"สทท." ชี้จุดรอดท่องเที่ยวไทย ทัวริสต์ต่างชาติปี 65 ต้องถึง 16 ล้านคน!

“สทท.” มั่นใจปีนี้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลับมาเป็นเครื่องยนต์กระตุ้นเศรษฐกิจ ขับเคลื่อน GDP ของประเทศ ย้ำทางรอดท่องเที่ยวไทยต้องมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 16 ล้านคน หนุนสร้างรายได้รวม 1.2 ล้านล้านบาท เสนอรัฐเร่งปลดล็อกเงื่อนไขเข้าประเทศ ยกเลิกตรวจ RT-PCR และไทยแลนด์พาส
 
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย แถลงดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทย ไตรมาส 1/2565 เท่ากับ 44 สะท้อนสถานการณ์การท่องเที่ยวที่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมากที่สุด  แม้ว่าจะดีกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ยังต่ำกว่าไตรมาสที่ผ่านมาเล็กน้อย ทั้งนี้เป็นผลมาจากการระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ยังคงระบาดในไตรมาสนี้
 
นอกจากนี้ปัจจัยจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นเกือบ 40% ทำให้ต้นทุนในการเดินทางเพิ่มขึ้น ส่งผลต่ออารมณ์ในการจับจ่ายและการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศชะลอตัวลงในปลายไตรมาสนี้
ไตรมาสนี้ 89% ของสถานประกอบการมีการเปิดให้บริการ สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการกลับมาดำเนินกิจการใกล้เคียงภาวะปกติแล้ว แต่จำนวนนักท่องเที่ยวยังเข้ามาไม่มาก โดยเริ่มมีการลดพนักงานและคาดว่าในไตรมาสหน้าจะลดพนักงานเพิ่มขึ้นอีกหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ขณะที่ธุรกิจโรงแรมที่พัก เปิดทำการปกติ 88% มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 30% โดย 95% ของธุรกิจโรงแรมที่พักมีรายได้เข้ามาไม่ถึงครึ่งของสถานการณ์ปกติ เนื่องจากจำนวนของนักท่องเที่ยวยังต่ำกว่าที่คาดหวังไว้ ส่วนใหญ่เรียกร้องให้มีการยกเลิกมาตรการ RT-PCR ในการเดินทางเข้าประเทศ
 
นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลกมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเทศท่องเที่ยวทั้งในภูมิภาคยุโรป อเมริกาและเอเชีย มีนโยบายเปิดประเทศต้อนรับชาวต่างชาติแล้ว ทุกประเทศใช้นโยบาย Ease-of-Traveling ผ่อนคลายมาตรการเข้า-ออกประเทศจนเกือบจะกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งก็รวมถึงประเทศไทยที่ ศบค. มีมติให้ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง
 
ทำให้ สทท. เชื่อมั่นว่าการท่องเที่ยวของไทยจะพลิกฟื้นและกลับมาเป็นเครื่องจักรสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ 20% ของ GDP ประเทศ สร้างงานให้คน 7.5 ล้านคนได้อีกครั้ง และที่สำคัญคือ ท่องเที่ยวเป็นกลไกที่จะแก้ปัญหาความยากจนได้เร็วและลึกที่สุด เพราะ Supply Chain ของท่องเที่ยวนั้นกว้างและลึก สามารถกระจายรายได้ตั้งแต่ผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง เกษตร อาหาร สุขภาพ ไปจนถึง SME และชุมชนในท้องถิ่น  ดังนั้นหากภาคท่องเที่ยวกลับมา ความเป็นอยู่ของคนไทยก็จะดีขึ้นได้ทันที
 
พร้อมย้ำว่า เราจะต้อง Re-Design การท่องเที่ยวไทยให้ยั่งยืน โดยสร้างสมดุลใน 3 มิติ คือ สมดุลด้านการตลาด (Demand-Supply) สมดุลด้านสินค้า (Natural-Manmade) และสมดุลเชิงพื้นที่ (City-Community)
 
สำหรับสมดุลด้านการตลาด :
คือ การสร้างโอกาสทางการตลาดให้เพียงพอที่จะรักษาห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ภาคการท่องเที่ยวให้อยู่รอด รักษาการจ้างงานให้ได้ แล้วมาพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน หากถามว่าจำนวนนักท่องเที่ยวเท่าใด รายได้เท่าใด ภาคการท่องเที่ยวถึงจะอยู่ได้ คำตอบคือ 40% ของปี 2019 ที่ผ่านมาประเทศไทยลงทุนสร้าง Supply Chain รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ 40 ล้านคน นักท่องเที่ยวไทย 166 ล้านคน-ครั้ง รายได้รวม 3 ล้านล้านบาท  เป้าหมายของ สทท. คือ ผลักดันให้เกิด Demand ให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 16 ล้านคน คนไทยเที่ยวไทย 75 ล้านคน-ครั้ง เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวม 1.2 ล้านล้านบาทให้ได้ และรายได้นี้จะก่อให้เกิดการจ้างงาน และจ่ายภาษีเป็นแสนล้านบาท 
 
