เศรษฐกิจดิจิทัล อนาคตประเทศไทย
สิ่งสำคัญของการก้าวเข้าสู่ "เศรษฐกิจดิจิทัล" นอกเหนือจากเทคโนโลยีดิจิทัลและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่จะเป็นจุดเริ่มต้นแล้ว สิ่งสำคัญอีกส่วน คือ บุคลากรที่มีขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างผลผลิต รวมถึงการสร้างนวัตกรรมเพื่อยกระดับธุรกิจ
เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมนับจากนี้ โดยจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ปฏิรูปการทำธุรกิจ กระบวนการผลิต การค้า รวมถึงการบริหารราชการแผ่นดินรวม การศึกษาและการสาธารณสุข
เรียกได้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมจะมีเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งนำมาสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพิ่มผลผลิต เพิ่มมูลค่า โดยใช้เวลาและแรงงานน้อยลงแต่ได้ผลผลิตมากขึ้นทั้งในภาคการผลิต การค้าและบริการ
ภาพตัวอย่างที่เห็นชัดเจนของเศรษฐกิจดิจิทัล คือ การขายตัวของอีคอมเมิร์ซอย่างกว้างขวางมาก โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลได้ทลายกำแพงอีคอมเมิร์ซที่ถูกส่งเสริมมาตลอดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
การขยายตัวของอีคอมเมิร์ซได้สร้างธุรกิจต่อเนื่องให้ขยายตัวตามไปด้วย เช่น โลจิสติกส์และการขนส่ง ที่มีทั้งการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รวมถึงการมีแรงผลักดันให้สตาร์ทอัพของไทยกลายเป็นยูนิคอร์น
อีกด้านที่จะสร้างแรงผลักดันให้กับเศรษฐกิจ คือ เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยลดต้นทุนให้กับภาคการผลิตและบริการอย่างมหาศาล ภายใต้บริบทที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
การทำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ในภาคการผลิตและบริการเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง นอกจากจะช่วยเพิ่มผลผลิตและยังช่วยลดต้นทุนได้มหาศาล รวมไปถึงภาคการเกษตรที่ใช้แรงงานมาก การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างรูปแบบเกษตรอัจฉริยะที่เป็นแรงจูงใจในคนรุ่นใหม่ก้าวเข้าสู่อาชีพเกษตรกร
สิ่งสำคัญของการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล นอกเหนือจากเทคโนโลยีดิจิทัลและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่จะเป็นจุดเริ่มต้นแล้ว สิ่งสำคัญอีกส่วนคือ บุคลากรที่มีขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างผลผลิต รวมถึงการสร้างนวัตกรรมเพื่อยกระดับธุรกิจ
ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จึงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งบุคลากรของภาคเอกชนที่จำเป็นต้องก้าวทันเทคโนโลยีเพื่อช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจไทยเติบโตได้ในระดับนานาชาติ รวมถึงบุคลากรภาครัฐที่ต้องเข้าใจสภาพแวดล้อมของธุรกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
ขณะนี้บิ๊กคอร์ปหลายแห่งได้ขยับตัวในการพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้มีความพร้อมทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี แต่การเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลที่ต่างกันในผู้ประกอบการแต่ละกลุ่ม ทำให้มีความจำเป็นที่ต้องได้รับการส่งเสริม
โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ที่จำเป็นต้องถูกยกระดับ รวมถึงประชาชนที่จะได้มีโอกาสสร้างรายได้จากเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเกิดประโยชน์กับทุกกลุ่มมากที่สุดจนเป็นแรกผลักดันให้เกิดพลังของเศรษฐกิจดิจิทัล
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 13 มิถุนายน 2565