"ดอน" นำคณะชุดใหญ่เยือนซาอุฯ ก้าวแรกของโอกาสและความร่วมมือ (1)

คณะผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนชุดใหญ่ที่สุดของไทยในรอบ 32 ปี ที่นำโดย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางไปเยือนประเทศซาอุดีอาระเบียระหว่างวันที่ 15-19 พฤษภาคม เพื่อต่อยอดการฟื้นฟูความสัมพันธ์หลังการเยือนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เชื่อว่าการเยือนครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจของทุกฝ่าย และสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสแห่งความร่วมมือระหว่างสองประเทศที่มีอยู่มากมาย เหนือสิ่งอื่นใดคือทำให้หลายคนที่ร่วมคณะเปลี่ยนมุมมองและความคิดที่มีต่อซาอุฯ ไปอย่างสิ้นเชิง
 
สิ่งที่ปรากฎให้เห็นได้ชัดคือฝ่ายซาอุฯ “เต็มที่” กับการให้การต้อนรับคณะผู้แทนไทย ตั้งแต่การจัดเลี้ยงในวันแรกที่พระราชวังอัล มุร็อบบา ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของซาอุฯ และของราชวงศ์ซาอุฯ ด้วยเป็นที่พำนักของ สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลอะซีซ กษัตริย์พระองค์แรกของราชวงศ์ซาอูดและผู้ก่อตั้งประเทศซาอุฯ ที่ปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์และเป็นสถานที่จัดงานพิธีรับรองแขกระดับสูงจากต่างประเทศ อย่างประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน หรืออดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อครั้งเดินทางมาเยือน
 
 
ขณะที่เมื่อดูจากกำหนดการต่างๆ ที่ฝ่ายซาอุฯ จัดให้กับคณะผู้แทนไทยก็เต็มไปด้วยสาระและสะท้อนถึงความตั้งใจที่จะสานสัมพันธ์ทั้งในแง่การค้าการลงทุนอย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดงาน “Saudi-Thai Investment Forum” ซึ่งได้ทราบว่ามีนักธุรกิจซาอุฯ ในกรุงริยาดที่สนใจจะเข้าร่วมงานมากจนกระทั่งกระทรวงการลงทุนของซาอุฯ ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดงานต้องปิดรับ เพราะมีผู้ต้องการมาร่วมงานมากกว่าที่จะจัดให้ได้ และในงานจับคู่ของภาคธุรกิจที่มีขึ้นหลังจากนั้น ไม่ว่าจะที่กรุงริยาดหรือนครเจดดาห์ เมืองธุรกิจที่สำคัญที่สุดของซาอุฯ ก็ทราบว่ามีผลเป็นที่น่าพอใจเช่นกัน
 
ในการเยือนครั้งนี้มีการลงนามและแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างภาคธุรกิจไทยกับซาอุฯ รวม 6 ฉบับ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่เอ็มโอยูระหว่างหอการค้าไทย-กับหอการค้าซาอุฯ เอ็มโอยูของภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ วัสดุก่อสร้าง และยังมีการลงนามเอ็มโอยูกับภาคการบริการและโรงแรมอย่างเครือดุสิตและไมเนอร์กรุ๊ป โดยมีรัฐมนตรีถึง 3 คนร่วมเป็นสักขีพยานคือนายดอน เจ้าชายฟัยศ็อล บิน ฟัรฮาน อัลซะอูด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายคาหลิด อับดุลอะซีซ อัลฟาลิฮ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุนของซาอุฯ
 
ในระหว่างการจับคู่ทางธุรกิจ หนึ่งในธุรกิจที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากฝ่ายซาอุฯ คือธุรกิจด้านการบริการและการท่องเที่ยว ซึ่ง คุณโกศิน ฉันธิกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุน บริษัทไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) บอกว่า ไมเนอร์กรุ๊ปได้ประกาศข้อตกลงร่วมกับหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการพัฒนาดิริยาห์เกต (Diriyah Gate Development Authority-DGDA) เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา ว่าจะเปิดโรงแรมอนันตรา ซึ่งเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาวของไทยในเครือไมเนอร์ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีคุณค่ามาก และห่างจากกรุงริยาดแค่ 20 นาทีเท่านั้น เราตื่นเต้นกับโครงการนี้มาก และยังมีโครงการอื่นๆ ของเครือไมเนอร์ในซาอุฯ อีก 1-2 โครงการที่จะประกาศเพิ่มเติมในเร็วๆ นี้ตามมา
คุณโกศินบอกว่า การเดินทางมาครั้งนี้ถือเป็นทริปที่ดีมากที่กระทรวงการต่างประเทศและหอการค้าไทยได้จัดขึ้น หลังฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกันตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ในฐานะผู้ประกอบการไทย ไมเนอร์พยายามจะเข้ามาในตลาดซาอุฯ ตั้งแต่เมื่อครั้งที่รัฐบาลซาอุฯ ประกาศวิสัยทัศน์ 2030 ในปี 2018 เราศึกษาตลาดซาอุฯ มา 4 ปีแล้ว และการมีกิจกรรมเช่นนี้ทำให้เราสามารถคุยและสร้างความเป็นพันธมิตรกับหุ้นส่วนที่ซาอุฯ ได้อย่างรวดเร็วขึ้นไปอีก
 
