ศบค.เผยไทยติดเชื้อโควิดลดฮวบ หลุดท็อป 20 ของโลกแล้ว
ศบค.เผยอันดับโควิดโลกของไทยดีขึ้น หลุดท็อป 20 ของโลกแล้ว หลังรั้งอันดับท็อป 10 อยู่นาน เหตุยอดผู้ป่วยรายใหม่ล่าสุดลดลงค่อนข้างมาก ขณะที่พื้นที่การเสียชีวิตในประเทศ “ภาคอีสาน”ยังมากสุด 4 จังหวัดนำโด่ง ส่วน 21 จังหวัดยอดติดเชื้อใหม่ยังสูง มีแค่ 12 จังหวัดที่แนวโน้มลดลง
วันที่ 25 เมษายน 2565 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์ การติดเชื้อ COVID-19 ประจำวันว่า สถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 มีผู้ป่วยรายใหม่ 14,994 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,957,433 ราย หายป่วยแล้ว 1,809,975 ราย เสียชีวิตสะสม 6,201 ราย โดยวันนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 124 ราย ร้อยละของการเสียชีวิตอยู่ที่ 0.32%
ส่วนข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 4,180,868 ราย หายป่วยแล้ว 3,978,469 ราย เสียชีวิตสะสม 27,899 ราย
ยอดติดเชื้อใหม่รายวันลดฮวบ :
สำหรับสถานการณ์โควิดในประเทศไทยในส่วนของผู้ติดเชื้อรายวัน ผู้ป่วยปอดอักเสบ ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ ผู้ป่วยปอดอักเสบ และผู้ป่วยเสียชีวิตพบว่า ตัวเลขในภาพรวมเฉลี่ย 14 วันย้อนหลังลดลงค่อนข้างมาก
โดยจากกราฟจะพบว่าผู้ติดเชื้อรายวันกราฟปักหัวลงชัดเจน ขณะที่ผู้ป่วยปอดอักเสบก็ลดลง ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจค่อนข้างทรงตัว เช่นเดียวกับผู้เสียชีวิตก็ลดลง แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับสูงเกินกว่า 100 ราย และยังคงสูงต่อเนื่องมา 16 วันแล้ว โดยก่อนหน้านี้ศบค.คาดว่าผู้ป่วยเสียชีวิตจากโควิดจะขึ้นไปอยู่ที่ระดับสูงสุด 250 ราย/วัน ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้
และสำหรับผู้เสียชีวิต 124 รายในวันนี้พบว่าอยู่ในกลุ่ม 608 หรือกลุ่มผู้สูงอายุและมีโรคเรื้อรังรวม 119 ราย หรือคิดเป็น 95.96% และมีผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนบูสเตอร์โดสจำนวน 116 ราย คิดเป็น 93.54%
ส่วนปัจจัยเสี่ยงยังมาจากโรคมะเร็ง โรคไต อ้วน หลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ ติดเตียง ติดเชื้อจากคนรู้จัก คนในครอบครัว และอาศัยอยู่ในพื้นที่ระบาด
“อีสาน” ยังเสียชีวิตมากสุด 4 จังหวัดนำโด่ง :
และเมื่อแยกตามพื้นที่ของผู้เสียชีวิตพบว่า พื้นที่ใน “ภาคอีสาน” มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดรวม 43 ราย โดย 4 จังหวัดได้แก่ อุบลราชธานี นครราชสีมา ศรีสะเกษ ขอนแก่น มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดจังหวัดละ 7 ราย
รองลงมาเป็นพื้นที่ในภาคกลางและภาคตะวันออกรวม 26 ราย โดยจังหวัดนครสวรรค์และกาญจนบุรีมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดจังหวัดละ 4 ราย ภาคเหนือรวม 21 ราย สุโขทัยมีผู้เสียชีวิตมากที่สุด 5 ราย ภาคใต้กับกรุงเทมหานครเท่ากัน 13 ราย และจังหวัดปริมณฑล 3 จังหวัดได้แก่สมุทรปราการ ปทุมธานี และนครปฐมรวม 8 ราย
ขณะที่อัตราการครองเตียงในภาพรวมของประเทศมีอัตราการครองเตียงระดับ 2-3 อยู่ที่ 24.5% มีจังหวัดกาญจนบุรีมีอัตราการครองเตียงสูงสุด 50.70% รองลงมาเป็น อุดรธานี 47.80%
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 25 เมษายน 2565