กทม.แง้มเก็บภาษีที่พักและโรงแรมพ่วงรีดภาษีที่ดิน 100% เอกชนโอดซ้ำเติมธุรกิจเกินทนไหว
นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลมีกำหนดในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 100% จากเดิมที่ผ่อนปรนให้จ่ายในอัตรา 10% พอกระโดดขึ้นมาเป็น 100% ก็ต้องยอมรับว่าส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการสูงมาก เนื่องจาก
ขณะนี้ธุรกิจโรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวมถึงยังไม่ฟื้นตัวกลับมา ทำให้แม้ต้องจ่ายภาษีที่ 10% แต่ผู้ประกอบการบางรายก็ยังไม่สามารถจ่ายไหว ประกอบกับมีข้อเสนอถึงนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้พิจารณาจัดเก็บรายได้จากภาษีและค่าธรรมเนียม 3 ประเภทเพิ่มเติม คือ
1)ภาษียาสูบ จัดเก็บอัตรา 10 สตางค์ต่อมวน
2)ภาษีที่พักและโรงแรม 3% ของค่าเช่า และ
3)ภาษีน้ำมันจะจัดเก็บเพิ่มจาก 5 สตางค์ต่อลิตร เป็น 10 สตางค์ต่อลิตร
โดยในปี 2565 ยืนยันว่ายังไม่ควรเก็บภาษีเพิ่มทุกรายการ เนื่องจากรัฐบาลควรสร้างเศรฐกิจก่อน หลังจากนั้นจึงกลับมาเก็บภาษีอีกครั้งก็ได้
“ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รายได้ของธุรกิจโรงแรมหายไปจนหมด แบบไม่ต้องพูดถึงผลกำไร รวมถึงยังมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นในส่วนของต้นทุนที่มีมากกว่าเดิมด้วย ทำให้ผู้ประกอบการโรงแรมต้องกู้สินเชื่อจากธนาคาร ซึ่งดอกเบี้ยที่ต้องเสียเพิ่มก็ดันให้เกิดค่าใช้จ่ายแบบรอบด้านจริงๆ โดยขณะนี้ตัวภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่จะเก็บในอัตรา 100% ก็เริ่มมีการเรียกเก็บเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งถือเป็นประเด็นใหญ่ของผู้ประกอบการโรงแรมที่อยากขอเรียกร้องให้รัฐบาลผ่อนคลายการเรียกเก็บ เพื่อประทังชีวิตให้อยู่รอดต่อไปได้ เพราะตอนนี้ยังไม่รอด และก็เป็นความกังวลหลักของธุรกิจโรงแรมด้วย” นางมาริสากล่าว
นางมาริสากล่าวว่า สำหรับข้อเสนอแนวทางเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อลดผลกระทบต่อธุรกิจนั้น อยากขอให้ขยายการลดหย่อนภาษีไปอย่างน้อย 1-2 ปี หรือจนกว่าเศรษฐกิจและธุรกิจจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ปรับปรุงเงื่อนไขในการจัดเก็บภาษี โดยพิจารณาอ้างอิงจากประเภทธุรกิจ รวมถึงรายได้ของธุรกิจมาคำนวณในการจัดเก็บเพื่อความเป็นธรรม ที่สำคัญคือ อยากให้จัดเก็บในรูปแบบขั้นบันได เพื่อให้สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อาทิ ทยอยเก็บเพิ่มขึ้นปีละ 5-10%
นางมาริสากล่าวว่า ความกังวลอีกเรื่อง คือ การฟื้นตัวกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่จำนวนยังไม่มากพอในการตอบสนองซัพพลาย หรือจำนวนโรงแรมในประเทศไทยได้ทั้งหมด โดยต้องยอมรับว่า ศักยภาพของโรงแรมแต่ละรายไม่เท่ากัน ทำให้แม้มีโรงแรมบางรายสามารถมีรายได้มากกว่ารายอื่นๆ แต่รวมแล้วผลประกอบการไม่ได้มีกำไรเหมือนช่วงปกติ ซึ่งตอนนี้สิ่งที่รัฐบาลควรคำนึงถึงมากที่สุดคือ การพยายามช่วยให้โรงแรมที่รอดและยังยืนอยู่ไหว ให้สามารถยืนต่อไปได้ เพราะหมายถึงการจ้างงานที่ยังคงอยู่ด้วยเช่นกัน
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 6 มิถุนายน 2565