"ตุรกี" แปลงร่างเป็น "ตุรเคีย" รีแบรนดิ้งประเทศ
"ตุรกี" เป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์กับประเทศไทยมาช้านานมีการติดต่อค้าขายระหว่างกันย้อนกลับไปได้ถึงยุคของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา
ปัจจุบันความสัมพันธ์ไทยและตุรกีพัฒนาขึ้นในทุกมิติ โดยในปีนี้นับเป็นปีที่ทั้งสองชาติสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันครบรอบ 64 ปีแล้ว
ล่าสุดชื่อ “สาธารณรัฐตุรกี” (Republic of Turkey) ที่คนไทยรู้จักตั้งแต่เมื่อเกือบ 100 ปีก่อน จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป สินค้านำเข้าจากตุรกี ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร อุปกรณ์ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ และอื่นๆ อีกมากมาย จะไม่ใช่สินค้า “เมดอินตุรกี” (Made in Turkey) อีกต่อไป
เพราะนับจากนี้ไป “สาธารณรัฐตุรกี” จะเป็นที่รู้จักกันในนาม “สาธารณรัฐตุรเคีย” (Republic of Turkiye) อย่างเป็นทางการ หลังจากทางการตุรกีส่งหนังสือถึงสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา ร้องขอให้เปลี่ยน “ชื่อเรียก” ประเทศจากเดิมที่ใช้คำว่า “ตุรกี” (Turkey) ให้เป็นคำว่า “ตุรเคีย” (Turkiye) ในการเอ่ยถึง “ประเทศตุรกี” ต่อไปในอนาคต
สเตฟาน ดูฌาร์ริก โฆษก นายอันตูนิอู กุแตเรซ เลขาธิการยูเอ็นระบุว่า การเปลี่ยนแปลงจะ “มีผลในทันที” นับตั้งแต่สำนักงานใหญ่ยูเอ็น ในมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้รับจดหมายในวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา นั่นหมายถึง “ตุรเคีย” จะถูกใช้แทนที่ “ตุรกี” สื่อสารในทุกช่องทางของหน่วยงานยูเอ็นต่อไป
การเปลี่ยนชื่อประเทศถือเป็นเรื่องใหญ่ที่มักมีให้เห็นไม่บ่อยนัก โดยในกรณีของ “ตุรกี” นั้นถูกมองว่าเป็นความพยายามในการปรับภาพลักษณ์ของประเทศเพราะชื่อ “ตุรกี”นั้นพ้องกับคำที่ถูกใช้เรียก “ไก่งวง” (turkey) สัตว์ปีกขนาดใหญ่ที่ชาวอเมริกันใช้ทำอาหารในเทศกาลขอบคุณพระเจ้า และยังมีความหมายในภาษาอังกฤษที่ไม่ค่อยดีนัก
คำว่า “ตุรกี” นั้นในอดีตใช้อธิบายถึง “ดินแดนที่ยึดครองโดยชาวเติร์ก” (Turk) หรือหมายถึง “จักรวรรดิออตโตมัน” ย้อนไปได้ถึงช่วงศตวรรษที่ 13
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลงพร้อมกับการล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมัน “สาธารณรัฐตุรกี” ก็ถือกำเนิดขึ้นและใช้ชื่อเรียกพื้่นที่เดิมอย่าง “ตุรกี” มาเป็นชื่อประเทศตั้งแต่ปี ค.ศ.1923 เป็นต้นมา
สำหรับไก่งวง (Turkey) ที่รู้จักในสหรัฐอเมริกา เป็นสัตว์ปีกในกลุ่มไก่ฟ้าและนกกระทา เป็นนกบินไม่ได้ที่อยู่ในสกุล “เมเลียกริส” (Meleagris) มีถิ่นอาศัยในทวีปอเมริกาเหนือมาอย่างยาวนานถึง 20 ล้านปีแล้ว
ที่มาของคำศัพท์เรียก “ชื่อนก” ชนิดนี้ที่พ้องกับชื่อประเทศตุรกีเกิดขึ้นเพราะนก “กินีฟาวล์” (guinea fowl) นกอีกชนิดที่มีลักษณะคล้ายกันซึ่งมีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา
จักรวรรดิออตโตมันส่งออก “กินีฟาวล์” ไปยังภูมิภาคยุโรป นั่นส่งผลให้ชาวยุโรปเริ่มเรียกนก “กินีฟาวล์” ว่า “ไก่ตุรกี” (turkey cock/turkey hen) นับตั้งแต่นั้น
หลังจากนั้นมีการส่งออกนก “เมเลียกริส” ที่มีหน้าตาคล้ายกันจากชาติอาณานิคมในอเมริกาเหนือนำเข้าไปยังยุโรปด้วย ส่งผลให้ “เมเลียกริส” ถูกเรียกว่า “ไก่ตุรกี” ไปด้วยเช่นกัน และชื่อนี้ก็ถูกใช้ต่อเนื่องเรื่อยมาจนกระทั่งสหรัฐอเมริกาถือกำเนิดขึ้น
สำหรับเหตุผลที่ต้องเปลี่ยนเป็น “ตุรเคีย” นั้นสื่อของรัฐบาลตุรกีอย่าง “ทีอาร์ที” ระบุว่าในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา ชาวยุโรปเอ่ยถึงพื้นที่นี้ซึ่งเคยเป็น “รัฐออตโตมัน” ว่า “ตุรเคีย” และว่าประเทศนี้ถูกเรียกต่างไปในหลากหลายภาษาทั้ง “เตอร์เควีย” (Turquia) ในภาษาละติน และที่นิยมที่สุดก็คือ “ตุรกี” (Turkey) ในภาษาอังกฤษ
