"ไข้เลือดออก" กับ "โควิด-19" ต่างกันตรงไหน
ขณะที่ “โควิด-19” ระบาดหนัก จนทำให้หลายคนวิตกจริตว่า อาการที่เกิดขึ้นเป็นโควิด-19 หรือไม่
ทั้งไข้สูง ปวดหัว ปวดเมื่อย ไอ มีเสมหะ
แต่อาการเหล่านี้อาจไม่ใช่ “โควิด-19” ก็เป็นได้
หากเป็นแค่ไข้หวัดธรรมดา ก็ถือว่าโชคดีไป แต่หากเป็นอาการเบื้องต้นของ “ไข้เลือดออก” อาจจะส่งผลต่อผู้ป่วยก็เป็นได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที
นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ จึงออกมาให้ความรู้ถึงข้อแตกต่างระหว่าง “ไข้เลือดออก” และ “โควิด-19” ว่า ผู้ป่วยโควิด 19 “โอไมครอน” ในบางรายอาจมีอาการคล้ายกับโรคไข้เลือดออก โดยเฉพาะอาจมีไข้สูง อาเจียน หรือท้องเสียได้ สิ่งที่ต้องกระทำคือการตรวจสอบประวัติการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยโควิดในระยะ 7 - 10 วัน และการทำ ATK ด้วยตนเอง จะช่วยคัดกรองแยกโรคได้
หากเป็นกรณีที่แยกไม่ได้ จำเป็นต้องตรวจเลือด เช่น การหาค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (complete blood count) และการตรวจหาโปรตีนเอ็น เอส-หนึ่ง ของไวรัสไข้เลือดออก โดยเฉพาะในช่วง 3 วันแรกของไข้ จะช่วยวินิจฉัยโรคไข้เลือดออก
สัญญาณอันตรายที่น่าสงสัยว่า เป็นไข้เลือดออกในระยะวิกฤตและมีโอกาสเข้าสู่ภาวะช็อก ได้แก่ ปวดท้องรุนแรง กระสับกระส่าย หรือร้องงอแงผิดปกติในทารก มือเท้าเย็น ปัสสาวะออกน้อยลง ต้องนำส่งโรงพยาบาลทันที
ในรายที่มีไข้สูง 2-3 วัน โดยไม่มีอาการไอ น้ำมูกที่ชัดเจน ควรพาไปตรวจที่โรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์วินิจฉัย หรือส่งตรวจเลือดเพื่อเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออก ก่อนจะเข้าสู่ระยะวิกฤตได้ ด้านการรักษาไข้เลือดออกปัจจุบันยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัส
สำหรับ “โรคไข้เลือดออก” การรักษาจึงเป็นไปตามอาการ มีไข้ให้เช็ดตัวและรับประทานยาพาราเซตามอลลดไข้เท่านั้น ห้ามใช้แอสไพรินไอบูโพรเฟน ถ้าผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อย อาจให้ดื่มนม น้ำผลไม้ หรือน้ำเกลือแร่ร่วมด้วย
“โควิด 19” หากอาการไม่รุนแรง จะรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เมื่อมีไข้หรือปวดศีรษะ ให้ทานยาลดไข้ ส่วนใหญ่จะมีอาการไข้ไม่เกิน 2 - 3 วัน จะค่อยๆ ดีขึ้น
หากมีน้ำมูก ให้ทานยาลดน้ำมูกเท่าที่จำเป็น หรือถ้าน้ำมูกข้นเขียว ในเด็กโตสามารถล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ หากมีอาการไอให้รับประทานยาแก้ไอตามอาการ และจิบน้ำอุ่นบ่อยๆ
หากไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส หายใจหอบเร็วกว่าปกติ หน้าอกบุ๋ม ปีกจมูกบาน ตอนหายใจ ปากเขียว ระดับออกซิเจนปลายนิ้วน้อยกว่า 94% ซึมลง งอแง ไม่ดูดนม ไม่กินอาหาร ถ่ายเหลว หรืออาเจียนมากต่อเนื่องกัน ควรรีบนำเด็กไปโรงพยาบาลตามสิทธิ์หรือ โรงพยาบาลในเขตพื้นที่รับผิดชอบ
ลองสังเกตอาการให้ดี หากไม่แน่ใจควรรีบพบแพทย์โดยเร็วจะดีกว่า ...
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 10 เมษายน 2565