"ดอน" นำคณะชุดใหญ่เยือนซาอุฯ ก้าวแรกของโอกาสและความร่วมมือ (จบ)

ช่วงเวลาเพียง 4 วันในซาอุดีอาระเบีย จากกรุงริยาด ไปยังเมืองอัลอูลา เมืองท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ในยุคเดียวกับเมืองเพตราของจอร์แดน ซึ่งเป็นมรดกโลกแห่งแรกของซาอุฯ จบที่เมืองเจดดาห์ ศูนย์กลางทางธุรกิจสำคัญที่สุดของประเทศ ทำให้คณะผู้แทนไทยเกือบ 140 คน ที่เดินทางไปพร้อมกับ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เห็นซาอุฯในมิติที่หลากหลาย รวมทั้งยังทำให้ได้เห็นศักยภาพและโอกาสอันเปิดกว้างของซาอุฯ ที่มาพร้อมกับวิสัยทัศน์ 2030 ซึ่งเป็นแผนปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมซาอุฯ แบบรอบด้านของ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซิซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุฯ เพื่อพัฒนาประเทศโดยลดการพึ่งพาน้ำมัน
 
ต้องยอมรับว่า Saudi Vision 2030 เป็นการวางแนวทางการพัฒนาประเทศของซาอุฯ ที่เป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกด้วยการปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย ท่ามกลางความพยายามของนานาประเทศในการลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดผลกระทบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก แม้ในความเป็นจริงทุกฝ่ายจะตระหนักว่าการลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลอาจต้องใช้เวลาอีกพอสมควร 
 
แต่การที่ซาอุฯ กล้าที่จะปรับตัวโดยลดการพึ่งพาน้ำมันที่เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญอันดับหนึ่งของประเทศ ก็สะท้อนให้เห็นถึงแนวทางในการพัฒนาที่เปี่ยมวิสัยทัศน์ ประกอบกับซาอุฯ เป็นมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในตะวันออกกลาง การใช้เงินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์กับการพัฒนาประเทศอย่างสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายในการตั้งเป้าให้ซาอุฯ กลายเป็นนักลงทุนรายใหญ่ของโลก การนำเม็ดเงินมหาศาลที่มีมาจัดตั้ง Private Investment Fund (PIF) เพื่อลงทุนในกิจการมากมายตั้งแต่การท่องเที่ยว การพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ และกิจการเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน ล้วนแต่ทำให้เห็นว่า ซาอุฯ ไม่เพียงแต่มีเงิน แต่ยังใช้เงินเป็นอีกด้วย
 
การไปเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี King Abdullah University of Science and Technology (KAUST) และเขตเศรษฐกิจพิเศษ King Abdullah Economic City (KAEC) ยังทำให้เห็นถึงแนวทางในการพัฒนาประเทศสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ 2030 ซาอุฯ มุ่งเน้นการพัฒนาทุนมนุษย์ ซึ่งถือเป็นต้นทุนสำคัญที่สุดสำหรับการพัฒนาในทุกประเทศ ขณะที่ในงานใหญ่ๆ ที่มีการจัดขึ้นเพื่อรับคณะผู้แทนไทย จะเห็นได้ว่าในหลายเวทีจะมีสตรีเข้ามาช่วยประสานงาน เป็นผู้ดำเนินรายการ หรือมาบรรยายให้ข้อมูลต่างๆ ที่แสดงให้เห็นผ่านการกระทำว่า สตรีซาอุฯ ในขณะนี้กลายเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่เข้ามามีบทบาทขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยเช่นกัน
 
ซาอุฯ ได้จัดให้คณะผู้แทนไทยไปเยี่ยมชมเมืองอัลอูลา ที่เป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและโบราณคดีที่งดงามและน่าสนใจมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ แม้จะมีเวลาอยู่ในเมืองอัลอูลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง และสิ่งที่เราได้เห็นจะเป็นเพียงบางส่วนของสถานที่ท่องเที่ยวมากมายอันน่าประทับใจในเมืองนี้ แต่ก็ทำให้ได้เห็นถึงศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของอัลอูลาที่มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม ใครที่มีความฝันอยากจะชมเมืองเพตราให้ได้สักครั้งในชีวิต อัลอูลาคือเมืองที่ต้องปักหมุดหมายห้ามพลาดสำหรับนักเดินทางที่อยากไปสัมผัสอารยธรรมอันงดงามบนโลกใบนี้ด้วยเช่นกัน
 