การสร้างสมดุลที่ 2 :
คือ การเพิ่ม Man-made ลดการพึ่งพาและทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ช่วงโควิด-19 ธรรมชาติกลับมาสมบูรณ์ขึ้น เราต้องรักษาไว้โดยหันมาโฟกัสการท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มที่มนุษย์เป็นผู้สร้างและบริการ เช่น กลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กลุ่มท่องเที่ยวเชิงกีฬา กลุ่มท่องเที่ยวเชิงอาหาร, กลุ่มท่องเที่ยวเพื่อธุรกิจและ MICE กลุ่มสายศรัทธา ฯลฯ เป็นต้น และที่สำคัญคือ กลุ่มการท่องเที่ยวชุมชนและกลุ่มท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบที่สอดรับกับนโยบาย BCG Model ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติด้วย
 
และสมดุลที่ 3 :
คือ สมดุลเชิงพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาเราประสบปัญหา Over Tourism ในแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง แต่แหล่งท่องเที่ยวอีกจำนวนมาก ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าถึงมากนัก โดย สทท. จะใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี SMART Tourism เข้ามาช่วยผู้ประกอบการสร้างสินค้าที่ตอบโจทย์ สร้างการเล่าเรื่อง สร้างโอกาสทางการตลาด กับแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ผ่านทั้งโลกออนไลน์ ออฟไลน์และโลก Metaverse เพื่อกระจายโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ ลดปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม และสร้างความยั่งยืนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและ SDGs ” นายชำนาญกล่าว
 
นายกิตติ พรศิวะกิจ ประธานคณะอนุกรรมการ Smart Tourism สทท. กล่าวว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ฟังเสียงนักท่องเที่ยว ฟังเสียงผู้ประกอบการ และนำมาทำแผนปฏิบัติการเชิงรุก ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้  
 
1.)Ease-of-Traveling ยกเลิก Thailand Pass ยกเลิกการตรวจ RT-PCR (Day 0) เมื่อเดินทางถึงประเทศไทย โดยอาจยังคงมีการตรวจ ATK ไว้ 1 ครั้ง
 
2)จัดตั้งกองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อพัฒนา Supply-side เตรียมความพร้อมทั้งด้านบุคลากร เทคโนโลยีการตลาด และสินค้า-บริการให้ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวยุคใหม่ ที่มีความสนใจเฉพาะมากขึ้น และเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจยังเดินต่อไปได้
 
3)การส่งเสริมการตลาดเชิงลึก ในทุกมิติ ทุก Customer Journey โฟกัสกลุ่มเป้าหมายที่ลึกขึ้น เช่น การเจาะลึกตามชาติ วัย และความสนใจ และสร้าง Digital Media ให้ตรงตามกลุ่มเป้าหมายนั้น ๆ เพราะในยุคนี้ นักท่องเที่ยวที่สนใจบริการแบบเดียวกัน หากต่างภาษา ต่างวัย เราก็จำเป็นต้องมีการนำเสนออัตลักษณ์ ( Signature ) สร้างเรื่องเล่า ( Story ) และใช้เครื่องมือสื่อสารที่ไม่เหมือนกัน 
 
ดังนั้น สทท. ได้รวบรวมคนทำงานในหลายมิติ  มาทำงานร่วมกัน มา Collaborate เพื่อเดินหน้าไปพร้อมกัน เช่น คณะทำงาน Metaverse Tourism / คณะทำงาน Halal Tourism / คณะทำงาน Smart Wellness ได้ทำงานร่วมกันเพื่อสร้าง Halal Wellness Virtual Event เป็นต้น  
 
นอกจากนี้ สทท. มองเห็นความจำเป็นของการเพิ่มงบประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการตลาดให้กับหน่วยงานรัฐต่าง ๆ เช่น ททท. สสปน. อพท. เพราะช่วงเวลานี้คือโอกาสที่ดีในการแย่งชิงโอกาสทางการตลาดและสร้างให้ประเทศไทยกลับมาเป็นผู้นำการท่องเที่ยวของโลกได้อีกครั้ง 
 
โดยหากเรายังเดินหน้าการตลาดและนโยบายการเปิดประเทศแบบไม่เต็มตัว เราจะพลาดโอกาสทอง ที่ประเทศอย่าง ตุรกี ยูเออี มัลดีฟส์ ได้รับนักท่องเที่ยวในอัตรา 50-78% ตั้งแต่ปีที่แล้วในขณะที่ประเทศไทย เรามีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพียง 1% เท่านั้น ซึ่งหากภาครัฐมีการปรับนโยบายการส่งเสริมด้านท่องเที่ยวเป็นเชิงรุกเต็มตัวตามข้อเสนอ จะมีโอกาสเพิ่มรายได้การท่องเที่ยวของปี 2565 นี้จากที่ตั้งเป้าไว้เพียง 520,000 ล้านบาท เป็น 1.2 ล้านล้านบาทได้ ซึ่งรายได้ส่วนที่เพิ่มได้อีก 680,000 ล้านบาทนี้จะกระจายไปถึงคนตัวเล็กอย่างแท้จริง 
 
ที่มา กรุงทพธุรกิจ
วันที่ 29 มีนาคม 2565    

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)