"EU" ยอมรับสงครามยูเครนถ่วงเศรษฐกิจกลุ่มสหภาพยุโรปโตช้า แต่มั่นใจไม่รุนแรงถึงขั้นถดถอย
เปาโล เจนติโลนี (Paolo Gentiloni) คณะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจและการจัดเก็บภาษีแห่งสหภาพยุโรป (EU) แสดงความเห็นในฐานะผู้ดูแลประเด็นด้านเศรษฐกิจโดยรวมของ EU ระบุว่า สงครามความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซียที่ยืดเยื้อลากยาวมานานกว่า 1 เดือนนี้ จะส่งผลให้การขยายตัวเติบโตทางเศรษฐกิจของ EU ในปีนี้ชะลอตัวลงกว่าเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่าจะสามารถขยายตัวโตได้ถึง 4%
เจนติโลนีกล่าวว่า วิกฤตสงครามยูเครนจะฉุดรั้งไม่ให้เศรษฐกิจอียูขยายตัวได้ ดังนั้นตัวเลขการเติบโตของภูมิภาคในปี 2022 ซึ่งมีขึ้นก่อนวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่รัสเซียบุกยูเครนนี้ จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาทบทวน
อย่างไรก็ตาม แม้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของ EU จะมีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่เจนติโลนีมั่นใจว่า เศรษฐกิจโดยรวมจะไม่เคลื่อนเข้าสู่ภาวะถดถอยแน่นอน
ขณะเดียวกัน ในมุมมองของเจนติโลนี แนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจของ EU จะขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก
ปัจจัยแรก คือระยะเวลาของสงครามยูเครน
ปัจจัยที่สอง คือมาตรการคว่ำบาตรที่กระทบอุตสาหกรรมพลังงานรัสเซียจะลุกลามไปยังอุตสาหกรรมอื่นมากน้อยแค่ไหน
ปัจจัยที่สาม คือวิกฤตยูเครนจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของบรรดานักลงและผู้บริโภคในตลาดอย่างไรบ้าง
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจทั้งหมดของ 19 ชาติสมาชิก EU เคลื่อนไหวเข้าสู่แดนลบ เจนติโลนีกล่าวว่า เป็นการดีกว่าที่จะออกมาเตือนและเน้นย้ำกับผู้คนถึงสถานการณ์เศรษฐกิจที่มีโอกาสชะลอตัวลง แต่ไม่มีทางก้าวเข้าสู่ภาวะถดถอยแน่นอน ดังนั้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของ EU จึงยังดีอยู่ เพียงแต่ว่าอาจจะล่าช้ากว่าที่คาดการณ์กันไว้ในตอนแรก
ขณะเดียวกัน สำนักข่าว Kyodo ได้เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของบริษัทญี่ปุ่นที่มีฐานการดำเนินการอยู่ในต่างประเทศ ซึ่งจัดทำโดย Pasona Group บริษัทหางานชั้นนำแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น พบว่า 55% ของบริษัทญี่ปุ่นที่มีฐานการปฏิบัติการอยู่ในต่างประเทศ ยอมรับบริษัทของตนได้รับผลกระทบจากสงครามยูเครน
ทั้งนี้ ในบรรดาบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นจำนวน 699 แห่งใน 10 ประเทศที่เข้าร่วมตอบแบบสอบถาม บริษัทญี่ปุ่นที่มีฐานอยู่ในฝรั่งเศสเห็นว่าบริษัทของตนได้รับผลกระทบจากสงครามยูเครนสูงถึง 92.3% ตามด้วย มาเลเซียที่ 72.0% และสิงคโปร์ที่ 66.7%
นอกจากนี้ ในจำนวน 55% ของบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตหรือดำเนินการในต่างประเทศ 43.2% ยอมรับว่ารู้สึกถึงผลกระทบของสงครามและเร่งมือเตรียมความพร้อมรับความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ขณะที่ 22.7% คาดว่าจะเริ่มดำเนินการภายในเดือนเมษายนนี้ และอีก 26.8% มีแผนที่จะเคลื่อนไหวภายใน 3 เดือนข้างหน้า
สำหรับสาเหตุสำคัญที่ทำให้บริษัทญี่ปุ่นในต่างแดนรู้สึกว่าได้รับกระทบคือ ราคาพลังงาน และต้นทุบวัตถุดิบในการผลิต เช่น สารเคมีและแร่โลหะที่พร้อมใจปรับตัวขึ้น อีกทั้งยังมีต้นทุนค่าขนส่งโลจิสติกส์และพลังงงานอื่นๆ ที่นอกเหนือจากน้ำมัน
ที่มา the standard
วันที่ 5 เมษายน 2565