นายกฯสปป.ลาวเยือนไทย ยกระดับสู่ “หุ้นส่วนเพื่อการเติบโต-การพัฒนายั่งยืน”
นายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวพร้อมด้วยภริยา นำคณะรัฐมนตรีและนักธุรกิจจาก สปป.ลาว กว่า 100 คน เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 1-2 มิถุนายนที่ผ่านมา ในฐานะแขกของรัฐบาลไทย
การเดินทางเยือนไทยดังกล่าวถือเป็นการเยือนครั้งแรกหลังนายพันคำขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สปป. ลาวคนใหม่ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 25654 โดยผู้นำ สปป.ลาวได้นำคณะรัฐมนตรีถึง 13 คน มาหารือข้อราชการกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องของไทย ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องในการเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ โดยยกระดับความสัมพันธ์เป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” และได้หารือกันในประเด็นต่างๆ ซึ่งครอบคลุมทุกมิติของความสัมพันธ์ไทย – ลาว ภายใต้บรรยากาศของมิตรภาพและการเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดที่มีความผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง ครอบคลุมความร่วมมือในทุกมิติอย่างรอบด้าน
ด้านเศรษฐกิจ :
นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี สปป. ลาว เห็นพ้องที่จะเดินหน้าร่วมมือเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตของประชาชนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจบริเวณพื้นที่ชายแดนให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว หลังจากที่สถานการณ์
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง พร้อมแสดงความยินดีที่สองฝ่ายได้เปิดจุดผ่านแดนถาวรหรือด่านสากลระหว่างสองประเทศครบทุกแห่งแล้ว และจะประสานงานกันเพื่อที่จะกลับมาเปิดด่านประเพณีหรือด่านท้องถิ่นเพิ่มเติมโดยเร็ว
ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงโดยเฉพาะระหว่างเมืองหลวงพระบางกับจังหวัดภาคเหนือของไทย ในโอกาสนี้พล.อ.ประยุทธ์ได้แสดงความพร้อมของไทยที่จะสนับสนุน สปป. ลาว ในการก่อสร้างสะพานเชียงแมน – หลวงพระบาง เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยวในเส้นทางดังกล่าว
ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องที่จะเร่งรัดและขยายการเชื่อมโยงด้านคมนาคมขนส่งระหว่างกันมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการก่อสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ใกล้กับสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย – เวียงจันทน์) และจะใช้ประโยชน์จากโครงการรถไฟลาว – จีน ให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกัน
นอกจากนี้ ยังเห็นพ้องที่จะเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และประสานมาตรฐานและกฎระเบียบต่างๆ ยิ่งขึ้น อาทิ การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี – สาละวัน) การพัฒนาเส้นทางหมายเลข 12 ใน สปป.ลาว (นครพนม – คำม่วน – นาเพ้า) และการเปิดใช้พื้นที่ควบคุมร่วมกัน (Common Control Area) ณ จุดผ่านแดนที่ทั้งสองฝ่ายมีความพร้อม เพื่อลดระยะเวลาการตรวจปล่อยสินค้าที่จุดผ่านแดน
ซึ่งจะเป็นประโยชน์ร่วมกันของประชาชนสองฝั่ง
ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องที่จะส่งเสริมให้มีการนำเข้าแรงงานลาวมาทำในไทยอย่างถูกกฎหมายตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างสองประเทศ โดยฝ่ายไทยยืนยันที่จะคุ้มครองและให้สิทธิสวัสดิการแรงงานตามกฎหมายไทย
สำหรับด้านการลงทุน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น โดยเน้นย้ำการลงทุนที่จะรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น ทั้งยังจะกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งมีความสำคัญสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ โดยนายกรัฐมนตรีได้แจ้งความพร้อมของไทยที่จะสนับสนุน สปป. ลาว ในการพัฒนาทักษะและขีดความสามารถของบุคลากรในด้านดิจิทัล และพัฒนาระบบการชำระเงินระหว่างประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ด้านความมั่นคง :
ผู้นำทั้่งสองเห็นพ้องที่จะเข้มงวดการลาดตระเวนตามแนวชายแดนเพื่อป้องกันการลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมาย และกระชับความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้แจ้งความพร้อมของไทยที่จะสนับสนุน สปป. ลาวในการขยายผลการจับกุมและการมอบอุปกรณ์สืบสวนสอบสวนที่ทันสมัย นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และปัญหาค้ามนุษย์อย่างเต็มที่ เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนของทั้งสองประเทศได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของมิจฉาชีพ
ด้านความสัมพันธ์ระดับประชาชน :
