ครบรอบสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่น 135 ปี หนุนดึงการลงทุน BCG ในไทย

พาณิชย์ร่วมกับญี่ปุ่น เปิดงานสัมมนาเชิงนโยบาย “ความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้ามิติใหม่ ไทย – ญี่ปุ่น” ในโอกาสฉลอง 135 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – ญี่ปุ่น เดินหน้าหนุนการลงทุนเอเชีย-ญี่ปุ่นในอนาคต ส่งเสริมอุตสาหกรรม BCG 
 
วันที่ 9 พฤษภาคม 2565 นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยระหว่างเป็นประธานเปิดงานสัมมนาเชิงนโยบาย “ความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้ามิติใหม่ ไทย – ญี่ปุ่น” (High-Level Policy Dialogue Forum on Thailand – Japan’s New Dimension of Economic Cooperation) ในโอกาสฉลองครบรอบ 135 ปี ว่า
 
การจัดงานครั้งนี้ถือเป็นการฉลองครอบรอบความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (กระทรวงเมติ) สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และเจโทร กรุงเทพฯ โดยมีการเสวนาแลกเปลี่ยนแนวคิดเรื่องนโยบายและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกัน ในมิติใหม่ที่สอดรับกับสถานการณ์โลก เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
 
งานสัมมนานี้ มีผู้ร่วมเสวนาทั้งจากภาครัฐและเอกชนของไทยและญี่ปุ่นที่มากด้วยประสบการณ์ ร่วมนำเสนอแนวทางการสร้างความร่วมมือเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ในรูปแบบใหม่หลังวิกฤตโควิด-19 ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ การส่งเสริมผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ข้อริเริ่มการลงทุนเอเชีย-ญี่ปุ่นสำหรับอนาคต ซึ่งเป็นนโยบายการลงทุนใหม่ของญี่ปุ่น 
 
โดยเน้นการเป็นหุ้นส่วนร่วมสร้างสรรค์ เพื่อนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนด้วยนวัตกรรมของทั้งสองประเทศและภูมิภาคเอเชีย ซึ่งสอดรับกับนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของไทย โดยมีเป้าหมายส่งเสริมอุตสาหกรรมของกลุ่มเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) อาทิ
 
อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ พลังงานสะอาด สุขภาพและการแพทย์ นอกจากนี้ ยังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จาก FTA ที่มีอยู่ร่วมกัน โดยเฉพาะประโยชน์จากการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาคจากความตกลง RCEP และเสนอแนวทางการกระชับความร่วมมือเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ในรูปแบบใหม่  
 
“งานสัมมนาครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการไทยที่จะส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่น และหน่วยงานภาครัฐของไทยที่จะวางกลยุทธ์ขยายการค้าและดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ จากนักลงทุนญี่ปุ่น ซึ่งจะสามารถนำข้อมูลไปต่อยอดและใช้ประโยชน์ได้อย่างแน่นอน”
 
ทั้งนี้ ไทยมีความตกลงการค้าเสรีกับญี่ปุ่น ได้แก่ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน – ญี่ปุ่น (AJCEP) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การค้าระหว่างไทยและญี่ปุ่นเติบโตอย่างมาก
 
โดยในปีที่ผ่านมา ผู้ส่งออกไทยใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง JTEPA และ AJCEP กว่า 80% ของมูลค่าการส่งออก สำหรับสินค้าที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรแปรรูป อาทิ เนื้อไก่ กุ้งปรุงแต่ง ปลาทะเลปรุงแต่ง และแป้งมันสำปะหลัง
 
สำหรับความตกลง RCEP จะลดและยกเลิกภาษีเพิ่มเติมจากข้อตกลงการค้าเสรีที่มีอยู่เดิมแล้ว รวมถึงยังทำให้พิธีการศุลกากรยืดหยุ่นขึ้น และช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกันมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ไทยและญี่ปุ่นยังมีความร่วมมือด้านการค้าในหลากหลายรูปแบบทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ อาทิ การลงนาม MOU ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กับเมืองโคฟุ จังหวัดยามานาชิ ความร่วมมือของผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นในการพัฒนาสินค้าเกษตรไทย และการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจผ่านทางออนไลน์
 
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทยยาวนานกว่า 600 ปี ทั้งในระดับรัฐบาล ภาคเอกชน และประชาชน โดยเป็นนักลงทุนอันดับหนึ่งของไทยมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นลงทุนในไทยกว่า 6,000 บริษัท
 
ทั้งนี้ ในปี 2564 ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย การค้าระหว่างกันมีมูลค่า 60,670.63 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 11.26% ของการค้าไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปญี่ปุ่นอันดับ 3 มูลค่า 24,985.35 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล 
 
ส่วนไทยนำเข้าจากญี่ปุ่นอันดับ 2 มีมูลค่า 35,685.28 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญจากญี่ปุ่น อาทิ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ
 
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 9 พฤษภาคม 2565  

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)