นอกจากนี้ “ทีอาร์ที” ยังรายงานไว้ในบทความเมื่อต้นปีที่ผ่านมาด้วยว่า ผลการค้นหาชื่อประเทศ “ตุรกี” ใน “กูเกิล” นั้นทำให้พบกับรูปภาพ บทความ ที่สับสนวุ่นวาย รวมไปถึงความหมายตามพจนานุกรมภาษาอังกฤษสื่อความถึงนก “เมเลียกริส” หรือ “ไก่งวง” เมนูที่ถูกเสิร์ฟในเทศกาลขอบคุณพระเจ้าในช่วงคริสต์มาส
ยิ่งกว่านั้น ตุรกีในภาษาอังกฤษยังมีความหมายที่ไม่ดีนักใน “ดิกชันนารี เคมบริดจ์” ดิกชันนารีภาษาอังกฤษชื่อดังที่ให้ความหมายว่า “อะไรก็ตามที่ล้มเหลวอย่างรุนแรง” หรือ “คนโง่” ด้วย
รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกีระบุว่ากระบวนการเปลี่ยนชื่อประเทศเพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่นั้นเริ่มขึ้นตั้งแต่ในเดือนธันวาคมปี ค.ศ.2021 ที่ผ่านมาแล้ว โดย ประธานาธิบดีเรเจป เตยิป แอร์โดอาน ของตุรกี ออกแถลงการณ์ในเวลานั้นว่าคำว่า “ตุรเคีย” นั้นเป็นตัวแทนและการแสดงออกถึงวัฒนธรรม, อารยธรรม และคุณค่าของชาวตุรกีในทางที่ดีที่สุด
นับแต่นั้นประธานาธิบดีตุรกีเริ่มสั่งการให้เปลี่ยนชื่อประเทศบนป้าย “ต้นกำเนิดสินค้า” จาก “เมดอินตุรกี” เป็น “เมดอินตุรเคีย” ไปแล้ว ขณะที่การท่องเที่ยวตุรกีออกแคมเปญโปรโมตการท่องเที่ยว สร้างการรับรู้โดยใช้ “แท็กไลน์” ว่า “สวัสดีตุรเคีย” (Hello Turkiye) เสริมเข้าไปอีก
ความพยายามของรัฐบาลตุรกีในครั้งนี้แม้จะได้รับเสียงสนับสนุนจากกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลและกลุ่มชาตินิยม แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเช่นกันว่าเป็นความพยายาม “หาเสียง” เพื่อเรียกคะแนนนิยมให้กลับคืนมา ก่อนหน้าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีหน้า
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า คะแนนนิยมของพรรครัฐบาลตุรกี ตกต่ำลงเรื่อยๆ มาอยู่ในระดับ 33 เปอร์เซ็นต์ ลดลงจาก 42.6 เปอร์เซ็นต์ในปี ค.ศ.2018 โดยเฉพาะในเวลานี้ที่รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากปัญหาเศรษฐกิจ ผลจากการขาดดุลการค้า และอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นถึง 73.5 เปอร์เซ็นต์ ทำสถิติสูงที่สุดในรอบ 22 ปี
ก่อนหน้านี้ แอร์โดอาน เคยใช้กลยุทธ์ประชานิยมแบบนี้มาแล้ว ในปี ค.ศ.2020 ด้วยการผ่านกฎหมายเปลี่ยนให้พิพิธภัณฑ์ “ฮาเกียโซเฟีย” มหาวิหารจากยุคไบเซนไทน์ ในนครอิสตันบูล ให้กลายเป็น “มัสยิด” สำหรับชาวมุสลิมในตุรกีที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนชื่อประเทศนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายประเทศเคยทำมาก่อนแล้วไม่ว่าจะเป็น “เนเธอร์แลนด์” ที่ประกาศเลิกใช้คำว่า “ฮอลแลนด์” (Holland) อย่างเป็นทางการในปี 2020 เพื่อปรับภาพลักษณ์เดิมที่ถูกโยงเข้ากับย่านโคมแดงในกรุงอัมสเตอร์ดัมและเรื่องการใช้กัญชาในประเทศ
สาธารณรัฐมาซิโดเนีย ก็เปลี่ยนชื่อประเทศเป็น “สาธารณรัฐนอร์ธมาซิโดเนีย” อย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.2019 เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองกับ “กรีซ” ขณะที่ “อิหร่าน” ก็เพิ่งเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “เปอร์เซีย” เมื่อปี ค.ศ.1953
เช่นเดียวกัน “โรดีเซีย” ที่เปลี่ยนชื่อเป็น “ซิมบับเว”, “ซีลอน” เปลี่ยนชื่อเป็น “ศรีลังกา” เพื่อละทิ้งมรดกของการตกเป็นอาณานิคมลงไป เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ก็เปลี่ยนชื่อจาก “สยาม” ให้เป็น “ไทยแลนด์”
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 7 มิถุนายน 2565