"5 ทักษะใหม่" เขย่า "เศรษฐกิจดิจิทัล" - จับตา Gen Z ครองตำแหน่งงานทักษะอนาคต
เปิด 5 ทักษะใหม่ เขย่าตำแหน่งงานยุคเศรษฐกิจดิจิทัล “เวิลด์ อิโคโนมิค ฟอรั่ม” ประเมิน ปี 68 โลกต้องการแรงงานดิจิทัล 5 สาขา กว่า 149 ล้านคน จับตา "เจนแซด' ครองแชมป์งานทักษะใหม่ - ‘เอคเซนเชอร์’ เดินหน้าตั้งศูนย์แอดวานซ์ เทคโนโลยี ปลุกสกิลโลกใหม่
“ทักษะงาน” ในโลกยุคที่ไม่เหมือนเดิม กลายเป็นโจทย์ใหญ่ท้าทายองค์กรธุรกิจ ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนให้สอดคล้องกับบริบทของโลก และธุรกิจที่เปลี่ยนไป
การประชุม เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม ที่เมืองดาวอส เมื่อเร็วๆ นี้ หนึ่งในประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมา คือ “ทักษะงานในอนาคต” วิกฤติโรคระบาดเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนไปใช้ดิจิทัล นั่นทำให้โลกต้อง “ปรับทักษะครั้งใหญ่” นอกจากรองรับเศรษฐกิจดิจิทัลแล้ว ยังช่วยให้การเยียวยาเศรษฐกิจโลกพลิกฟื้นเร็วขึ้น การขาดแคลนทักษะดิจิทัล ยังส่งผลต่อยุทธศาสตร์โลกสีเขียวที่อาจล่าช้าออกไปด้วย
“เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม” ประเมินตำแหน่งงานในโลกอนาคต ล้วนเกี่ยวพันกับเรื่องเทคโนโลยี และวิธีคิด โดยในปี 2568 โลกต้องการแรงงานดิจิทัลใหม่มากถึง 149 ล้านตำแหน่ง ในจำนวนนี้มี 5 ตำแหน่งงาน ที่จะมีบทบาทสำคัญ ประกอบไปด้วย
1.ระบบความเป็นส่วนตัว และความไว้วางใจ (Privacy and Trust) ต้องการราว 1 ล้านคน 2. ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ 6 ล้านคน 3.การวิเคราะห์ข้อมูล แมชชีนเลิร์นนิ่ง และเอไอ (Data Analysis ,Machine learning ,AI) ราว 20 ล้านคน 4. คลาวด์ และข้อมูล (Cloud and Data role) 23 ล้านคน และ 5.นักพัฒนาซอฟต์แวร์ (Software Developer) 98 ล้านคน
การพัฒนาบุคลากรในปัจจุบัน คือ สิ่งสำคัญในโลกยุคที่ถูกคุกคามด้วยโรคระบาด การระบาดใหญ่ได้เร่งกระบวนการดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นที่เร็วขึ้น ส่งผลให้เกิดช่องว่างด้านดิจิทัลที่กว้างขึ้น องค์กรธุรกิจทั่วโลกจึงต้องใช้มาตรการเชิงรุกผลักดันให้บุคคลากร มีทักษะใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการในโลกอนาคต
ขณะที่ มีการประเมินว่า อีกไม่นาน Gen Z "เจนแซด” จะคิดเป็นสัดส่วน 30% ของแรงงานทั่วโลก และจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดสังคมและเศรษฐกิจในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า รวมถึงเป็นกลุ่มแรงงานที่มีทักษะใหม่ และปรับตัวได้ดีเป็นที่ต้องการของโลกอนาคตด้วย
งานดิจิทัล 14 ล้านตำแหน่งในภาคการเงิน :
ภายในปี 2568 อุตสาหกรรมการเงิน คาดว่า จะสร้างงานดิจิทัลใหม่ 14 ล้านตำแหน่ง แสดงให้เห็นว่าระบบการเงินแบบเดิมจะถูกแทนที่ด้วย เทคโนโลยีคลาวด์ บล็อกเชน รวมถึง คริปโทเคอร์เรนซี่ ขณะที่ กระบวนการบริการทางการเงินจะเปลี่ยนแปลง ปรับรูปแบบไปอย่างสิ้นเชิง
แม้งานเหล่านี้จะต้องใช้ทักษะ เช่น การพัฒนาซอฟต์แวร์ การวิเคราะห์ข้อมูล แมชชีนเลิร์นนิง หรือเอไอ และความปลอดภัยทางไซเบอร์ หากผู้บริหารบริการทางการเงินเกือบ 75% ระบุว่า บริษัทยังคงมีความขาดแคลนทักษะเหล่านี้อยู่ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเติบโตของธุรกิจในโลกยุคใหม่เป็นอย่างมาก ภาคการเงิน จึงต้องปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจของตัวเองเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ขณะที่ อุตสาหกรรมการผลิต ได้นำเทคโนโลยีที่ “ชาญฉลาด” มาใช้มากขึ้น เช่น หุ่นยนต์ บริษัทต่างๆ ได้แสดงให้เห็นถึงทักษะที่ “ล้ำสมัย” ในด้านกลยุทธ์และการดำเนินงาน การใช้วิศวกรรมซอฟต์แวร์ที่ทันสมัย การใช้ระบบเวอร์ช่วลเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการทำงาน
อย่างไรก็ตาม ช่องว่างด้านทักษะและการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต ยังไม่ได้ถูกปรับปรุง ดังนั้นบริษัทต่างๆ จำเป็นต้องเสริมสร้างความเชี่ยวชาญทักษะใหม่ให้กับพนักงานของตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องของ คลาวด์คอมพิวติ้ง การทำงานร่วมกับระบบเอไอ หรือแมชชีนเลิร์นนิ่ง
