“พาณิชย์”เตรียมเปิดระบบFast Track จดสิทธิบัตร“สุขภาพ-อาหาร”เร่งด่วน
กรมทรัพย์สินทางปัญญาเตรียมทำระบบ Fast Track รับจดสิทธิบัตรแบบเร่งด่วน นำร่องสาขาการประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ อาหาร คาดเปิดตัวเดือนพ.ค.นี้ เผยล่าสุด มีคนไทยยื่นจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ป้องกันโควิด-19 แล้ว 225 คำขอ
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ กำลังจะจัดทำระบบยื่นขอรับจดสิทธิบัตรแบบเร่งด่วน (Fast Track) เพื่อรับจดสิทธิบัตรของคนไทยในสาขาการประดิษฐ์ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลด้านสาธารณสุขให้กับคนไทย และผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทย เช่น สาขาการแพทย์ การรักษา การดูแลสุขภาพ รวมถึงกลุ่มอาหาร ที่เป็นอุตสาหกรรมที่มีขีดความสามารถของไทย ซึ่งขณะนี้ กำลังจะกำหนดกฎ กติกา และเงื่อนไขการรับจด คาดว่าจะประกาศเปิดตัวได้ประมาณเดือนพ.ค.2565 นี้
“จะมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายนำร่องออกมาก่อน โดยเน้นสิ่งที่เป็นประโยชน์ด้านสาธารณสุข หรือกลุ่มสินค้าที่เป็นดาวรุ่งของไทย เพื่อให้ยื่นจดสิทธิบัตรแบบ Fast Track ได้ และจะมีการกำหนดเงื่อนไข คุณสมบัติแบบไหนถึงจะยื่นจดได้ เช่น มีการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์แล้ว มีการค้าขายแล้ว เป็นต้น เพื่อให้ได้รับจดสิทธิบัตรโดยเร็ว และได้รับการคุ้มครองโดยเร็ว”นายวุฒิไกรกล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบันการยื่นคำขอจดสิทธิบัตร จะใช้ระยะเวลานับตั้งแต่วันยื่นจดจนถึงวันได้รับจดสิทธิบัตรประมาณ 55 เดือน แต่การเข้าสู่ระบบการจดสิทธิบัตรแบบ Fast Track จะลดระยะเวลาลงครึ่งหนึ่ง เหลือประมาณ 24-36 เดือน เพราะจะมีการลดขั้นตอนต่าง ๆ ลง และจะได้รับการพิจารณาเป็นการเร่งด่วน
นายวุฒิไกรกล่าวว่า ปัจจุบันมีการยื่นขอรับสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรในการประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยผู้ขอรับสิทธิบัตรชาวไทย ตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 จนถึงวันที่ 22 เม.ย.2565 จำนวน 225 คำขอ แบ่งเป็นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ จำนวน 61 คำขอ และคำขอรับอนุสิทธิบัตร จำนวน 164 คำขอ จำแนกออกได้เป็น 8 กลุ่มการประดิษฐ์ และจากข้อมูลคำขอ 225 คำขอ แบ่งเป็นคำขอยื่นใหม่ และอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบจำนวน 178 คำขอ ได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตรแล้วจำนวน 47 คำขอ
สำหรับ 8 กลุ่มการประดิษฐ์ที่มีการยื่นคำขอจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร 225 คำขอ แยกเป็น 1.ยาต้านไวรัส จำนวน 11 คำขอ 2.วัคซีน จำนวน 7 คำขอ 3.สาร น้ำยา หรือเจลฆ่าเชื้อ จำนวน 17 คำขอ 4.ชุดตรวจ และกรรมวิธีการตรวจหาเชื้อ จำนวน 18 คำขอ 5.เครื่องช่วยป้องกันการติดเชื้อโรค เช่น หุ่นยนต์ขนส่งอาหารในโรงพยาบาล จำนวน 21 คำขอ 6.อุปกรณ์ป้องกันการแพร่เชื้อ เช่น หน้ากากอนามัย อุปกรณ์ป้องกันละอองฝอย (Face Shield) เป็นต้น จำนวน 69 คำขอ 7.เครื่องมือและอุปกรณ์ฆ่าเชื้อ เช่น ตู้อบฆ่าเชื้อ อุโมงค์หรืออุปกรณ์พ่นยาฆ่าเชื้อ เป็นต้น จำนวน 28 คำขอ และ 8.ผลิตภัณฑ์ และกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับสารสกัดจากฟ้าทะลายโจร จำนวน 54 คำขอ
ที่มา ผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 24 เมษายน 2565