สัมมนา “ถามมา…ตอบไป เพื่อประเทศที่ดีกว่า” มั่นใจเศรษฐกิจไทยยังเติบโต

“สุพัฒนพงษ์” เผยในงาน “ถามมา…ตอบไป เพื่อประเทศที่ดีกว่า” (Better Thailand open Dialogue) เชื่อแม้ประเทศไทยเจอวิกฤต เศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสเติบโต ขณะที่ภาคเอกชนยังเชื่อมั่นรัฐบาล
 
วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานเสวนา “ถามมาตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีขึ้นกว่าเดิม” (Better Thailand open Dialogue) โดยพูดในหัวข้อ “มองเศรษฐกิจโลก สะท้อนเศรษฐกิจไทย” ว่าการลงทุนในประเทศไทยหากย้อนไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ก่อนที่จะเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19
 
จะพบว่าในช่วง 5 ปีแรก หรือประมาณ ปี 2553-2557 ไม่มีการลงทุนใหม่เกิดขึ้น รายได้ที่เข้ามาส่วนใหญ่มาจากการลงทุนเดิม แต่ช่วง 5 ปีต่อมา หรือประมาณ 2558-2562 รัฐบาลชุดปัจจุบัน มีการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ขณะที่การหารายได้เข้าประเทศนั้นเป็นการพยายามรักษาฐานรายได้เดิมที่มาจากการส่งออก
 
 
ขณะเดียวกันก็เน้นการอุปโภคบริโภคภายในประเทศส่งผลให้อัตราหนี้ครัวเรือนเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอัตรา 15% ซึ่งรัฐบาลพยายามควบคุมไม่ให้สูงมากเกินไป แต่เมื่อเกิดปัญหาโควิด-19 กระทบไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ในช่วงนั้นไทยมีอาวุธเพียงการใช้หน้ากากและกำหนดมาตรการเว้นระยะห่าง แต่ก็สามารถป้องกันการแพร่ระบาดได้ดีจนกระทั่งปลายปี 2563 มาพบการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้า ท่ามกลางสถานการณ์ที่ทั่วโลกขาดแคลนวัคซีน และการเติบโตด้านท่องเที่ยวที่โตเฉลี่ยรายปีละ 20% เมื่อเจอวิกฤตการเติบโตเท่ากับ 0
 
แต่ประเทศไทยก็สามารถเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตามโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ในวันที่ 1 พ.ย. 2564 ซึ่งนับถึงปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาแล้ว 1.2 ล้านคน อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นปี 2565 ก็เกิดวิกฤตซ้ำเติมจากกรณีการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง ทำให้ราคาสินค้าและพลังงานแพงสูงสุดในรอบ 10 ปี แต่จากความร่วมมือประเทศไทยก็รอดพ้นจากวิกฤตทุกครั้ง
 
“คนไทยเจอวิกฤตก็รอดทุกที แม้จะทำไปบ่นไป แต่เมื่อเวลาผ่านไปเกิดความร่วมมือกัน และช่วยกันแก้ไขปัญหา จะเห็นได้ว่าประเทศยังมีเสถียรภาพทางการเงินการคลัง ระดับความเชื่อมั่นยังคงที่ตามเดิม ซึ่งถือเป็นเสน่ห์ของประเทศไทย แม้จะมีเสียงบ่นมากมายแต่สุดท้ายทุกคนก็ร่วมมือกัน ตอนนี้รอเพียงให้สามารถเปิดประเทศได้อย่างเต็มที่ และคิดว่าทุกคนจะสามารถปรับตัวได้”
 
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 นี้ ยังเติบโตไปได้ ปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลกรัฐบาลก็แก้ปัญหากันต่อไป ความร่วมมือร่วมใจในการแก้ไขปัญหาของคนไทยจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตไปได้เหมือนที่ผ่านมา รวมไปถึงภาคการท่องเที่ยวก็จะดีขึ้นเพราะแนวโน้มนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น จึงเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยก็จะฟื้นตัว
 
ยกระดับคน-โรงงาน ดึงลงทุนอีวี 7 ปีข้างหน้าไทยประเทศพัฒนาแล้ว :
 
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวในหัวข้อ “ประเทศไทยก้าวต่อไปอย่างไร” ว่า การลงทุนในพื้นที่อีอีซี ถือว่ามีความคืบหน้าไปมากทั้งโครงสร้างพื้นฐาน รางรถไฟ สนามบิน และท่าเรืออีก 2 แห่ง รวมมูลค่ากว่า 6 แสนล้านบาท รวมกับโครงการของภาคเอกชนที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไออีก 9 แสนล้านบาท รวมทั้งหมดเป็น 1.7 ล้านล้านบาท
 
 
โดยขณะนี้ EEC อยู่ในระหว่างการดำเนินการในเฟส 2 ที่ตั้งแผนการลงทุนไว้ 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนในด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ศูนย์การแพทย์, BCG, อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (โรบอติก) และโลจิสติกส์ ฮับ เป็นต้น
 
และเชื่อว่าในอีก 3-4 ปีข้างหน้าจะมีความคืบหน้าให้เห็นชัดเจนมากขึ้น และในส่วนการลงทุนระยะที่ 2 จะเน้นการลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามามากขึ้น พร้อมกับการยกระดับพัฒนาคน ซึ่งเรื่องดำเนินการไปแล้ว 1.5 แสนคน และเป้าหมายในปี 2565-2566 จะเพิ่มอีก 1.5 แสนคน โดยทำงานร่วมมือกับ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. ด้วย
 