ขณะที่ภาคการให้บริการ ก็กำลังมีการปรับตัวครั้งใหญ่ มีการดึงระบบเวอร์ช่วลเข้ามาเพื่อทดแทนการให้บริการในแบบออฟไลน์ที่ต้องใช้คนจำนวนมาก รวมถึงการพัฒนารูปแบบทางการตลาดใหม่ ดึงเอาระบบเมตาเวิร์ส เข้ามาเป็นพื้นที่ในการทำตลาด นั่นแปลว่า พนักงานที่ทำงานในกลุ่มนี้ ต้องมีการปรับทักษะเพื่อตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลง
รายงานของสภาเศรษฐกิจโลก ประเมินถึงอนาคตของการทำงาน ที่ถูกกระทบจากมหันตภัยโควิดพบว่า กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากที่สุดคือ กลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคมซึ่งนับเป็นการตอกย้ำถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ ซึ่งรายงานประเมินด้วยว่า ภายในปี 2568 อาจมีการยกเลิกตำแหน่งงานราว 85 ล้านตำแหน่ง และอาจมีตำแหน่งงานใหม่สำหรับบทบาทหน้าที่ใหม่เกิดขึ้นราว 97 ล้านตำแหน่ง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์ เครื่องจักร และอัลกอริธึม
เอคเซนเชอร์ ทักษะดิจิทัล จำเป็น :
"ปฐมา จันทรักษ์" กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงมุมมองต่อโลกธุรกิจ การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล โดยระบุว่า สถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นมากว่าสองปีทำให้ได้เห็นว่าเอเชียเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพสามารถเติบโตได้แบบสวนกระแส
องค์กรธุรกิจต่างๆ ได้มีโอกาสทบทวนจุดยืนของตนเองและมีความตระหนักว่าจะอยู่เฉยๆ คงไม่ได้ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่มีความพร้อม หรือมีสายป่านที่ยาว รายที่อยู่รอดได้และเติบโตต่อมักเป็นองค์กรที่มีความสามารถในการปรับใช้เทคโนโลยี
“ดิจิทัลช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ความเร็ว ลดต้นทุน และที่สำคัญคือลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้นมนุษย์ต้องปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยี Artificial intelligence ต้องผสมผสานไปกับ Human intelligence เพื่อทำให้กระบวนการทั้งหมดขององค์กรขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน”
ปัจจุบัน ดิจิทัลผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติที่เห็นได้ชัดเจน หลายๆ งานที่ใช้คนถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ เห็นวิถีของการทำงานที่เปลี่ยนไป จะนั่งทำงานจากที่ไหนก็ได้ แต่โจทย์คือทำอย่างไรจึงจะทำให้ทุกคนทำงานร่วมกันได้ ด้านมุมมองของการทำธุรกิจไม่ได้จำกัดอยู่ภายในประเทศ 77 ล้านคน แต่ต้องมองไปถึง 5 พันล้านคนทั่วโลก
ตั้งศูนย์ฯ ใหญ่ปลุกทักษะใหม่ :
การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลมักมาพร้อมกับ 2 ความท้าทายคือ การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้และการขาดบุคลากร
เอคเซนเชอร์จึงเข้ามาลงทุนจัดตั้ง “แอดวานซ์ เทคโนโลยี เซ็นเตอร์” ในประเทศไทย (Advanced Technology Center Thailand: ATCT) โดยเบื้องต้นนอกจากประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการนำคนที่มีความสามารถเข้ามาทำงานในประเทศ ช่วยพัฒนาคน รวมถึงองค์ความรู้แล้ว ทางอ้อมจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศและทำให้เกิดการจ้างงานที่มากขึ้น โดยศูนย์นี้ได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาและยังมีแผนจะจัดตั้งศูนย์ลักษณะเดียวกันเพิ่มเติมอีกเร็วๆ นี้
สำหรับ ศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง มีจุดมุ่งหมาย เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ การเร่งพัฒนานวัตกรรมขั้นสูง และขยายขีดความสามารถด้านไอที และความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก โดยมุ่งพัฒนากำลังคนและบุคลากรให้มีทักษะและความพร้อมสำหรับอนาคต ผ่านโครงการความร่วมมือและการเป็นพันธมิตรร่วมกับองค์กรธุรกิจและแวดวงเทคโนโลยีระดับภูมิภาค รวมทั้งหน่วยงานวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศ
ศูนย์ฯ นี้ ตั้งเป้าจ้างงานผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีกว่า 300 คน เพื่อช่วยสนับสนุนลูกค้าองค์กรต่างๆ ให้สามารถเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจใหม่ๆ และยกระดับขีดความสามารถเสริมความคล่องตัวในการทำงานและการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของตลาด
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 13 มิถุนายน 2565