กทม. พร้อมถอดหน้ากากในที่โล่งหรือไม่ ทำไมต้องรอ ศบค.
กทม. ยังไม่อนุญาตให้ถอดหน้ากากในที่โล่ง ขณะที่วันนี้ (6 มิถุนายน) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับคณะผู้บริหาร กทม. นัดแรก ซึ่งก่อนหน้านี้มีข่าวว่าเตรียมหารือเรื่องการถอดหน้ากากในที่โล่ง และการขยายเวลาเปิดผับ บาร์ และสวนสาธารณะ ทว่าภายหลังการประชุม ชัชชาติกล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโควิดมีแนวโน้มดีขึ้น น่าจะผ่อนคลายได้มากขึ้น แต่เรื่องการถอดหน้ากากต้องยึด ศบค. เป็นหลัก
กทม. พร้อมถอดหน้ากากในที่โล่งหรือไม่ ถ้าถอดแล้วจะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจริงไหม และทำไมเรื่องนี้ต้องรอ ศบค. ตัดสินใจ
การสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันโรค :
การสวมหน้ากากก่อนออกจากบ้านกลายเป็นความเคยชินของหลายคน เพราะปฏิบัติติดต่อกันมาตั้งแต่เริ่มมีการระบาดเมื่อ 2 ปีก่อน และเป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันโรค DMHTT และมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (COVID-FREE Setting) ของกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้การสวมหน้ากากในสถานที่สาธารณะยังเป็นคำสั่งตามกฎหมายตามมาตรา 34 (6) แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ห้ามผู้ใดกระทำการซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะอีกด้วย
แต่ในระลอกของสายพันธุ์โอมิครอน ไวรัสมีความรุนแรงลดลง และประชาชนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ทำให้ความรุนแรงของโรคลดลง (ปัจจุบันจำนวนผู้เสียชีวิตเฉลี่ยในรอบ 1 สัปดาห์ วันละประมาณ 30 คน และอัตราป่วยเสียชีวิต 0.4%) และแนวโน้มการระบาดอยู่ในช่วงขาลง (จำนวนผู้ป่วยเฉลี่ยวันละประมาณ 3,500 คน) ประกอบกับการผ่อนคลายกิจกรรม/กิจการต่างๆ ตามนโยบาย ‘โรคประจำถิ่น’ หลายคนจึงต้องการให้ผ่อนคลายมาตรการสวมหน้ากากในสถานที่สาธารณะด้วย
ความเสี่ยงของการระบาดในที่โล่งแจ้ง :
โควิดติดต่อผ่าน 2 ช่องทางหลัก คือ ละอองสารคัดหลั่งขนาดใหญ่ เช่น ละอองน้ำลายจากการพูดคุย ละอองเสมหะจากการไอจามในระยะ 1-2 เมตร และละอองสารคัดหลั่งขนาดเล็กที่สามารถลอยในอากาศได้ไกลกว่า 2 เมตร แต่มักเกิดขึ้นในสถานที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เช่น ห้องปรับอากาศ รถโดยสารสาธารณะ ดังนั้นองค์การอนามัยโลกจึงสรุปปัจจัยเสี่ยงต่อการระบาดของโควิดเป็นตัวย่อ 3C และสถานที่เสี่ยงสูงคือสถานที่ที่มี 3 ปัจจัยนี้ร่วมกัน ได้แก่
* สถานที่แออัด (Crowded Places) ที่มีคนอยู่จำนวนมาก
* การสัมผัสใกล้ชิด (Close-Contact Settings) โดยเฉพาะในระยะพูดคุยกัน
* พื้นที่ปิดอับ (Confined and Enclosed Spaces) ที่การระบายอากาศไม่ดี
ในขณะที่สถานที่โล่ง เช่น พื้นที่นอกอาคาร สวนสาธารณะ ไม่เข้าข่ายนี้ รวมถึงทางเดินหรือทางเท้าที่คนไม่พลุกพล่าน จะถือว่ามีความเสี่ยงต่ำต่อการระบาด เพราะคนไม่อยู่ใกล้ชิดกัน สามารถเดินเลี่ยงกันได้ และใช้เวลาไม่นาน อีกทั้งยังเป็นพื้นที่เปิด อากาศถ่ายเทสะดวก หากสังเกตคำแนะนำการสวมหน้ากากในต่างประเทศ หรือแม้แต่องค์การอนามัยโลก จะเน้นที่การสวมหน้ากากในสถานที่ปิดภายในอาคาร ส่วนสถานที่นอกอาคารแนะนำให้กรณีที่ไม่สามารถเว้นระยะห่างจากผู้อื่นได้
