"จีน" เพิ่มทุนกว่าร้อยล้านบาท เสริม "ไทย" สร้างเศรษฐกิจแม่โขง - ล้านช้าง
กองทุนพิเศษภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนไทย และฟื้นฟูเศรษฐกิจอนุภูมิภาคให้กลับมาเข้มแข็ง มีภูมิต้านทาน และเสริมสร้างการพัฒนาเต็มศักยภาพยุคหลังโควิด-19
ปีนี้กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง (MLC) ครบรอบ 6 ปี ถือเป็นกลไกระดับอนุภูมิภาคก้าวข้ามทศวรรษ สู่การสร้างชุมชนที่มีอนาคตแห่งสันติภาพ และเจริญรุ่งเรืองให้เกิดขึ้นริมสองฝั่งแม่น้ำสายนี้ที่มีความยาว 4,350 กิโลเมตร
“หาน จื้อเฉียง” เอกอัครราชทูตจีน ประจำประเทศไทย กล่าวในการเปิดโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง - ล้านช้าง ผ่านทางออนไลน์ว่า กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ได้ช่วยสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมให้กับประเทศสมาชิกในอนุภูมิภาค ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม และจีน รวมถึงยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนด้วย
หาน กล่าวว่า ประเทศสมาชิกทั้ง 6 ประเทศ มีความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรม และยั่งลึกในมิตรภาพที่สืบทอดกันมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งมีมุมมองต่อการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน และรักษาผลประโยชน์ด้านความมั่นคงร่วมกัน
"ไทย ประเทศผู้ริเริ่ม และมีความสำคัญต่อกลุ่มความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง
นับวันจะเป็นประเทศหุ้นส่วนที่มีบทบาทยิ่งขึ้น มาจนถึงขณะนี้ ประเทศไทยได้รับเงินทุนสนับสนุนเพื่อนำไปพัฒนาภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขงล้านช้างมากกว่า 10 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 300 ล้านบาท เพื่อนำใช้ในโครงการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ ที่ติดแม่น้ำโขงของไทยให้มีประสิทธิภาพ"ทูตจีน กล่าวว่า
เอกอัครราชทูตจีน เชื่อมั่นว่า โครงการนี้จะช่วยบ่มเพาะความสัมพันธ์จีน-ไทยให้งอกงามยิ่งขึ้นไป และเสริมสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้ภูมิภาคแห่งนี้ เพราะแม่น้ำโขงเปรียบได้เส้นเลือดใหญ่ที่เชื่อมต่อจีน ไทย และสมาชิก MLC อยู่ร่วมกันใกล้ชิด
ในระยะ 2-3 ปีนี้ เราได้จัดทำความร่วมมือในเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน เพื่อต่อสู้การแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งปัจจุบัน มีการบูรณาการด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคมและควบคุม โควิด-19 หวังยกระดับการพัฒนาครั้งใหม่ ที่เน้นการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนทั้งภายในประเทศ ควบคู่กับให้ความสำคัญเศรษฐกิจหมุนเวียนภายนอกประเทศที่เกื้อกูลต่อกัน สิ่งเหล่านี้จะเป็นโอกาสใหม่ให้กับกรอบความร่วมมือล้านช้างแม่โขงด้วย
จีนยินดีจะร่วมมือกับทุกหน่วยงานของไทยต่อไป รวมทั้งขับเคลื่อนโครงการความร่วมมือสายแถบและเส้นทาง (BRI) ให้สอดประสานกับยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (ACMECS) ที่เป็นรากฐานที่ดีต่อการสร้างประชาคมอาเซียน ตลอดจนการบรรลุเป้าหมายพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ปี 2030 (พ.ศ.2573)
กองทุนพิเศษแม่น้ำโขงนี้ จะนำไปใช้ในโครงการภายใต้กรอบความร่วมมือ MLC มุ่งเน้น 3 เสาหลัก ได้แก่ การเมืองความมั่นคง เศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน สังคมและวัฒนธรรม ส่วนความร่วมมือสาขาย่อยมี 5 ประเด็นสำคัญได้แก่ ความเชื่อมโยง ศักยภาพการผลิต ความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน ทรัพยากรน้ำ และการเกษตรและการลดความยากจน
