ส.อ.ท. มองจีนล็อกดาวน์คุมโควิดไม่กระทบกลุ่มยานยนต์ไทย แต่ห่วงส่งออกผลไม้สะดุดจากปัญหาโลจิสติกส์ โดยเฉพาะทุเรียน

ส.อ.ท. ประเมินจีนล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้กระทบอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยไม่มาก ยังคงเป้าผลิตรถยนต์ปีนี้ไว้ที่ 1.8 ล้านคัน แต่ห่วงส่งออกผลไม้สะดุดจากการขนส่งที่ล่าช้า มอง ‘เงินเยนอ่อน’ ไม่กระทบแผนลงทุนไทยของธุรกิจญี่ปุ่น 
 
สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การประกาศล็อกดาวน์นครเซี่ยงไฮ้และพื้นที่โดยรอบซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมยานยนต์และอีกหลายอุตสาหกรรมของจีนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด ในขณะนี้ยังมีผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานในประเทศไทยไม่มากนัก โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ยังคงจำกัดอยู่ในกลุ่มอาหารและผลไม้ที่มีการส่งออกไปจีน รวมถึงผู้ผลิตสินค้าที่มีการนำเข้าวัตถุดิบจากจีน
 
ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ที่หลายภาคส่วนมีความกังวลว่าอาจได้รับผลกระทบจนมีผลต่อการส่งออกในภาพรวมนั้น ปัจจุบันยังได้รับผลกระทบน้อยมาก เนื่องจากการผลิตและประกอบรถยนต์ในไทยมีซัพพลายเชนเป็นของตัวเองและพึ่งพาจีนค่อนข้างน้อย ขณะที่การนำเข้าชิ้นส่วนต่างๆ จะมาจากฝั่งยุโรปและญี่ปุ่นเป็นหลัก
 
“กลุ่มยานยนต์ที่ได้รับผลกระทบอาจจะเป็นพวกรถยนต์แบรนด์จีนต่างๆ ที่ใช้ชิ้นส่วนจากจีน การเปิดตัวรถยนต์ EV รุ่นใหม่ๆในปีนี้อาจล่าช้าออกไปบ้างจากการที่ปัญหาขาดแคลนชิปคอมพิวเตอร์ถูกซ้ำเติมด้วยการล็อกดาวน์” สุพันธุ์กล่าว
 
สุพันธุ์กล่าวว่า ขณะนี้ ส.อ.ท. ยังเชื่อว่าจีนจะไม่ตัดสินใจล็อกดาวน์ยาวนานจนส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคการผลิต โดยมีความเป็นไปได้ที่การล็อกดาวน์จะถูกยกเลิกในสัปดาห์หน้าทำให้ ส.อ.ท. ยังคงเป้าหมายการผลิตรถยนต์ของไทยในปีนี้ไว้ที่ 1.8 ล้านคัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 1 ล้านคัน
 
“การสำรวจของเรายังพบว่าธุรกิจที่มีการนำเข้าวัตถุดิบจากจีนส่วนใหญ่ยังมีสต๊อกเพียงพออยู่ได้อีก 30-60 วัน ซึ่งจีนคงไม่ล็อกดาวน์ไปยาวนานขนาดนั้น ทำให้กลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบไม่มาก แต่กลุ่มที่กระทบรุนแรงหน่อยคือผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียนที่มีตลาดหลักคือจีน การที่จีนคุมเข้มเรื่องโรคระบาดก็ทำให้การส่งออกทำได้ยากมากขึ้น” สุพันธ์ุกล่าว
 
สุพันธ์ุกล่าวว่า นโยบาย Zero COVID ของจีนในเวลานี้ทำให้ความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าผลไม้จากไทยที่ส่งออกเพื่อไปจีนเพิ่มสูงขึ้น ทั้งการฆ่าเชื้อทุกตู้คอนเทนเนอร์ การตรวจสอบศัตรูพืชกักกัน และการตรวจสอบการปนเปื้อนเชื้อโควิด ส่งผลให้ระยะเวลาการขนส่งจากเดิมใช้เวลาเพียง 3-5 วันต่อเที่ยว เพิ่มเป็น 10-15 วันต่อเที่ยว อีกทั้งความไม่แน่นอนในการเปิด-ปิดด่าน ทำให้เกิดความแออัดที่ด่านจำนวนมาก ซึ่งหากปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไขอาจทำให้ราคาสินค้าผลไม้ไทยตกต่ำได้
 
“ปัจจุบัน ส.อ.ท. ก็อยู่ระหว่างทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเพิ่มการตรวจเชื้อตั้งแต่ต้นทาง และผลักดันให้ภาครัฐไทยเร่งเจรจากับรัฐบาลจีนเพื่อให้การขนส่งสินค้าผลไม้ผ่านด่านต่างๆ ทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น” สุพันธุ์กล่าว
 
นอกจากนี้ ประธาน ส.อ.ท. ยังให้ความเห็นถึงกรณีค่าเงินเยนเทียบเงินบาทที่อ่อนค่าสูงสุดในรอบ 25 ปี ว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อไทยในภาพรวมมาก เนื่องจากภาคเอกชนไทยส่วนใหญ่ทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศในรูปสกุลเงินดอลลาร์ โดยมองว่าแม้การอ่อนค่าของเงินเยนอาจกระทบผู้ส่งออกบางส่วนแต่ในมุมกลับกันผู้ที่นำเข้าวัตถุดิบจากญี่ปุ่นก็จะได้ประโยชน์
 
“ธุรกิจญี่ปุ่นที่มีแผนจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอาจต้องใช้เงินมากขึ้น แต่เชื่อว่าแผนคงไม่ถูกชะลอออกไป เพราะนักลงทุนจะพิจารณาจากหลายปัจจัยก่อนตัดสินใจลงทุน เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษี โครงสร้างพื้นฐานและภูมิศาสตร์ ซึ่งไทยมีความได้เปรียบในภาวะที่ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกกำลังตึงเครียดในปัจจุบัน” สุพันธ์ุกล่าว
 
ที่มา the standard
วันที่ 20 เมษายน 2565 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)