ตรงกันข้ามสถานที่เสี่ยงต่อการระบาดคือ สถานศึกษา สถานที่ทำงาน ระบบขนส่งมวลชน ร้านอาหารที่ติดเครื่องปรับอากาศ (ยิ่งไม่สามารถสวมหน้ากากตลอดเวลาได้) และที่เพิ่มขึ้นมาในช่วงนี้คือ สถานบันเทิง หากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลังจากผ่อนคลายมาตรการก็ไม่น่าจะเป็นผลมาจากสถานที่โล่งแต่อย่างใด ที่กล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าต้องปิดสถานบันเทิงต่อ เพียงแต่ในเมื่อภาครัฐยอมรับความเสี่ยงจากสถานที่เสี่ยงสูงได้ การป้องกันโรคในสถานที่เสี่ยงต่ำก็น่าจะ ‘ไม่มีความจำเป็น’
การสวมหน้ากากควรเป็น ‘การบังคับ’ หรือ ‘ทางเลือก’ :
โควิดถูกประกาศให้เป็น ‘โรคติดต่ออันตราย’ เมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2563 จึงทำให้มี ‘การบังคับ’ ใช้กฎหมายในการควบคุมโรคหลายมาตรการ ไม่ว่าจะเป็นการแยกกักผู้ติดเชื้อ การกักกันผู้สัมผัส รวมถึงการสวมหน้ากากอนามัยในสถานที่สาธารณะ แต่เมื่อเวลาผ่านไปไวรัสมีการกลายพันธุ์ มนุษย์มีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อและการฉีดวัคซีน และคิดค้นยารักษาได้แล้ว โควิดจึงอาจไม่ใช่โรคติดต่ออันตรายเหมือนเดิม หรือเมื่อชั่งน้ำหนักกับผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ มาตรการเหล่านั้นก็อาจไม่มีความจำเป็น
สำหรับการสวมหน้ากาก เดิมเป็นเพียง ‘ทางเลือก’ สำหรับผู้ที่มีอาการป่วย ต่อมาเป็น ‘ทางเลือก’ สำหรับทุกคน เพราะมีหลักฐานว่าผู้ติดเชื้อโควิดแพร่เชื้อในขณะที่ยังไม่มีอาการได้ หน้ากากจึงป้องกันทั้งการติดเชื้อและการแพร่เชื้อให้กับผู้อื่น จนกระทั่งระลอกสายพันธุ์เดลตาจึงมี ‘การบังคับ’ ให้สวมหน้ากากในสถานที่สาธารณะ (กทม. ประกาศให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้งตลอดเวลาที่ออกนอกเคหสถานหรือสถานที่พำนัก เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2564)
ดังนั้นเมื่อสถานการณ์การระบาดดีขึ้น การสวมหน้ากากก็สามารถกลับไปเป็น ‘ทางเลือก’ เหมือนปี 2563 ได้ โดยอาจแนะนำเฉพาะ ‘บุคคล’ กลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หรือ ‘สถานที่’ เสี่ยงต่อการระบาด เช่น ระบบขนส่งสาธารณะ พื้นที่ปิดภายในอาคาร เพื่อป้องกันการระบาดเป็นคลัสเตอร์ ทั้งนี้ภาครัฐจะต้องสื่อสารให้ชัดเจนว่าเป็นการยกเลิกการ ‘บังคับ’ แต่ฝั่งสาธารณสุขยังคงแนะนำการสวมหน้ากากในบางกรณีตามหลักวิชาการ
แผนโรคประจำถิ่นของกระทรวงสาธารณสุข :
การผ่อนคลายมาตรการสวมหน้ากากอยู่ในแผนและมาตรการการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิดสู่โรคประจำถิ่น (Endemic Approach to COVID-19) ของกระทรวงสาธารณสุข ที่ ศบค. เห็นชอบเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2565 โดยในระยะ Post-Pandemic (1 กรกฎาคมเป็นต้นไป) จะปรับเปลี่ยนจาก ‘ทุกคน’ สวมหน้ากาก 100% เป็น ‘กลุ่มเสี่ยงหรือผู้ติดเชื้อ’ สวมหน้ากาก 100% แทน แต่เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการอื่นเร็วขึ้น ก็อาจเห็นการผ่อนคลายเรื่องการสวมหน้ากากเร็วขึ้นด้วย
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงเรื่องการเตรียมปรับมาตรการสวมหน้ากากว่า จะดำเนินการในพื้นที่นำร่องที่มีความพร้อมตามเกณฑ์ คือ มีสถานการณ์ระบาดในระดับต่ำ มีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้ตามเกณฑ์ และระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยของสถานพยาบาลในพื้นที่มีความพร้อม โดยจะออกคำแนะนำให้มีการสวมหน้ากากใน 3 กลุ่ม ได้แก่
