เอกชนจี้พลิก "วิกฤตยูเครน" เป็นโอกาส ดันไทยฮับซัพพลายเชนโลก

บิ๊กเอกชนแนะพลิกวิกฤตยูเครนเป็นโอกาสเคลื่อนเศรษฐกิจไทยพลิกโฉมครั้งใหญ่ สภาอุตฯชงตั้งนิคมฯซัพพลายเชน ดูดทุนนอกไหลเข้า เร่ง BCG ฟิวเจอร์ฟู้ดดันไทยติดท็อป 10 ส่งออกอาหารโลก ลุยปุ๋ยชีวภาพหนุนเกษตรอินทรีย์เพิ่มส่งออก หอการค้าฯชู 4R. จี้นำเงินขยายเพดานหนี้ 70% มาใช้
 
ท่ามกลางวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบสั่นสะเทือนมายังประเทศไทยและทั่วโลก ทั้งน้ำมัน ราคาพลังงาน วัตถุดิบอาหารคน-อาหารสัตว์แพง ราคาสินค้า เงินเฟ้อ ค่าครองชีพพุ่ง ส่งผลเศรษฐกิจไทยโดยรวมอยู่ในภาวะชะลอตัว ยิ่งสถานการณ์ยืดเยื้อสหรัฐฯ ชาติตะวันตก และรัสเซียยิงปรมาณูทางเศรษฐกิจตอบโต้กันไปมานับวันยิ่งสุมสถานการณ์รุนแรงและดำดิ่ง
 
ทั้งนี้ในการสัมมนา THE BIG ISSUE 2022 ฝ่าไฟสงคราม รับมือวิกฤตเศรษฐกิจ จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ และกรุงเทพธุรกิจ (23 มี.ค. 65) ในหัวข้อ “ทางออก ทางรอดธุรกิจไทย หลังไฟสงคราม” ผู้นำภาคธุรกิจยังมองเห็นช่องทางการพลิกวิกฤตินี้ให้เป็นโอกาสของประเทศไทย
 
ดันนิคมอุตสาหกรรมซัพพลายเชน :
 
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และในฐานะประธานสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย กล่าวว่า ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน(ซัพพลายเชน) ในหลายสินค้าที่สำคัญ ซึ่ง ส.อ.ท.เห็นว่า ไทยควรใช้วิกฤตนี้ให้เป็นโอกาส ที่จะผลักดันให้มีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมซัพพลายเชนที่อยู่ในห่วงโซ่ของกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ
 
ทั้งนี้โดยศักยภาพไทยมีหลายอุตสาหกรรมที่สามารถผลิตวัตถุดิบ ชิ้นส่วนต่างๆ ได้เองในประเทศ ทำให้การผลิตไม่สะดุดเมื่อซัพพลายเชนโลกมีปัญหา และยังช่วยดึงการลงทุนจากต่างประเทศได้ด้วย โดยเตรียมนำเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) และบีโอไอเพื่อพิจารณาในเร็วๆ นี้
 
นอกจากนี้เห็นควรเร่งขับเคลื่อนวาระแห่งชาติเรื่องเศรษฐกิจ BCG (Bioeconomy, Circular Economy และ Green Economy)ให้บังเกิดผลที่เป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจ เช่น ยา อาหารเสริม เครื่องสำอาง ไบโอพลาสติกไบโอเคมีคัล และอื่น ๆ
 
ขณะที่ควรใช้โอกาสนี้ในการขับเคลื่อนอาหารแห่งอนาคต เช่น แพลนต์เบสด์ (Plant-based) รวมถึงอาหารที่มีนวัตกรรมและมีมูลค่าเพิ่มเพื่อผลักดันให้ไทยก้าวขึ้นเป็น 1 ใน 10 ของประเทศผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก รวมถึงการใช้วิกฤตปุ๋ยเคมีขาดแคลนและราคาแพง ผลักดันการผลิตและการใช้ปุ๋ยชีวภาพในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ (ออร์แกนิค) ที่กำลังเป็นที่ต้องการของโลก
 
ให้เร่งประกาศโรคประจำถิ่น 
 
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลควรประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นให้เร็วขึ้น ไม่ต้องรอถึงเดือนกรกฎาคม 2565 และควรทยอยผ่อนคลายการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวก สร้างความได้เปรียบในการดึงดูดการท่องเที่ยว และเพื่อให้เศรษฐกิจโดยรวมเดินหน้าต่อไปได้
 
การนำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาเสริมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เกิดการเติบโตและตั้งเป้าหมายธุรกิจใหม่ (New S-Curve)ภายใต้กรอบ 4R คือ Restart สร้างธุรกิจใหม่ ๆ ต่อยอดจากธุรกิจเดิมที่มีอยู่ เช่น BCG หรือ Startup, Reimagine คิดใหม่ เพิ่มมูลค่า ในรูปแบบโมเดลธุรกิจใหม่ เพื่อตอบสนองสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว Recover พลิกฟื้น และสร้างโอกาสในการฟื้นฟู เช่น ช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน และ Reform ตื่นตัว เพื่อให้ปรับเร็ว ยกเลิกระเบียบหรือกฎหมายที่ล้าสมัย ช่วยรัฐบาลทรานส์ฟอร์มสู่ E-Government ลดขั้นตอนการเข้าประเทศเพื่อให้ไทยแข่งขันได้ดีขึ้น
 
“รัฐบาลควรคงนโยบายดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเรื่องต้นทุนของเอสเอ็มอี และช่วยเรื่องการเข้าถึงสภาพคล่อง ไม่ให้อัตราเงินเฟ้อของไทยสูงไปมากกว่านี้ หากไม่สามารถบริหารจัดการได้ อาจส่งผลทำให้เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่า 3% นำไปสู่ภาวะ Stagflation หรือสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวได้ รวมถึงการที่ ครม.ได้อนุมัติให้มีการขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% ควรเร่งรัดนำเม็ดเงินดังกล่าวมาใช้เพื่อประคองเศรษฐกิจของประเทศ"
 
จี้ช่วยเหลือภาคผลิต-ประชาชน :
 
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทยและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นเวลานี้ ภาครัฐควรมีมาตรการเพื่อช่วยเหลือภาคเอกชนรับมือกับความท้าทายต่างๆ เช่น มาตรการบรรเทาผลกระทบแก่ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยเฉพาะด้านต้นทุนการผลิต มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพและการจ้างงานของประชาชน ตลอดจนมาตรการที่เสริมสร้างแรงส่งให้กับโมเมนตัมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไม่ให้สะดุดลงได้
 
ขณะที่ระยะกลางถึงระยะยาวนั้น ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการมุ่งสู่ green economy ตอบโจทย์ตามเป้าหมายของประเทศที่ประกาศไว้ใน COP 26 ทำให้เกิดความเชื่อมั่น เกิดการลงทุน นำไปสู่การจ้างงาน และเกิดการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ กระบวนการผลิตและการลงทุนจะสามารถเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลได้ ตอบโจทย์เรื่อง ESG และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ
 
รวมถึงต้องเร่งการลดการพึ่งพา Demand ที่ใดที่หนึ่งที่มากเกินไป จากที่ระบบเศรษฐกิจไทยที่ยึดโยงกับภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน และการพึ่งพาภาคส่งออกค่อนข้างสูง ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงจากปัญหาการกระจุกตัวได้ ต้องหันมากระจายตลาดสู่นักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ ๆ เน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ เช่น Medical tourism และการยกระดับภาคการท่องเที่ยวไทยโดยอาศัยดิจิทัลเทคโนโลยี เป็นสิ่งที่ภาครัฐควรผลักดันอย่างจริงจัง
 
ตั้งกองทุนฯดึงสตาร์ทอัพ :
 
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ เป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต ทุกประทั่วโลกได้ใช้เงินจนหมดหน้าตัก หนี้ของรัฐบาลและหนี้ของเอกชนทั่วโลกที่ขณะนี้รวมกันแล้วพุ่งสูงกว่า 300 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากมีการขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้ออย่างแน่นอน
 
ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานเมื่อหักราคาพลังงานและอาหารสดออก พบว่ากว่า 94% มีการปรับขึ้นราคา รวมถึงค่าเช่าบ้าน และเฮลท์แคร์ สิ่งเหล่านี้เมื่อราคาปรับขึ้นแล้วจะไม่มีการปรับลง จึงทำให้การแก้ปัญหายิ่งยาก
 
ทั้งนี้ อยากจะฝากไปถึงรัฐบาล ให้เร่งผลักดัน และใช้โอกาสของตลาดทุนไทยในขณะนี้ ที่มีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้ามาจำนวนมาก ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนาดเล็ก และสตาร์ทอัพไทย ได้เข้ามาระดมทุน ซึ่งทางสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ได้ส่งแผนพัฒนาตลาดทุนไทยไปยังรัฐบาลแล้ว จึงอยากให้รัฐบาลเร่งพิจารณาว่าเห็นด้วยหรือไม่ เพื่อเร่งดำเนินการและร่วมผลักดันแผนให้เกิดเป็นรูปธรรม เช่น การตั้งกองทุนเพื่อดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนใน SME หรือ สตาร์ทอัพไทย เป็นต้น
 
ส่วนอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงมาจากราคาพลังงาน การขึ้นดอกเบี้ยไม่ช่วยทำให้ราคาพลังงานปรับลดลงได้ และการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ด้วยการตรึงราคาหรืออุดหนุนราคาพลังงานนั้น รัฐบาลมาถูกทางแล้ว หากปรับขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นการซ้ำเติมได้
 
 
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 27-30 มีนาคม 2565
 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)