เพราะเป็นผู้ใหญ่จึงเจ็บปวด? ทำไม "เงินเฟ้อ" ถึงทำให้ Gen Z กำลังตกที่นั่งลำบากมากกว่าใคร
ก่อนเข้าวัยทำงานหลายคนอาจจะพูดว่า “เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด” แต่เมื่อได้เริ่มต้นใช้ชีวิตพึ่งพาตัวเองแล้วตอนนี้เหล่าชาว Gen Z กำลังพบกับความจริงที่โหดร้ายว่า ‘เพราะเป็นผู้ใหญ่จึงเจ็บปวด’ โดยสาเหตุของความเจ็บปวดนั้นมาจาก ‘เงินเฟ้อ’ ในเวลานี้
สถานการณ์เงินเฟ้อที่มีความรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปีส่งผลกระทบต่อคนทั้งโลกอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะข้าวของเครื่องใช้อะไรๆ ต่างก็ราคาแพงไปหมด แต่ในกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบนั้นกลุ่มเด็ก Gen Z น้องใหม่วัยใสที่เพิ่งสำเร็จการศึกษามาคือกลุ่มคนที่เจ็บหนักที่สุด
“เงินเฟ้อกำลังท้าทายกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพราะพวกเขาจำเป็นต้องอดทนต่อราคาข้าวของที่สูงขึ้นจากเงินเฟ้อ แต่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องครอบครองทรัพย์สินที่จะช่วยให้พวกเขารักษาสภาพคล่องทางบัญชีตามเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเรื่อยๆ” เจฟฟ์ แมคเดอร์มอตต์ นักวางแผนทางการเงินจากสถาบัน Create Wealth Financial Planning กล่าว
สำหรับเงินเฟ้อนั้นคือภาวะที่ราคาสินค้า-บริการโดยทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งความจริงไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายเสมอไป เพราะมันอาจทำให้เกิดการเติบโตได้ด้วยตราบที่ยังสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อไว้ที่ราว 2%
แต่หากเงินเฟ้อเพิ่มมากขึ้นจนกระทบฐานะและความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในเดือนเมษายนที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นถึง 8.3% เมื่อเทียบกับปีกลาย ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ยุค 1980 ทำให้ทุกคนต้องซื้อของในราคาที่แพงขึ้น และเงินออมที่เก็บไว้ก็มีมูลค่าลดลงด้วย
ปัญหาเรื่องเงินเฟ้อในช่วงนี้มีปัจจัยเหตุหลายอย่างประกอบกัน ซึ่งแน่นอนนว่าโรคระบาดโควิดส่งผลกระทบอย่างรุนแรง เนื่องจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีโรงงานที่ปิดตัวลงไปเป็นจำนวนไม่น้อยทำให้สินค้าที่ออกสู่ผู้บริโภคลดลง
และเมื่อโรคระบาดกำลังจะสิ้นสุดลง เหล่าคนที่ไม่ได้ใช้จ่ายเลยในช่วงที่ผ่านมามีกำลังซื้อสินค้าและพร้อมที่จะจับจ่ายสนองความต้องการของตัวเอง ซึ่งเมื่อความต้องการสูงกว่าของที่มีทำให้สนนราคาถูกถีบตัวขึ้นตามไปด้วย
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทุกอย่างแพงไปหมดคือเรื่องสงครามรัสเซียบุกยูเครนที่เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่าน และทำให้ราคาน้ำมันและราคาสินค้าส่งออกหลักอย่างข้าวสาลี และข้าวโพดสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ จนทำให้เวลานี้ถึงเราจะจ่ายเงินเท่าเดิมเราก็ได้น้ำมันเติมเข้าถังน้อยกว่าเดิม หรือซื้อของเข้าบ้านได้ในจำนวนที่น้อยกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีความพยายามในการสกัดเงินเฟ้อโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ ‘Fed’ ที่ขยับขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.50% ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 22 ปี และคาดว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยอีก 6 ครั้งภายในปีนี้เพื่อสกัดเงินเฟ้อโดยที่ไม่ให้เศรษฐกิจหดตัวมากเกินไป แต่สำหรับชาว Gen Z แล้วการประคองตัวให้รอดในยามนี้ก็เป็นเรื่องที่ยากลำบากสุดๆ แล้ว
สิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับชาว Gen Z คือการที่พวกเขาเพิ่งจะเรียนจบไม่ได้มีเงินออมของตัวเองมากมาย อีกทั้งต่อให้มีเงินเดือนรายได้ที่ได้นั้นก็น้อยกว่าบรรดารุ่นพี่ที่ทำงานมานานกว่ามาก นั่นทำให้ชาว Gen Z เป็นคนมีค่าสูงทันที ไหนจะค่าน้ำมัน ค่าเดินทาง ค่าอาหาร บางคนต้องจ่ายค่าที่พัก
หนักกว่านั้นบางคนยังกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาด้วย เมื่อหักกลบลบหนี้แล้วจึงแทบไม่เหลือให้ไปต่อทุนชีวิตหรือใช้จ่ายเพื่อแลกกับความสุขของตัวเองเลย ครั้นจะไปลงทุนในตลาดหุ้นหรือแม้แต่การลงทุนในคริปโตก็เต็มไปด้วยความเสี่ยงที่อาจทำให้หมดเนื้อหมดตัวได้ง่ายๆ
ยกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา ชาว Gen Z ที่นั่นก็อยู่กันอย่างลำบาก รายรับส่วนใหญ่ต้องนำไปจ่ายค่าที่พักที่ราคาค่าเช่าสูงขึ้นเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับเมื่อปีที่แล้ว โดยเฉพาะในเขตมหานครอย่างนิวยอร์ก ซึ่ง Zumper ได้ทำการสำรวจเมื่อเดือนเมษายน และพบว่าค่าเช่าเพิ่มขึ้น 38%
การจะเช่าอพาร์ตเมนต์แบบ 1 ห้องนอนจะต้องจ่ายเงินถึง 3,420 ดอลลาร์ หรือ 116,000 บาท และหากใครอยากจะมีบ้านเป็นของตัวเองก็อาจต้องลืมไปก่อนในตอนนี้ เพราะตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงหลังโควิดราคาเพิ่มสูงขึ้นกว่า 20.2% สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2009 เลยทีเดียว
แล้วแบบนี้ชาว Gen Z ควรจะทำอย่างไร? คำแนะนำแรกจากผู้เชี่ยวชาญคือ ‘นิ่งเข้าไว้’ เพราะถึงแม้อะไรๆ มันจะดูแย่ไปหมดในตอนนี้ แต่เมื่อมีฝนแล้วก็ย่อมมีฟ้าหลังฝนที่สวยงามเสมอเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสินค้าอุปโภค ราคาน้ำมัน หรือตลาดหุ้นทุกอย่างจะกลับมาดีขึ้นอย่างแน่นอน สิ่งสำคัญในเวลานี้คือการพยายามประคองตัวให้รอด ไม่สร้างภาระเพิ่ม ลดภาระเดิม
ลองคำนวณงบการใช้จ่ายดูให้ละเอียดเราอาจจะพบค่าใช้จ่ายแฝง เช่น ค่าบริการออนไลน์ต่างๆ ที่ไม่ได้จำเป็นทั้งหมด หรือแม้แต่ค่ากดเครื่องดื่มในตู้กดน้ำยอดฮิตที่สนุกตอนกดแต่เงินในกระเป๋าก็หดด้วย อีกวิธีคลาสสิกสำหรับการเอาตัวรอดในยามยากคือการ ‘แบ่งปัน’ ที่เราอาจจะหาคนช่วยหารค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น หารูมเมตแชร์ค่าห้อง (แต่ต้องเพื่อนสนิทที่ไว้ใจกันได้จริงๆ นะ) ค่าเดินทาง และอื่นๆ ที่จะช่วยแบ่งเบาความหนักหน่วงของชีวิตในตอนนี้ได้บ้าง
เพราะถึงมันจะเป็นช่วงเวลาที่เจ็บปวด แต่บางครั้งความเจ็บปวดก็สอนชีวิตได้ดี และอาจทำให้เราได้ค้นพบว่า จริงๆ แล้วความสุขของชีวิตคืออะไรกันแน่
ที่มา the standard
วันที่ 25 พฤษภาคม 2565