ผู้นำทั้งสองฝ่ายย้ำถึงความสำคัญในการส่งเสริมความใกล้ชิดในระดับประชาชนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อเป็นรากฐานที่มั่นคงสำหรับการพัฒนาความสัมพันธ์ของสองประเทศสืบต่อไปในทุกด้าน และเห็นพ้องที่จะสานต่อความร่วมมือเพื่อการพัฒนาด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะระหว่างโรงพยาบาลจังหวัดและแขวงชายแดน ความร่วมมือด้านการเกษตร และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้แจ้งความพร้อมของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของไทยที่จะมอบทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี โท และเอกในประเทศไทยแก่เยาวชนลาว รวมกว่า 700 ทุน ทั้งนี้ ผู้นำทั้งสองเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในด้านสื่อมวลชน เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระดับประชาชน
ด้านความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาค :
นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี สปป. ลาว เน้นย้ำให้สองประเทศประสานท่าทีและร่วมมือกันใกล้ชิดยิ่งขึ้นทั้งในระดับอนุภูมิภาคและระดับภูมิภาคเพื่อรับมือกับความท้าทายทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยพล.อ.ประยุทธ์ยืนยันความพร้อมของไทยที่จะสนับสนุน สปป. ลาวอย่างเต็มที่ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS-แอคเมคส์) ครั้งที่ 10 ในปีนี้ และการเป็นประธานอาเซียนของ สปป.ลาว ในปี 2567
ภายหลังการหารือทวิภาคี นายกรัฐมนตรีได้มอบการสนับสนุนของรัฐบาลไทยในการก่อสร้างศูนย์พัฒนาสังคมมิตรภาพไทย – ลาว เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์แบบครบวงจร ที่เมืองไซทานี นครหลวงเวียงจันทน์ ให้แก่นายกรัฐมนตรี สปป. ลาว นายกรัฐมนตรีทั้งสองยังได้เป็นสักขีพยานการลงนาม “แผนปฏิบัติการว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ไทย – สปป. ลาว เพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ระยะ 5 ปี (พ.ศ2565- 2569)” และบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่ง สปป. ลาว ว่าด้วยโครงการจัดสร้างสวนรุกขชาติไทย – ลาว และการแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่ง สปป. ลาว ว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป. ลาว ฉบับปี ค.ศ. 2022
ในการเยือนครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี สปป. ลาวได้รับมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขารัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในฐานะที่เป็นผู้มีบทบาทโดดเด่นในการวางรากฐานด้านการศึกษาใน สปป. ลาว รวมทั้งได้กล่าวปาฐกถาในงานกิจกรรม Thai-Lao Business Talk and Networking ซึ่งประกอบด้วยการเสวนาเกี่ยวกับโอกาสการลงทุนใน สปป. ลาว และการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งระหว่างสองประเทศ และกิจกรรมเสริมสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ โดยมีนักธุรกิจชั้นนำจากทั้ง สปป. ลาวและไทยเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากอีกด้วย
นายเจษฎา กตเวทิน เอกอัครราชทูตไทย ณ สปป.ลาว กล่าวว่า การดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยตลอดเวลาที่ผ่านมา เราให้ความสำคัญกับการมีวามสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นอันดับหนึ่ง ลาวมีพรมแดนติดกับไทย 1,810 กิโลเมตร คนไทย-ลาวมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดแทบจะเรียกว่าเป็นบุคคลในครอบครัวเดียวกัน ทำใหการเยือนครั้งนี้มีความสำคัญมาก และยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่มีเหตุการณ์สำคัญ 2 เหตุการณ์คือการที่ทั้งสองประเทศมีความเห็นพ้องที่จะยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีขึ้นเป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ซึ่งมีแผนปฏิบัตการอย่างเป็นรูปธรรมในระยะเวลา 5 ปี และยังเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้หารือกันถึงความร่วมมือหลังเปิดประเทศ รวมถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ด้วย
ขณะเดียวกันยังต้องหารือเกี่ยวกับความเชื่อมโยงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเมื่อรถไฟจีนที่มาถึงนครหลวงเวียงจันทน์ว่าเราจะใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างไรในลักษณะที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน แทนที่จะมาแข่งขันกัน การเชื่อมโยงจะเป็นหัวใจสำคัญ เพราะก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโลจิสติกส์ การขนส่งสินค้าระหว่างกัน สินค้าเกษตร ท่องเที่ยว ไอที ซึ่งถือเป็นอนาคตของความร่วมมือระหว่างสองประเทศ
“สิงที่จำเป็นคือเราต้องมีมุมมองใหม่เกี่ยวกับ สปป.ลาว จากภาพเดิมๆ ที่คนมองว่าเขาเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเล็ก ไม่มีทางออทางทะเล ซึ่งนั่นคือภาพอดีต เพราะการพัฒนาความเชื่อมโยงต่งาๆ ทำให้ลาวเปลี่ยนจากประเทศแลนด์ล็อเป็นแลนด์ลิงก์ เป็นจุดเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและขยายตัวอย่างรวดเร็ว จึงเป็นโอกาสดีสำหรับไทยซึ่งอยู่ติดกับ สปป.ลาว ที่จะหาทางทำงานร่วมกันเพื่อให้ได้ประโยชน์ทั้งสองประเทศต่อไป”ท่านทูตเจษฎระบุ
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 14 มิถุนายน 2565