่างๆ ที่ล้วนแล้วแต่ต้องการให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าเพื่อพยุงสภาวะเศรษฐกิจ เช่น ประเทศเกาหลีใต้ หรือประเทศออสเตรเลีย รวมถึงหลายประเทศในภูมิภาคยุโรป
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยกําลังได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียและประเทศยูเครนที่ส่งผลกระทบเชิงเศรษฐกิจในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงปัจจัยภายนอกที่ยากต่อการควบคุม เช่น ราคาน้ำมัน ราคาเชื้อเพลิง ค่าเงิน และที่สําคัญคือสภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจทั่วโลก (Global Recession)
ภาคเอกชนโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชื่อมั่นว่า การสร้างขีดความสามารถด้านการ แข่งขันในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยเริ่มจากการปรับมาตราการการเดินทางเข้าประเทศที่มีความเป็นไปได้ เหมาะสมต่อสถานการณ์ และได้เปรียบเชิงการแข่งขัน จะส่งผลต่อยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวประเทศไทยที่มีผลต่อการกระตุ้นต่อสภาพเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง อันจะเป็นจุดเปลี่ยนสําคัญที่ทําให้ประเทศไทยมีจุดยืนที่ชัดเจน และสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกในเวทีโลก
จึงเรียนมาเพื่อได้โปรดให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้โปรดพิจารณา และมีบัญชาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับนโยบายไปปฏิบัติโดยทันทีเพื่อประเทศไทย และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยได้เดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคง สมดุล และยั่งยืน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 17 มีนาคม 2565