โควิดวันนี้โอมิครอนสายพันธุ์ BA.2 ติดเชื้อง่ายไหม รุนแรงหรือไม่ อ่านเลย

โควิดวันนี้โอมิครอนสายพันธุ์ BA.2 ติดเชื้อง่ายไหม รุนแรงหรือไม่ อ่านเลย หมอธีระสรุปความรู้และอัพเดตงานวิจัยเกี่ยวกับสายพันธุ์ BA.2
 
โอมิครอน (Omicron) สายพันธุ์ BA.2 เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ย่อยของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน โดยมีการพบครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 พฤษจิกายน 2564 และมีการระบาดในหลายประเทศ อาทิ อังกฤษ เดนมาร์ก อินเดีย เยอรมนี สวีเดน รวมถึงประเทศไทยในปัจจุบัน
 
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า 
 
28 มีนาคม 2565 ทะลุ 481 ล้าน
 
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 989,476 คน ตายเพิ่ม 2,324 คน รวมแล้วติดไปรวม 481,859,155 คน เสียชีวิตรวม 6,147,878 คน
 
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส เวียดนาม เยอรมัน และอิตาลี
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก
 
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็น 90.85% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 82.22%
การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็น 56.48% ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็น 47.46%
 
สถานการณ์ระบาดของไทย
 
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย
 
ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก
 
อัพเดตงานวิจัยเกี่ยวกับสายพันธุ์ BA.2
 
Lentini A และคณะ ได้เผยแพร่ผลการศึกษาในประเทศสวีเดน ใน medRxiv เมื่อวานนี้ 27 มีนาคม 2565
 
พบว่า คนที่ติดเชื้อ Omicron สายพันธุ์ BA.2 นั้นจะมีปริมาณไวรัสในช่องคอ มากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมอย่าง BA.1 ถึง 2 เท่า
 
นั่นจึงเป็นหลักฐานอธิบายปรากฏการณ์ที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญการกลับมาระบาดซ้ำมากขึ้นของ Omicron BA.2 ซึ่งตอนนี้เป็นสายพันธุ์หลักไปแล้ว 
 
ยิ่งปริมาณไวรัสเยอะ ยิ่งมีโอกาสแพร่ได้มาก ทั้งนี้ผลการศึกษาของสวีเดนนี้ชี้ให้เห็นปริมาณไวรัสในช่องคอ ซึ่งเป็นทางเดินหายใจส่วนบน จึงทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ง่าย ไม่ว่าจะจากการพบปะพูดคุยคลุกคลีใกล้ชิด หรือแชร์ของกินและอุปกรณ์ภาชนะที่ใช้กินดื่ม รวมถึงบุหรี่และอื่นๆ
 
ในขณะเดียวกัน ทาง UK HSA ก็ได้ออกตารางสรุปเกี่ยวกับความรู้ที่มีขณะนี้เรื่องสายพันธุ์ BA.2 ดังนี้
 
* สามารถจับกับตัวรับ ACE2 บนผิวเซลล์ได้ดีกว่า BA.1 ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะอธิบายสมรรถนะการติดเชื้อแพร่เชื้อที่มากกว่าเดิม
 
* อัตราการติดเชื้อไปยังผู้อื่น (secondary attack rate) สูงกว่า BA.1
 
* ระยะเวลานับจากวันแรกที่คนที่ติดเชื้อคนแรกมีอาการ ไปยังคนที่รับเชื้อมีอาการ (serial interval) สั้นกว่า BA.1
 
แม้ขณะนี้ข้อมูลเท่าที่มี จะมีแนวโน้มว่า BA.2 มีความรุนแรงไม่ต่างจาก BA.1 แต่ด้วยสมรรถนะการแพร่เชื้อติดเชื้อที่มากขึ้นกว่าเดิม จำนวนเคสที่มากขึ้นก็จะส่งผลต่อจำนวนการป่วยหรือเสียชีวิตที่อาจมากขึ้นได้
 
การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ เป็นกิจวัตร จึงสำคัญมาก
 
ไทยเราตอนนี้ BA.2 ก็เป็นตัวหลักเช่นกัน และสถิติติดเชื้อรายวันและเสียชีวิตรายวันก็ติดอันดับโลกมาตลอด
 
ใส่หน้ากาก พบปะคนเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น หากไม่สบาย ควรแจ้งคนใกล้ชิด แยกจากผู้อื่น และหยุดเรียนหยุดงาน ไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน
 
ส่วนคนที่เคยติดเชื้อมาก่อน ก็สามารถติดเชื้อซ้ำได้ ดังนั้นจึงต้องป้องกันตัวด้วย
 
นอกจากนี้ยังควรหมั่นตรวจเช็คสมรรถนะสุขภาพของตนเอง หากมีอะไรที่ผิดปกติต่างไปจากอดีต ควรปรึกษาแพทย์ เพราะมีโอกาสเป็น Long COVID ได้ โดยที่เกิดได้แทบทุกระบบของร่างกาย
 
ที่มา กรุงทพธุรกิจ
วันที่ 28 มีนาคม 2565   

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)