FTAAP คืออะไร ไทยจะได้อะไรจากความตกลงครั้งนี้
ทำความรู้จักFTAAP คืออะไร ไทยจะได้อะไรจากความตกลงครั้งนี้ “ไทย”ประกาศจุดยืนชัดเจนร่วมผลักดันให้เกิดความตกลงFTAAPโดยเร็ว หากสำเร็จภาษีเป็นศูนย์ระหว่างกันได้ประโยชน์ทุกฝ่าย เตรียมเสนอที่ประชุมสุดยอดผู้นำช่วงปลายปีให้รับทราบ
FTAAP หรือ เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ถูกหยิบยกมาเป็นไฮไลท์ของการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค 2022 (APEC Ministers Responsible for Trade Meeting 2022)ที่ปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมที่กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ 21 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2532 ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป สหรัฐอเมริกา เวียดนาม และไทย
FTAAP มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคี และสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลก โดยการลดอุปสรรคและส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุนระหว่างกัน โดยยึดแนวทางดำเนินงานที่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก
การผลักดันเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) เป็น FTA ของกลุ่มความร่วมมือกลุ่มเศรษฐกิจการค้าเอเปค ที่มีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้ทุกภาคส่วน ภาครัฐ เอกชน ภาควิชาการหรือนักธุรกิจ ประชาชนทั่วไป เกิดความเข้าใจและรวมพลังขับเคลื่อนจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจของกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก 21 เขตเศรษฐกิจไปเป็น FTAAP ในอนาคต ซึ่งตั้งเป้าหมายไว้ในปี 2040
หากสำเร็จจะเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะมีประชากรรวมกันถึง 2,900 ล้านคน คิดเป็น 38% ของประชากรโลกและจะมี GDP คิดเป็นร้อยละ 62 ของ GDP โลกมีมูลค่าประมาณ 52 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,768 ล้านล้านบาท
มูลค่าการค้าจาก 21 เขตเศรษฐกิจ มีมูลค่า 608 ล้านล้านบาท หรือ 18 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ผลประโยชน์ที่ 21เขตเศรษฐกิจ รวมถึงประเทศไทยจะได้รับโดยตรงอย่างน้อย คือ ภาษีจะเป็นศูนย์ระหว่างกัน เมื่อเป็น FTA กฎระเบียบการค้าจะเป็นกฎระเบียบเดียวกัน และจะมีการเปิดตลาดระหว่างกันทั้งในส่วนของสินค้าและบริการ รวมทั้งการส่งเสริมการลงทุนระหว่างกัน
หาก FTAAP มีผลในปี 2040 จริงคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าการค้าในกลุ่ม 21 เขตเศรษฐกิจ จะเพิ่มขึ้นประมาณ 200-400%
สำหรับประเทศไทยปัจจุบันมีมูลค่าการค้ากับ 21 เขตเศรษฐกิจ 12.2 ล้านล้านบาทหรือคิดเป็น 385,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าเป็น FTAAP ในปี 2040 จริง จะขยายตัว 200-400% เช่นเดียวกัน
ถ้าเทียบกับ RCEP หรือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเมื่อ 2563 ซึ่งถือว่า RCEP คือ FTA ที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน แต่ถ้ามี FTAAP เมื่อไหร่จะใหญ่กว่า RCEP ทุกเขตเศรษฐกิจจะได้ประโยชน์มากขึ้นเป็นเงาตามตัว
ประเทศไทยได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนจะผลักดัน FTA ให้เกิดขึ้นอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพราะไทยให้ความสำคัญและประสงค์จะร่วมขับเคลื่อนกับกลุ่มเศรษฐกิจที่เหลืออย่างเต็มที่ ให้เกิด FTA ให้ได้ในอนาคตอันรวดเร็วตามเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างน้อยปี 2040
ปัจจุบันประเทศไทยมี FTA กับประเทศต่างๆ 18 ประเทศรวม 14 ฉบับ
“ประเทศไทยมีเป้าหมายทำ FTA กับอีกหลายประเทศรวมทั้ง FTAAP ด้วย ซึ่งเวทีเอเปคนี้จะเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นสร้างความรู้ความเข้าใจระหว่างคนไทยและสมาชิกประชากรของกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเปคให้เกิดขึ้น ซึ่งจะมีการคุยกันหลายประเด็น เช่น การกำหนดสาระสำคัญที่ควรบรรจุไว้ใน FTAAP อีคอมเมิร์ซ การแข่งขันทางการค้า สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชนเป็นต้น แต่สิ่งเหล่านี้ควรมีขอบเขตแค่ไหนอย่างไรที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันกับทุกฝ่ายทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิก”
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 19 พฤษภาคม 2565