“อรุณรุ่ง โพธิ์ทอง ฮัมฟรีย์ส” เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง และเจ้าหน้าที่อาวุโสของไทยในกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า ขอให้คำนิยามกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง คือ 5 มีได้แก่
(1)มีวิสัยทัศน์ (2)มีประสิทธิภาพ (3)มีส่วนร่วม
(4)มีพลัง (5)มีรูปธรรม
ซึ่งกองทุนพิเศษแม่โขง เป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ความร่วมมือนี้สามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างรวดเร็ว มาจนถึงปัจจุบันกองทุนดังกล่าวได้ให้การสนับสนุนทางด้านการเงินเพื่อการพัฒนาในอนุภูมิภาคมากกว่า 500 โครงการ ในจำนวนนี้ ไทยได้รับงบประมาณสนับสนุนจำนวน 41 โครงการ
บางโครงการมุ่งให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจ การค้าและการลงทุน ตลอดจนธุรกิจขนาดการและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ได้ปรับตัวให้เข้ากับยุคอี-คอมเมิร์ซ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายโครงการที่มุ่งให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและชาวประมง นำไปพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์น้ำ รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร อีกทั้งยังมีอีกหลายโครงการที่เน้นส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการฝึกอาชีพเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ริมฝั่งโขงได้หลุดพ้นจากความยากจน และพัฒนาทักษะคนรุ่นใหม่ให้ตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย และอนุภูมิภาค
ล่าสุด กองทุนฯได้ประกาศให้การสนับสนุนโครงการกับไทย เพิ่มอีก 13 โครงการให้กับ 5 หน่วยงานที่มีมูลค่ากว่า 4 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 120 ล้านบาท โดยเชื่อว่าโครงการดังกล่าว จะช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนไทยและมีส่วนช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคให้กลับมาเข้มแข็ง มีภูมิต้านทาน และเสริมสร้างการพัฒนาเต็มศักยภาพยุคหลัง โควิด-19
อรุณรุ่ง กล่าวด้วยว่า กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้ประสานงานหลักในภาพรวมของไทยในกรอบแม่โขง-ล้านช้าง รวมทั้งกรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอื่นๆ พร้อมร่วมมือกับประเทศสมาชิกได้ขับเคลื่อนความร่วมมือ และรับมือกับปัญหาความท้าทายข้ามพรมแดนแห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อให้อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่เปรียบเสมือน “บ้านของเรา” ได้อยู่ร่วมกันอย่างผาสุก เพราะเราดื่มน้ำจากลำน้ำเดียวกัน และเป็นครอบครัวเดียวกัน
“จุฬามณี ชาติสุวรรณ” รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นเครื่องเตือนใจให้รู้ว่าไม่มีประเทศใด สามารถรับมือกับความท้าทายที่ไร้พรมแดน และไม่มีประเทศใดแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือรับมือกับอาชญากรรมข้ามชาติได้เพียงประเทศเดียว และไม่มีประเทศใดร่ำรวยได้ โดยไม่เชื่อมโยง และไม่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่าโลก
เช่นเดียวกันโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ความไม่แน่นอน วิกฤติซ้อนวิกฤติครั้งแล้วครั้งเล่า ดังนั้น ประเทศในอนุภูมิภาคยิ่งจำเป็นต้องร่วมมือฟื้นฟูภูมิภาคให้กลับมามีศักยภาพเหมือนปกติ มีความปลอดภัย และใส่ใจในสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิม ที่สำคัญต้องเรียนรู้ใช้นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาแม่น้ำโขงให้มากขึ้นอีกหลายเท่า
ในตอนท้าย จุฬามณี กล่าวว่า กรอบความร่วมมือนี้ถือเป็นความท้าทาย ในการแข่งขันที่นำชัยชนะเพื่อความสร้างสรรค์ และทำประโยชน์ให้กับทุกประเทศ บนพื้นฐานของกฎกติกาความเท่าเทียม และความจริงใจ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันในอนุภูมิภาคแห่งนี้
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 22 เมษายน 2565