"ไบเดน" หว่าน 150 ล้านดอลลาร์หนุนโครงการพัฒนาในอาเซียน
การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-สหรัฐ สมัยพิเศษ เริ่มขึ้นแล้ววานนี้ (12 พ.ค.) ที่กรุงวอชิงตัน ตอกย้ำความมุ่งมั่นของสหรัฐอเมริกาต่อภูมิภาคอาเซียน โดยโอกาสนี้ ผู้นำสหรัฐได้ประกาศโครงการริเริ่มมูลค่า 150 ล้านดอลลาร์ เสริมสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างทั้งสองฝ่าย
สำนักข่าววีโอเอ สื่อใหญ่ของสหรัฐรายงานว่า ในเวที การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-สหรัฐ สมัยพิเศษ ครั้งนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ได้ประกาศโครงการริเริ่มมูลค่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 5,212 ล้านบาท เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่าง สหรัฐและอาเซียน ในหลากหลายด้าน เสริมสร้างความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน และเพื่อขยายขีดความสามารถในการบรรลุเป้าหมายร่วมกันระหว่างสองภูมิภาค นับเป็นการเปิดศักราชใหม่ระหว่างความร่วมมือของสหรัฐและอาเซียน ภายใต้ ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐ
โดยก่อนหน้านี้ ในเวทีประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน เมื่อปี2564 ผู้นำสหรัฐได้ประกาศแผนมูลค่าไม่เกิน 102 ล้านดอลลาร์ เพื่อขยายความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก และเพิ่มความร่วมมือด้านสาธารณสุข การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม การส่งเสริมการค้าและการศึกษา และอีกมากมายหลายด้าน
ขณะที่ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว (2564) จีนได้ให้คำมั่นว่าจะให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนา 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่กลุ่มประเทศอาเซียนภายในช่วงเวลา 3 ปีเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ภารกิจ “บิ๊กตู่”พบปะชุมชนไทยในสหรัฐอเมริกา :
สำหรับภารกิจของนายกรัฐมนตรีของไทย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้พบปะชุมชนไทยในสหรัฐอเมริกาเป็นวาระแรก ก่อนเริ่มต้นภารกิจในการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐฯ-อาเซียน ช่วงวันที่ 12-13 พ.ค.
นายกรัฐมนตรีกล่าวกับชุมชนไทยในสหรัฐที่กรุงวอชิงตัน ถึงความคาดหวังในเวทีประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐฯ-อาเซียน สมัยพิเศษนี้ ว่าจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนและสหรัฐฯ ที่เป็นประโยชน์กับไทย การผลักดันยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมการค้าการลงทุนในไทยที่ครอบคลุม ดึงแรงงานที่มีศักยภาพสูงและดึงนักลงทุนเข้ามาตั้งฐานผลิตหรือตั้งสำนักงานใหญ่ในประเทศไทย รวมทั้งการผลักดันยุทธศาสตร์ด้านการแก้ปัญหาโลกร้อน จากการที่ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะอุณหภูมิโลกที่ปรับสูงขึ้นด้วย
ส่วนประเด็นเรื่องจุดยืนของไทยท่ามกลางการแข่งขันของประเทศมหาอำนาจซึ่งหลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงนั้น พลเอก ประยุทธ์ ได้ย้ำว่า จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดโดยไม่สร้างความขัดแย้งกับฝ่ายใด จะยึดหลักผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ที่เกิดจากมาตรการที่รัฐบาลนำมาใช้และการฉีดวัคซีนที่ได้ผล
ส่องวาระสำคัญและความหวังกระชับร่วมมือสองภูมิภาค :
