“ประธานหอค้าไทย” เปิดปัจจัยฟื้น-เผาเศรษฐกิจ ประเมินไตรมาส 2 ภาพยังสวย
เมื่อวันที่ 14 เมษายน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดมุมมองต่อเศรษฐกิจไตรมาส 2 และครึ่งปีหลัง ว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ยังมีความไม่แน่นอนสูง มีปัจจัยที่อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้ตลอดเวลา ยังต้องจับตาดูทิศทางอย่างใกล้ชิด ซึ่งสถานการณ์โควิดยังมีความเสี่ยง ต้องติดตามตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในช่วงหลังสงกรานต์นี้ ว่าจะมีเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน เพราะสิ่งนี้จะเป็นตัวบ่งชี้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป
เช่น ปริมาณการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน มาตรการควบคุมจากภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้นหรือผ่อนคลาย เป็นต้น
โดยหอการค้าไทยยังเชื่อว่า เรายังสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ แม้ว่าสายพันธุ์โอมิครอนจะติดง่าย แต่ก็ไม่ส่งผลรุนแรงมากนัก ด้านสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ยังคงไม่แน่นอนเช่นกัน คาดว่าจะยังมีมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจออกมาเป็นระยะ ส่งผลให้ราคาน้ำมันและวัตถุดิบหลายอย่างเพิ่มสูงขึ้น
แม้ว่าปัจจุบัน ราคาน้ำมันจะเริ่มผ่อนคลายขึ้น และคาดว่าจะไม่ส่งผลรุนแรง แต่ผู้ผลิตและผู้บริโภคก็ยังมีความกังวลต่อต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อได้
“คาดว่า เศรษฐกิจใน Q2 ต่อเนื่องไปจนถึงครึ่งปีหลัง จะมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยคาดหวังว่ารัฐบาลจะเร่งประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นโดยเร็ว เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีในการจับจ่ายใช้สอย รวมทั้งมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เช่น มาตรการคนละครึ่ง เฟส 5 หรือมาตรการเราเที่ยวด้วยกัน สิ่งเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ” นายสนั่นกล่าว
นายสนั่นกล่าวว่า นอกจากนั้น หากมีเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่ม จะช่วยทำให้เศรษฐกิจเป็นบวกได้ โดยคาดว่า ทั้งปี 2565 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในกรอบ 2.5-4% ส่วนการส่งออก จะยังขยายตัวในกรอบ 3-5% แต่ยังต้องติดตามมาตรการบางอย่างที่จะเป็นตัวบั่นทอนการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย เช่น การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเต็มจำนวน รวมไปถึงข้อกำหนดใน พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) สิ่งเหล่านี้สร้างความกังวลให้กับประชาชนและผู้ประกอบการ และเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในช่วงเวลาที่มีปัญหาสภาพคล่อง
นายสนั่นยังกล่าวถึงปัจจัยเผาเศรษฐกิจ หรือปัจจัยฟื้นเศรษฐกิจนั้น
โดยเชื่อว่า เศรษฐกิจไทยมีทิศทางการฟื้นตัวมากกว่า โดยปัจจัยฟื้นเศรษฐกิจ ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.การเร่งประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีทางเศรษฐกิจ 2.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อสร้างแรงเหวี่ยงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ 3.สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของโลกไม่ถดถอย เพราะจะส่งผลกระทบหลายเรื่อง เช่น ราคาพลังงาน ราคาต้นทุนวัตถุดิบ ไปจนถึงการส่งออก
“ส่วนปัจจัยเผาเศรษฐกิจ ได้แก่ 1.เกิดสงคราม มีการสู้รบกัน ฉุดให้เศรษฐกิจทั่วโลกลดลง 2.สถานการณ์โควิดรุนแรงขึ้น ไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ 3.ปัจจัยเรื่อง Ease of traveling ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้นักท่องเที่ยวไม่กลับมาตามที่คาดการณ์ไว้”
นายสนั่นกล่าวต่อว่า ส่วนการจะฟื้นเศรษฐกิจ ในไตรมาส 2 และครึ่งหลังปี 2565 ใน 3 อันดับแรก รัฐควรทำอย่างไร นั้น
1)รัฐบาลต้องเร่งประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น เพื่อเร่งสร้างความเชื่อมั่น และปรับกระบวนการ ease of traveling ทั้งปรับมาใช้ ATK และยกเลิก thailand pass
2)มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และลดค่าใช้จ่ายประชาชน ออกมาเพิ่มเติม ทั้งนี้ ต้องพิจารณาเรื่องจำนวนเงินและช่วงเวลาที่เหมาะสมในการใช้มาตรการด้วย ซึ่งหากต้องมีการกู้เงินมาใช้ก็ต้องเตรียมตัวล่วงหน้า
3)ดูแลราคาพลังงาน เพราะถือเป็นต้นทุนที่สำคัญของประชาชนและผู้ประกอบการ เพราะจะกระทบต่อสินค้าราคาแพงในระยะต่อไป
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 14 เมษายน 2565