นายสรจักร บูรณะสัมฤทธิ เอกอัครราชทูต ณ กรุงมาปูโต ประเทศโมซัมบิก ปฏิบัติราชการที่สถานกงสุลใหญ่ (สกญ.) ณ เมืองเจดดาห์ ให้มุมมองของคนซาอุฯ ที่มีต่อประเทศไทยว่า คนซาอุฯ ทั้งภาคประชาชนและภาคเอกชนยังจดจำภาพที่ดีในอดีตของคนไทยรวมถึงแรงงานไทยเมื่อ 30 กว่าปีที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ คนซาอุฯ ยังนิยมชมชอบในคุณภาพของสินค้าไทยในตลาด และชื่นชมประเทศไทยทั้งในด้านการท่องเที่ยว การพัฒนาทางเศรษฐกิจอยู่ลึกๆ
 
การเยือนของท่านดอนและคณะผู้แทนฝ่ายไทย ได้ก่อให้เกิดความตื่นเต้นยินดีในส่วนของภาคประชาชนซาอุฯ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจที่มีความสนใจอยากร่วมมือทางธุรกิจกับประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ของสกญ. ได้แก่เมืองเจดดาห์ และภาคตะวันตกของซาอุฯ ซึ่งสภาพสังคมเป็นแนวธุรกิจ เมืองท่า เมืองค้าขายมาจากในอดีตหลายร้อยปี นอกจากนี้ สังคมซาอุฯ กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่วิสัยทัศน์ 2030 จึงมีความต้องการความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการลงทุนจากต่างประเทศอย่างมาก
 
สำหรับซาอุฯ ไทยอาจมิใช่ประเทศที่มีเงินมาลงทุน แต่ก็เป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลายที่ฝ่ายซาอุฯ ประสงค์จะร่วมมือ ทั้งในด้านการ Hospitality ที่ตอบสนองนโยบายด้านท่องเที่ยว ด้านเกษตรและปศุสัตว์ ที่สามารถตอบสนองนโยบายความมั่นคงทางอาหาร ตลอดจนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมขนาดกลางและเล็กหรือเอสเอ็มอี ที่ตอบสนองนโยบายสร้างอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ
 
อย่างไรก็ตามท่านทูตสรจักรเห็นว่า ซาอุฯ ยังคงมีผู้ที่ยังติดอยู่ภาพเก่าๆ ของไทยเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว ในฐานะประเทศที่มีแรงงานราคาถูกที่เข้ามาทำงานในซาอุฯ ซึ่งเป็นปัญหาที่เราต้องพยายามเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของไทยดังกล่าว ให้กลายเป็นภาพใหม่ในฐานะประเทศที่เป็นหุ้นส่วนในระดับเดียวกันกับซาอุฯ ที่พร้อมจะจับมือก้าวไปด้วยกัน โดยเน้นการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาในสาขาที่เราสามารถสนับสนุนซาอุฯ ได้ ในขณะเดียวกันก็สร้างความมั่นใจให้ซาอุฯ ในฐานะประเทศที่มีเงินทุนสำรองจำนวนมาก ให้มั่นใจที่จะสนับสนนไทยในฐานะมิตรประเทศที่เท่ากัน ในการลงทุนเม็ดเงินเพื่อสนับสนุนการพัฒนาของประเทศไทย รวมถึงโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทยในฐานะพันธมิตรระหว่างกันต่อไป
 
ในการเยือนครั้งนี้ นายดอนยังได้หารือกับ เจ้าชายฟัยศ็อล บิน ฟัรฮาน อัลซะอูด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ โดยทั้งสองประเทศสามารถบรรลุข้อยุติในร่างแผนการขับเคลื่อนและส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีไทย-ซาอุฯ และร่างบันทึกความเข้าใจการจัดตั้งสภาความร่วมมือซาอุฯ-ไทย ซึ่งจะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างกัน โดยจะมีรัฐมนตรีต่างประเทศของทั้ง 2 ฝ่ายเป็นประธาน 
 
