โลกเผชิญความเสี่ยง วิกฤตซัพพลายน้ำมัน

การยกกำลังทหารบุกเพื่อยึดครองยูเครนของรัสเซีย ส่งผลกระทบต่อตลาดน้ำมันโลกอย่างหนัก ราคาน้ำมันดิบโลกอ่อนไหว ผันผวนสูง ในทิศทางขาขึ้น เหมือนอย่างเช่นที่ปรากฏเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (20 มีนาคม) ที่จู่ ๆ ราคาน้ำมันดิบเบรนต์ก็พุ่งขึ้นรวดเดียวกว่า 9%
 
เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการพุ่งขึ้นสูงอีกครั้งก็คือ ถ้อยแถลงของ องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) ที่ออกมาเตือนก่อนหน้านั้น 1 วันว่า โลกอาจต้องเผชิญหน้ากับ “วิกฤตซัพพลายน้ำมันครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี”
 
สิ่งที่ไออีเอชี้ว่าเป็นสาเหตุสำคัญก็คือ นับตั้งแต่เดือนเมษายนนี้เป็นต้นไปไออีเอเชื่อว่ากำลังการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียจะลดลงมหาศาลถึง 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดสัดส่วนสูงถึง 3% ของปริมาณน้ำมันดิบในตลาดโลก
 
วันถัดมาราคาน้ำมันดิบเบรนต์ที่เป็นราคาอ้างอิงของตลาดโลก พุ่งขึ้นถึงระดับ 107.93 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
 
แม้ว่าจะยังห่างไกลจากระดับราคาสูงสุดก่อนหน้านี้ที่ 139 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอยู่ไม่น้อยก็ตาม แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูงกว่าก่อนหน้าที่จะเกิดการรุกรานยูเครนอยู่ถึง 10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเลยทีเดียว
 
สิ่งที่ช่วยชะลอไม่ให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงไปกว่านั้น เป็นเพราะตลาดยังคาดหวังในทางที่ดีว่า การเจรจาเพื่อยุติสงครามยูเครนยังอาจเป็นไปได้ พร้อมกันนั้นก็เชื่อว่าเป็นไปได้เช่นกันที่ชาติตะวันตกจะทำความตกลงเพื่อปลดล็อกน้ำมันดิบจากอิหร่านและเวเนซุเอลาให้สามารถกลับมาสู่ตลาดได้อีกครั้ง
 
รวมทั้งนักวิเคราะห์บางส่วนยังไม่แน่ใจว่า ภาวะสูญเสียผลผลิตน้ำมันของรัสเซียที่ไออีเอประเมินเอาไว้จะสูงถึงขนาดนั้นจริงหรือไม่
 
“ฟลอเรียน ทาเลอร์” ซีอีโอของออยล์เอ็กซ์ ซึ่งติดตามปริมาณการไหลเวียนของปิโตรเลียมทั่วโลก ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า ปริมาณความต้องการน้ำมันสำเร็จรูปทั่วโลกเริ่มลดระดับลง ในขณะที่การส่งออกน้ำมันดิบยังคงอยู่ในระดับสูงเช่นเดิม
 
นอกจากนั้น ชาติอียูทั้งหลายยังคงจัดซื้อน้ำมันจากรัสเซียอยู่ (จนกว่าจะถึงกำหนดแซงก์ชั่นในตอนปลายปี) จีนก็เช่นเดียวกัน นอกจากนั้น “อินเดีย” ถึงกับเพิ่มการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย 150,000 บาร์เรลต่อวัน เป็นกว่า 500,000 บาร์เรลต่อวัน
 
ทั้งหมดนั้นทำให้ในความเป็นจริงแล้วการผลิตน้ำมันในเดือนมีนาคมของรัสเซียส่อว่าจะเพิ่มสูงขึ้นด้วยซ้ำไป
 
บทวิเคราะห์ของ “มอร์แกนสแตนเลย์” ค่อนข้างจะเห็นพ้องโดยชี้ว่า ในเวลานี้รัสเซียส่งออกน้ำมันดิบในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดอยู่มาก และในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาน้ำมันราคาถูกมักมีตลาดรองรับอยู่เสมอ
 
อย่างไรก็ตาม ไออีเอตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า บรรดาชาติตะวันตกทั้งหลายเพิ่งปล่อยน้ำมันดิบออกจากคลังสำรองเชิงพาณิชย์ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก เพื่อพยุงราคาและตอบสนองต่อความต้องการที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อส่อเค้าว่าวิกฤตโควิด-19 กำลังจะผ่านพ้นไป
หากสงครามยังไม่ยุติและการเจรจากับอิหร่านและเวเนซุเอลาไม่ได้ผล ปัญหาซัพพลายน้ำมันก็จะเกิดขึ้นตามมา เพราะภาวะซัพพลายในตลาดน้ำมันดิบโลกอยู่ในสภาพตึงตัวเต็มที่อยู่ก่อนเกิดสงครามยูเครนด้วยซ้ำไป
 
หนทางเดียวที่จะป้องกันการเกิดวิกฤตซัพพลายครั้งใหญ่ขึ้นอีกครั้งก็คือ ต้องหาประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่มีกำลังการผลิตสำรองอยู่กับตัวให้เพิ่มกำลังการผลิตขึ้นทดแทนน้ำมันดิบที่ขาดหายไปของรัสเซีย
 
ในสภาวการณ์เช่นนี้หลายคนมองไปที่ “ซาอุดีอาระเบีย” กับ “สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์” 2 ชาติผู้ผลิตน้ำมันสำคัญในกลุ่มโอเปก ในฐานะที่เป็นเพียงไม่กี่ชาติที่มีกำลังการผลิตสำรองหลงเหลืออยู่ และสามารถผลิตน้ำมันออกมาป้องกันภาวะขาดแคลนได้
 
ซาอุดีอาระเบียถูกมองว่าเป็นชาติที่มีกำลังการผลิตสำรองหลงเหลืออยู่มากที่สุดในโอเปก ระหว่าง 1.2-2.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่วนยูเออีก็มีอยู่ระดับ 0.6-1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
 
ว่ากันว่า ซาอุฯเป็นชาติที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตน้ำมันออกมาชดเชยกับผลผลิตที่ขาดหายไปของอิหร่านและเวเนซุเอลาที่ผ่านมา ในขณะที่ชาติโอเปกที่เหลืออื่น ๆ กำลังการผลิตสำรองไม่เหลือหลอ หลายประเทศถึงกับติดลบด้วยซ้ำไป จากการที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไม่มีการลงทุนและสำรวจพบแหล่งน้ำมันใหม่ ๆ เลย
 
ปัญหาสำคัญในเวลานี้ก็คือว่า ซาอุดีอาระเบียและยูเออีมีกำลังการผลิตสำรองที่ว่านั้นอยู่จริงหรือไม่ ? สามารถผลิตเพิ่มได้ทันทีตามความต้องการหรือไม่ ?
 
ถ้าคำตอบคือ ไม่ใช่ วิกฤตซัพพลายน้ำมันของโลกจะเกิดขึ้นตามมาแน่นอน
 
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 23 มีนาคม 2565   

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)