เราเห็นศักยภาพของเศรษฐกิจซาอุฯ มาก เพราะในวิสัยทัศน์ 2030 ของซาอุฯ เห็นอย่างชัดเจนว่าเขามีเป้าหมายที่จะสร้างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้มีนักท่องเที่ยวมาถึง 100 ล้านคน ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยว 12% ของจีดีพี ขณะที่ซาอุฯ ในปัจจุบันรายได้จากการท่องเที่ยวต่ำกว่า 2% ถ้าเขามีนักท่องเที่ยวเข้ามาแค่ครึ่งหนึ่งของไทยหรือเท่ากับไทยจะเป็นเม็ดเงินมหาศาล ถ้าได้เท่าไทยคือ 12% จะเท่ากับ 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องในห่วงโซ่ของธุรกิจการท่องเที่ยวก็จะได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรม สายการบิน ธุรกิจสันทนาการ ร้านอาหาร ธุรกิจบริหารในห่วงโซ่การท่องเที่ยวอื่นๆ
 
ไมเนอร์มีรายได้ 25% ในไทย และ 75% ในต่างประเทศ ตะวันออกกลางคือหนึ่งในศูนย์กลางการลงทุนของเรา ขณะนี้เรามีโรงแรม  23 แห่ง และร้านอาหารทั้งหมด 53 ร้านในทุกเมืองหลักๆ ของตะวันออกกลาง ไม่ว่าอาบูดาบี ดูไบ โอมาน บาห์เรน กาตาร์ แน่นอนว่าเราพยายามจะเข้ามาในซาอุฯ ซึ่งการสานสัมพันธ์ทางการทูตคราวนี้จะช่วยให้เราขยายได้ และมันมากับจังหวะที่ซาอุฯ เขามีวิสัยทัศน์ 2030 ทำให้ทุกอย่างมันไปในทิศทางเดียวกันหมด
 
 
เมื่อถามถึงโอกาสำหรับนักลงทุนไทยในซาอุฯ คุณโกศินบอกว่า ไทยมีองค์ความรู้และมีประสบการณ์ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ใน 5 อันดับต้นของโลก โดยเราอยู่ในลำดับที่ 4 เป็นรองเพียงสหรัฐ สเปน และฝรั่งเศส เราสามารถนำความรู้ที่เรามีมาถ่ายทอดที่ประเทศซาอุฯ ได้ ผู้ประกอบการไทยทุกคนควรจะให้ความสนใจที่จะศึกษาตลาดซาอุฯ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และโปรเจคต่างๆ ของรัฐบาลเพราะเป็นโอกาสที่ยอดเยี่ยมมาก
 
ด้าน นพ.ศรัณย์ อินทกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ ที่ได้เดินทางร่วมคณะในครั้งนี้ด้วยได้ขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศและหอการค้าไทยสำหรับโอกาสที่ดีเช่นนี้ ปัจจุบันมีคนไข้จากซาอุฯ มารักษาตัวกับสมิติเวชบ้างแต่จำนวนไม่มากนัก การที่ไทยฟื้นฟูความสัมพันธ์และเปิดประเทศทั้งสองฝ่าย ก็จะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ป่วยซาอุฯ ที่ต้องการรักษาอาการป่วยที่ซับซ้อน และเป็นการเพิ่มทางเลือกให้มากขึ้นกว่าที่จะไปรักษาตัวในยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา ก็อาจนึกถึงการเดินทางไปรักษาตัวที่ไทยมากขึ้น แต่แน่นอนว่ารักษาพยาบาลอยู่ที่ความเชื่อมั่น เราห่างหายกันไปนาน จำเป็นต้องมีการทำความรู้จักกันใหม่เสียก่อนว่าเรามีความเชี่ยวชาญในด้านใด
 
ตะวันออกกลางถือเป็นตลาดใหญ่ แต่ปัจจุบันคนไข้ส่วนใหญ่มาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โอมาน และกาตาร์ ขณะที่คนไข้จากซาอุฯ ยังถือว่าน้อย เพราะในช่วงที่ผ่านมายังมีข้อจำกัดเรื่องการเดินทาง แต่ซาอุฯ ก็เป็นประเทศที่มีกำลังจ่ายและมีประชากรจำนวนมากจึงเชื่อว่าเป็นตลาดที่ดี ทั้งนี้หลายประเทศในตะวันออกกลางต้องการแหล่งที่มีการรักษาคนไข้ที่ดี เพื่อเอื้อให้คนในประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยรัฐบาลของเขาจะรับผิดชอบเงินค่ารักษาพยาบาล ทำให้มีความสนใจที่จะมารักษาตัวในประเทศไทยมาก ทั้งรักษาโรคหลายอย่างหรือมาทำการฟื้นฟูกายภาพบำบัด เพราะค่ารักษาที่ไทยสามารถแข่งขันกับหลายประเทศได้ ขณะที่ครอบครัวก็ยังสามารถเดินทางร่วมด้วยได้แบบกึ่งๆ นักท่องเที่ยว เชื่อมั่นว่าถ้าเรามีการบริการและการรักษาดี เมื่อผู้ป่วยได้ลองมารักษาสักครั้งก็จะกลับมาที่ประเทศไทยอีก
 
ครั้งนี้ทางสมิติเวชได้มีโอกาสพบและพัฒนาความร่วมมือกับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) ในซาอุฯ ซึ่งก็จะเป็นช่องทางช่วยนำคนไข้ไปรักษาที่ไทยมากขึ้น การเดินทางในครั้งนี้ถือเป็นก้าวแรกและเป็นโอกาสที่ดีมาก คาดว่าเราจะสามารถเปิดตลาดในซาอุฯ ได้ จากนี้สมิติเวชจะส่งทีมลงพื้นที่ในซาอุฯ แบบเจาะลึกอีกครั้งคาดว่าน่าจะเป็นภายใน 1-2 เดือนนี้ โดยจะประสานกับสถานเอกอัครราชทูตไทยที่กรุงริยาดและสถานกงสุลใหญ่ที่เมืองเจดดาห์ เพื่อขอพบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการที่น่าสนใจ เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือทางธุรกิจในอนาคต
 
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 24 พฤษภาคม 2565  

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)