นโยบาย "ซีโร่โควิด" จีน สะเทือนเศรษฐกิจโลก
เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2022 ทางการจีนประกาศตัวเลขเศรษฐกิจออกมา แสดงให้เห็นว่าในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ จีดีพีของจีนขยายตัวได้สูงกว่าที่คาดหมายกันไว้ คือ 4.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สูงกว่าที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์เชื่อกันว่าจีดีพีจีนในไตรมาสแรกน่าจะอยู่ที่ 4.4%
ผลผลิตทางอุตสาหกรรมในช่วงเดียวกันขยายตัว 5.0% แต่ยอดค้าปลีกลดลง 3.5%
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ตัวเลขจีดีพีที่ว่านี้ ยังไม่ครอบคลุมปัญหาใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นและดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องในประเทศจีนเวลานี้ นั่นคือ การระบาดครั้งใหญ่อีกครั้งของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลให้ทางการจีนต้อง “ล็อกดาวน์” ตามนโยบาย “ซีโร่โควิด” ครอบคลุมอาณาบริเวณกว้างขวางอย่างยิ่ง
“กาเวคัล” บริษัทวิจัยเพื่อการลงทุน ประเมินว่า ในบรรดาเมืองใหญ่ที่สุดที่จัดลำดับตามสถานะทางเศรษฐกิจของจีน 100 อันดับแรก มีอยู่ถึง 87 เมืองที่ตกอยู่ภายใต้ภาวะล็อกดาวน์เข้มงวดของจีน
ฝ่ายวิจัยของโนมูระ โฮลดิ้ง ประเมินไว้ว่า จำนวนประชากรที่ถูกล็อกดาวน์มีเกือบ 400 ล้านคน รวมกันคิดเป็นมูลค่าสูงถึงราว 40% ของจีดีพีมูลค่า 7.2 ล้านล้านดอลลาร์ของประเทศ
ที่ส่งผลสะเทือนหนักที่สุดคือการล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ เมืองที่มีประชากร 25 ล้านคน แต่เป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของจีน
ท่าเรือเซี่ยงไฮ้ ซึ่งตามสถิติของทางการเมื่อปี 2021 มีปริมาณการไหลเวียนของสินค้ากว่า 20% ของทราฟฟิกสินค้าทั้งหมดของจีน ตกอยู่ในสภาพชะงักงัน สินค้าเข้าจำพวกอาหารถูกปล่อยทิ้งไว้ให้เน่าเสียที่ท่าเรือ เพราะไม่มีแรงงานจะจัดการ
สินค้าที่เดินทางมาถึง ต้องค้างอยู่ที่ท่าเรือแห่งนี้โดยเฉลี่ยแล้ว 8 วัน ก่อนที่จะถูกส่งต่อไปยังจุดหมายปลายทาง อันเป็นระยะเวลาที่เพิ่มมากขึ้นจากก่อนหน้าการล็อกดาวน์ถึง 75%
สายการบินที่เคยให้บริการขนส่งสินค้า ยกเลิกเที่ยวบินขนส่งสินค้าทั้งขาเข้าและขาออกเซี่ยงไฮ้ไปทั้งหมด ขณะที่รถบรรทุกสินค้าที่เคยเข้าออกท่าเรือขวักไขว่ หยุดดำเนินการไปแล้วมากกว่า 90%
ในแง่ของการผลิต ตัวเลขของทางการแสดงให้เห็นว่าเมื่อปี 2021 เซี่ยงไฮ้ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 6% ของสินค้าส่งออกทั้งหมดของจีน ตอนนี้กำลังอยู่ในภาวะต้องปิดโรงงานทั้งในตัวเมืองและโรงงานรอบนอกเมืองทั้งหมด
ผู้ผลิตที่เป็นซัพพลายเออร์ของโซนี่ และแอปเปิล ที่เซี่ยงไฮ้ต้องปิดทำการทั้งหมด บริษัท ควอนต้า ซึ่งเป็นผู้ผลิตโน้ตบุ๊กตามสัญญาว่าจ้างรายใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นผู้ผลิตแม็กบุ๊ก ก็ต้องเลิกผลิตไปชั่วคราวเช่นเดียวกัน ทำให้ขีดความสามารถในการผลิตของบริษัทลดลงทันที 20%
แม้แต่เทสลา ก็ยังจำเป็นต้องปิดทำการ “เซี่ยงไฮ้ จิกะแฟกตอรี่” ทำให้กำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 2,000 คันต่อวันหายไปทันที
นักวิเคราะห์พากันสรุปว่า ด้วยสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในประเทศตอนนี้ บวกกับสงครามบุกยูเครนของรัสเซีย และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของกองทุนสำรองแห่งรัฐ (เฟด) หรือธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาที่จะเป็นตัวถ่วงดีมานด์ทั่วโลกให้ลดลง
โอกาสที่ในปีนี้จีนจะผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวได้ถึง 5.5% ซึ่งเป็นเป้าจีดีพีที่ต่ำที่สุดเท่าที่จีนเคยตั้งเป้ามาในรอบ 30 ปี ก็คงเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากทุกอย่างไม่กระเตื้องขึ้นในไตรมาส 2 นี้
เวิลด์แบงก์เองหั่นคาดการณ์จีดีพีของจีนในปีนี้ลงเหลือเพียง 4%
แต่ที่ยิ่งกว่านั้นก็คือ แม้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนจะสำคัญ แต่สถานการณ์ในจีนในเวลานี้ยังสามารถส่งผลสะเทือนต่อเนื่องไปยังเศรษฐกิจของทั้งโลกมหาศาลอีกด้วย
ทั้งในแง่ของห่วงโซ่การผลิตและในแง่ของที่ทำให้ดีมานด์สินค้าลดลงไปอีก
“ลู่ ถิง” หัวหน้าทีมวิเคราะห์ประจำจีนของโนมูระฯ เชื่อว่า ตลาดโลกยังประเมินผลกระทบของจีนต่ำ เพราะมุ่งความสนใจให้ความสำคัญกับการบุกยูเครนของรัสเซียและการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา
แต่ไมเคิล เฮอร์สัน นักวิเคราะห์ของยูเรเซีย กรุ๊ป เชื่อว่าปัญหาของจีนภายใต้สถานการณ์แวดล้อมเช่นนี้ อาจส่งผลถึงกับทำให้เกิดความผันผวนทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเพิ่มมากขึ้นได้ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 20 เมษายน 2565