6 มหาวิทยาลัยผนึกเอกชนตั้ง “สถาบัน AI”
ตั้ง “สถาบัน AI” 6 มหาวิทยาลัยจับมือเอกชนผลิตกำลังคน สร้างโอกาสไทยแข่งขันเวทีโลก เปิดหลักสูตรแซนบอกซ์ด้าน AI เดือน ส.ค.นี้ ด้านเอกชน ชี้ AI มีความสำคัญเพราะเป็นการสร้างโอกาสให้แก่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมจำนวนมาก
ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานลงนามความร่วมมือจัดตั้งสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ โดยมีผู้แทนจาก 6 มหาวิทยาลัย นำโดย อธิการบดีมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รักษาการแทนอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เเละคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น
นอกจากทั้ง 6 มหาวิทยาลัย จะลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อจัดตั้งสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์เเล้ว ยังร่วมกันลงนามความร่วมมือร่วมกับภาคเอกชนอย่างกลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ หัวเว่ย (ประเทศไทย) บริษัทที.ซี.ซี. บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส บริษัททรู ดิจิทัล พาร์ค เเละ กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป อีกด้วย
ศ.ดร.ศุภชัย เปิดเผยว่า ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. ให้นโยบายว่า การผลิตกำลังคนด้าน AI มีความสำคัญและจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการผลิตกำลังคนผ่านหลักสูตรแซนด์บอกซ์ (Sandbox) ด้าน AI ของทั้ง 6 มหาวิทยาลัย เพื่อผลิตกำลังคนที่สำคัญของประเทศ
โดยทั้ง 6 มหาวิทยาลัยจะพัฒนาหลักสูตร AI และใช้ร่วมกัน เพื่อผลิตคนด้าน AI ให้เร็ว ได้ปริมาณเพียงพอ และมีคุณภาพต่อการพัฒนาประเทศ หลักสูตรไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามมาตรฐานอุดมศึกษา แต่เป็นการใช้ทรัพยากรการเรียนการสอนร่วมกัน และจะร่วมมือกับภาคเอกชนที่ได้ลงนามความร่วมมือกัน ตั้งเป้าที่จะเปิดหลักสูตรภายในเดือนสิงหาคม
“ทั่วโลกได้นำปัญญาประดิษฐ์มาใช้อย่างแพร่หลายทำให้เกิดการแข่งขันทางเทคโนโลยี ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสของประเทศไทยในการแข่งขันในเวทีโลก เพื่อลดช่องว่างการแข่งขันระหว่างไทยกับประเทศที่พัฒนาแล้ว การพัฒนางานวิจัยและกำลังคนรองรับการเติบโตของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ถือเป็นส่วนสำคัญในการวางเป็นรากฐานเพื่อพัฒนาศักยภาพ และยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศไทย สอดรับกับเป้าหมายสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2580” ศ.ดร.ศุภชัย กล่าว
ดร.อักฤทธิ์ สังข์เพ็ชร กล่าวว่า สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ (A.I. Engineering Institute; AIEI) จัดตั้งขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยในเครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ซึ่งหลักสูตรนี้ มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอลพิจารณาให้เป็นหลักสูตรนำร่องสำหรับการจัดการศึกษาที่เน้นการพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียนเป็นหลัก (Competency-based Education) เป็นหลักสูตรที่ก้าวข้ามขีดจำกัดของการศึกษารูปเเบบเดิม เพื่อให้นักศึกษาได้พัฒนาทักษะที่สามารถนำไปใช้ได้จริง
ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ อธิบายเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ A.I. มีความสำคัญและสร้างโอกาสให้แก่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมจำนวนมาก หากสถาบันอุดมศึกษาไม่ปรับตัว ไม่มีการ Re-skill และ Up-skill พัฒนาบุคลากรร่วมกับภาคเอกชน อนาคตการทำธุรกิจในเมืองไทยของอุตสาหกรรมใหญ่คงจะมีแต่โรงงาน แต่ไม่มีคนทำงาน คนกดปุ่มการทำงานต่าง ๆ อาจจะอยู่ต่างประเทศ
"การจัดตั้งสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ ทำให้เกิดการจัดการเรียนการสอน และการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลตอบโจทย์ประเทศ" ศิรินุช ศรารัชต์ ผอ.ภาคธุรกิจการศึกษา บริษัทไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ชี้จุดสรุป
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 10 พฤษภาคม 2565