* กลุ่มผู้ป่วย หรือกลุ่มเสี่ยง 608
* ผู้ที่อยู่ในสถานที่ปิด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก
* ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก
ทว่าต่อมาวันที่ 30 พฤษภาคม โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกลับชี้แจงสื่อมวลชนว่า ขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีนโยบายให้ถอดหน้ากากในสถานที่สาธารณะ เท่ากับว่า ศบค. ยังไม่มีความชัดเจนในประเด็นนี้ และน่าจะเป็นต้นเหตุของความสับสนที่จังหวัดภูเก็ต
เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตออกคำสั่งจังหวัดภูเก็ต เรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ระบุว่า เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับมาตรการด้านสาธารณสุขและรองรับการเปิดประเทศ จึงสวมควรผ่อนคลายเกี่ยวกับ ‘การมิให้ประชาชนกระทำการซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะโดยการไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า’ ยกเว้นการสวมหน้ากากใน 4 กรณี ได้แก่
* รับประทานอาหารหรือเครื่องดื่ม
* ยืนยันตัวตนกับเจ้าหน้าที่รัฐ
* ออกกำลังกาย
* อยู่ในที่บริเวณโล่งแจ้งที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก บริเวณชายหาด สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬา ซึ่งห่างจากบุคคลอื่นไม่ต่ำกว่า 2 เมตร
ซึ่งคงเป็นข้อเสนอของภาคธุรกิจในพื้นที่ และน่าจะได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี โดยเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป ทว่าวันถัดมา (2 มิถุนายน) ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตกลับยกเลิกประกาศเดิม แล้วประกาศข้อยกเว้นใหม่ โดยตัดกรณีการถอดหน้ากากในสถานที่โล่งออก
ทำไมต้องรอ ศบค. ตัดสินใจ?
หลายคนอาจสงสัยเหมือนกันว่าการถอดหน้ากากในสถานที่โล่ง ทั้งกรณี กทม. และภูเก็ต รวมถึงจังหวัดอื่นๆ ต้องรอ ศบค. หรือไม่ หรือพูดอีกอย่างคือ ประเด็นนี้สามารถกระจายอำนาจให้แต่ละจังหวัดตัดสินใจได้หรือไม่ เพราะในทางกฎหมาย การออกคำสั่งบังคับให้สวมหน้ากากเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ในทางสังคมเป็นความเห็นพ้องต้องกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในจังหวัด และสถานที่โล่งเป็นสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่ำในทางระบาดวิทยา
คำถามที่ตามมาคือ เส้นแบ่งระหว่างการรวบอำนาจและกระจายอำนาจในการควบคุมโรคอยู่ตรงไหน ประเด็นอะไรอีกบ้างที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือแม้แต่กระทรวงสาธารณสุขไม่จำเป็นต้องรอ ศบค. ชุดเล็ก/ชุดใหญ่ ซึ่งเป็นโครงสร้างในสถานการณ์ฉุกเฉิน ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อโควิดกำลังจะเป็นโรคประจำถิ่น และไม่ใช่โรคติดต่ออันตราย พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังจำเป็นอยู่หรือไม่ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ฉบับปรับปรุง พร้อมนำกลับมาใช้แล้วหรือยัง
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 6 มิถุนายน 2565