หลังจากภารกิจนี้ นายกรัฐมนตรีของไทยและผู้นำอาเซียน(ยกเว้นผู้นำเมียนมาและฟิลิปปินส์ที่ไม่ได้มาร่วมการประชุมครั้งนี้) ได้หารือระหว่างรับประทานอาหารกลางวัน กับแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฏรสหรัฐและสมาชิกรัฐสภาสหรัฐที่อาคารรัฐสภา และร่วมประชุมกับตัวแทนระดับสูงของสหรัฐในด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นนางแคเธอริน ไท ผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) และจีนา ไนมอนโด รัฐมนตรีพาณิชย์ รวมทั้งมีวาระการพบหารือกับตัวแทนภาคธุรกิจของสหรัฐ
นอกจากนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังได้หารือกับนายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ ก่อนจะปิดท้ายในช่วงค่ำวันพฤหัสบดี(12 พ.ค.)ด้วยการที่ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เปิดทำเนียบขาวเชิญผู้นำประเทศอาเซียนร่วมพบปะ ถ่ายภาพหมู่ และรับประทานอาหารค่ำร่วมกัน
ด้านนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้พบปะหารือกับนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ในโอกาสครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐ และในฐานะที่ไทยกับสหรัฐมีความสัมพันธ์ร่วมมือใกล้ชิดมายาวนาน โดยมีการหารือในหลายประเด็น รวมถึงเรื่องกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกด้วย
สำหรับภารกิจประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-สหรัฐ สมัยพิเศษในวันสุดท้ายศุกร์นี้ (13 พ.ค.) รองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส จะหารือระหว่างรับประทานอาหารกลางวันกับผู้นำกลุ่มอาเซียน ในประเด็นความร่วมมือเส้นทางเดินเรือทะเล ด้านสาธารณสุข และการฟื้นฟูจากการระบาดใหญ่ โดยมีรายงานล่าสุดยืนยันว่า จะมีการหารือข้อกังวลด้านความมั่นคงในทะเลจีนใต้กับผู้นำอาเซียนในโอกาสนี้ด้วย
การชุมนุมประท้วงของผู้มีเชื้อสายอาเซียน :
ในวันแรกของเวทีประชุมสุดยอดครั้งนี้ มีการเคลื่อนไหวของผู้ประท้วงเชื้อสายกัมพูชาและเมียนมาในกรุงวอชิงตัน ซึ่งเป็นการเดินขบวนคู่ขนานกับเวทีประชุมอาเซียน โดยกลุ่มผู้ประท้วงส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมาและกัมพูชา ซึ่งออกมาแสดงจุดยืนทางประชาธิปไตย โดยพวกเขาได้เดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตันไปยังสถานที่จัดการประชุมที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ และรวมตัวบริเวณสวนสาธารณะลาฟาแยตต์ ด้านนอกทำเนียบขาว ในช่วงที่ผู้นำสหรัฐเปิดทำเนียบต้อนรับผู้นำอาเซียน
ขณะเดียวกัน มีประชาชนเชื้อสายเอเชียในแถบกรุงวอชิงตันราว 100 - 150 คนร่วมชุมนุมและเดินขบวนจากบริเวณอนุสาวรีย์อับราฮัม ลินคอล์น ไปยังสนามหญ้าหน้าอาคารรัฐสภาในกรุงวอชิงตัน เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านรัฐบาลพลเอกประยุทธ์เช่นกัน โดยหนึ่งในผู้ร่วมชุมนุมกล่าวกับวีโอเอ ภาคภาษาไทย ว่า มีการชักชวนกลุ่มชาวกัมพูชา ลาว เมียนมา ไปร่วมกันชุมนุม และคิดว่าการออกมาแสดงพลังร่วมกับประเทศอื่นในช่วงที่มีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนจะช่วยให้ส่งเสียงได้ดังกว่าไทยเพียงประเทศเดียว
ทั้งนี้ การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-สหรัฐ วาระพิเศษนี้ ถือว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 45 ปีที่มีการจัดประชุมสุดยอดกันที่กรุงวอชิงตัน และถือเป็นท่าทีของสหรัฐในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาคมอาเซียน ว่าภูมิภาคนี้ยังมีความสำคัญต่อสหรัฐท่ามกลางประเด็นสำคัญระหว่างประเทศมากมายที่สหรัฐต้องให้ความสำคัญในช่วงที่ผ่านมา
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 13 พฤษภาคม 2565