นอกจากนี้ ในพื้นที่อีอีซีจะยกระดับให้โรงงานมีระบบออโตเมชั่นมากขึ้น หลังจากที่ประเทศไทยมีการเปิดประมูล 5G ไปแล้วโดยมีเป้าหมายในอีก 2 ปีจะผลักดัน 6,000 โรงงานเข้าระบบออโตเมชั่น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้กับโรงงานไปถึง 30% แต่ทั้งนี้การยกระดับโรงงานแต่ก็ไม่ได้มีการปลดแรงงานแต่จะยกระดับและผลักดันให้ทำงานที่มีความสอดคล้องกับความต้องการมากขึ้น และสิ่งที่สำคัญที่จะยกระดับและพัฒนา คือ การลงทุนอีวี โดยเชื่อว่าประเทศไทยจากที่มีนโยบายส่งเสริมในเรื่องนี้จะดึงการลงทุนเข้ามาเพื่อใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตมากขึ้น
 
เมื่อมีการผลักดันและมีการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี เชื่อว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจของไทยจะโตไม่ต่ำกว่าปีละ 1.5% และในอนาคตหรือใน 7 ปีข้างหน้า ถ้าเศรษฐกิจของไทยโต 5% ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยอีอีซีจะเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยไปสู่การเติบโตได้ในอนาคต
 
บีโอไอ หนุนสงเสริมลงทุนทุกพื้นที่ เน้นกิจการมากขึ้น :
 
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอยังมุ่งยกระดับส่งเสริมการลงทุนในแต่ละพื้นที่เป็นหลัก เพราะยังเป็นใจความสำคัญของการส่งเสริมการลงทุน แต่อนาคตจะให้ความสำคัญในการลงทุนในแต่ละกิจการมากขึ้น และจะมีการออกมาตรการส่งเสริมในระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษ พร้อมทั้งจะพัฒนาและใช้เครื่องมือเพื่อเสริมศักยภาพในการลงทุนแต่ละพื้นที่ พร้อมกระจายการลงทุนไปในทุกเขตเป้าหมาย เช่น อีอีซี เอสอีซี หรือแม้แต่ทางเขตยากจน หรือพื้นที่ที่มีรายได้ต่ำ 23 จังหวัด  โดยใช้เกณฑ์ข้อตกลง WTO ซึ่งรายได้เฉลี่ยจะต้องไม่เกิน 75% ของค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ
 
ในอดีตนโยบายการส่งเสริมการลงทุนจะใช้เรื่องเขตเป็นหลัก เพื่อดึงนักลงทุนให้กระจายไปยังภูมิภาค ปัจจุบันตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา มีการปรับเปลี่ยนนโยบาย เพื่อส่งเสริมธุรกิจที่มีเท็กซ์คอนเทนต์มากขึ้น  ที่สร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่เคยละทิ้งนโยบายเชิงพื้นที่ ซึ่งดึงดูดให้คนไปยังพื้นที่ภูมิภาคได้ อย่างไรก็ตาม ในอนาคตก็จะต้องมองว่ามาตรการส่งเสริมด้านการลงทุนต้องไปดูว่า แนวทางของอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยจะไปในแนวไหน อะไรที่ทำได้ดี ทำได้เก่งต้องมุ่งเน้นไปส่งเสริมทางนั้น เช่น อุตสาหกรรมภาคบริการ เป็นต้น
 
 
หอการค้าไทยหนุนรัฐเปิดตลาด :
 
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เวทีสัมมนาครั้งนี้เอกชนมองว่าเป็นสิ่งที่สะท้อนว่าเอกชนต้องการอะไรจากรัฐบาล เพื่อก่อให้เกิดการส่งเสริมให้เป็นรูปธรรมมากที่สุด และต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้นเป็นเพราะเอกชนมีความเข้มแข็ง ขณะเดียวความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนไทยยิ่งช่วยให้การทำงานมีความชัดเจนและสร้างความยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจไปพร้อมกัน
 
และที่ผ่านมาภาคเอกชนร่วมกับหน่วยงานรัฐได้มีโอกาสเดินทางไปเยือนซาอุดีอาระเบียเป็นโอกาสอันดีที่ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และถือว่าเป็นโอกาสสำคัญที่รัฐบาลได้มีการปลดล็อกและหากอนาคตสามารถดำเนินขยายความสัมพันธ์ไปในแต่ละตลาดก็จะเป็นการส่งออกของไทยได้เป็นอย่างดี
 
ภาคอุตฯ แม้เจอวิกฤต ต้องเร่งพัฒนาสู่การแข่งขัน :
 
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า แม้วิกฤตโควิด-19 และสถานการณ์สู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครนจะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม แต่ก็มีบางอุตสาหกรรมที่เติบโตได้ดี เช่น อุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากตลาดต่างประเทศยังมีความต้องการเรื่องอาหารการกินอย่างต่อเนื่อง และการพัฒนาอุตสาหกรรมในระยะต่อไปยังต้องคำนึงถึงผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า เช่น เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ, คาร์บอนเครดิต
 
ขณะเดียวกันกำลังเร่งส่งเสริมกลุ่ม S-Curve ใน 12 สาขา และการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ตามนโยบายของรัฐบาล
 
ผู้ประกอบการทุกอุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิมทั้ง 45 กลุ่ม 11 คลัสเตอร์ ซึ่งส่วนใหญ่ 80% เป็น SMEs กำลังปรับตัวทุกรูปแบบจาก 2.5 ไปสู่ 4.0 เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี, สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน, ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน ที่ต้องพึ่งพาการนำเข้ามากถึง 30% ดังนั้น ผู้ประกอบการได้เองต้องยกระดับพัฒนาตัวเอง และมองหาโอกาส และตั้ง Supply Chain Secrurity โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี เพื่อลดการนำเข้า
 
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 20 พฤษภาคม 2565

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)