นอกจากนี้ยังเห็นพ้องในหลักการที่จะให้มีการจัดทำความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง (วีซ่า) ทางการทูตและราชการระหว่างกัน ขณะที่ฝ่ายซาอุฯรับที่จะไปพิจารณาดำเนินการในเรื่องการให้ความช่วยเหลือ 800 คนไทยที่อยู่ในซาอุฯเกินวีซ่า ทั้งนี้ เจ้าชายฟัยศ็อลจะเสด็จฯ เยือนไทยในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อเตรียมการสำหรับการเสด็จฯ เยือนไทยขององค์มกุฎราชกุมารซาอุฯ ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ขณะที่คณะนักธุรกิจซาอุฯ ชุดใหญ่จากกรุงริยาดก็มีกำหนดจะเดินทางเยือนไทยในเดือนกรกฎาคมนี้ด้วย
 
โอกาสสำหรับความร่วมมือและการเพิ่มพูนการค้าการลงทุนระหว่างไทย-ซาอุฯ ยังมีอยู่อีกมาก หากดูจากตัวเลขการค้าระหว่างสองประเทศที่มีอยู่ในปัจจุบัน มูลค่าการค้าระหว่างกันอยู่ที่ 7,303.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการส่งออก 1,638.67 ล้านดอลลาร์ และนำเข้า 5,662.69 ล้านดอลลาร์ ปัจจุบันไทยอยู่ในประเทศลำดับที่ 12 ที่มีการการนำเข้าสินค้าไปยังซาอุฯ ด้วยสัดส่วนการนำเข้าเพียง 1.7% ขณะที่มีการส่งออกสินค้าจากซาอุฯ มาไทยเพียง 0.4% โดยไทยอยู่ในลำดับที่ 19 ขณะที่มีนักท่องเที่ยวไทยไปซาอุฯ 76,766 คนในปี 2562 และมีนักท่องเที่ยวซาอุฯ มาเยือนไทย 467 คนในปี 2564 เมื่อทั้งสองประเทศฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างการ การค้าขายและการเดินทางไปมาระหว่างภาคประชาชนก็ย่อมต้องเพิ่มขึ้นตามมา
 
“ภาพใหญ่ของการเดินทางคราวนี้แสดงให้เห็นว่าต่างมีความมุ่งมั่นและความปรารถนาที่จะเดินหน้าต่อไปในการสานสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดประโยชน์เต็มที่ในทุกๆ ด้าน ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนใน 65 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-ซาอุฯ เขาตระหนักว่าเราสามารถเป็นมิตรที่ดี เป็นคู่ค้า และเป็นหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจของเขาได้ และเขาไม่ต้องการให้ความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ ดำเนินไปในระดับที่ต่ำกว่ามาตรฐานนี้ ทุกภาคส่วนของเราต้องช่วยกัน เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูความสัมพันธ์ เราต้องเห็นและต้องรู้ว่าคุณค่าอยู่ที่การรักษามาตรฐานของเราในการติดต่อกับซาอุฯ ให้ได้ด้วย”นายดอนกล่าว
 
แน่นอนว่าคำกล่าวของนายดอน รวมถึงสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของการเยือนครั้งนี้จากถ้อยคำของนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ไม่ใช่เรื่องเกินจริง แต่สิ่งที่เราต้องตระหนักคือโอกาสดีๆ เช่นนี้ไม่ได้คงอยู่ตลอดไป ความร่วมมือระหว่างไทย-ซาอุฯ หลังจากนี้ไม่เพียงแต่เป็นโอกาสที่เปิดกว้างหลังการฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่ชะงักงันมานานกว่า 32 ปี แต่ก็ต้องตั้งอยู่บนความจริงใจที่จะทำให้ความร่วมมือต่างๆ เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของทั้งสองประเทศอย่างแท้จริงด้วยเช่นกัน
 
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 7 มิถุนายน 2565 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)