ม.หอการค้าไทย ปรับประมาณการจีดีพีไทยเหลือ3.1% จากปัจจัยเสี่ยงเพียบ
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ ฯม.หอการค้าไทย ปรับคาดการณ์จีดีพีไทยปี 65 เหลือ 3.1%จากเดิม 4.2 % ชี้ เศรษฐกิจไทยเจอปัญหารุมเร้าเพียบ ทั้งราคาน้ำมันพุ่ง เงินเฟ้อสูง สงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์ฯได้ปรับลดประมาณการภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ลงเหลือ 3.1% จากเดิมเคยคาดการณ์ไว้ที่ 4.2% เมื่อเดือนพ.ย. 64 ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ 6.3% และอัตราเงินเฟ้อขยายตัว % 6.0 ภายใต้สมมติฐานที่เศรษฐกิจโลกเติบโต 2.9% จำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 6.1 ล้านคน อัตราแลกเปลี่ยน 34.25 บาทต่อดอลลาร์ และราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่หากราคาพลังงานในตลาดโลกพุ่งสูงถึง 120-130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะส่งผลกระทบทำให้ GDP ของประเทศลดลงเหลือ2.3% ได้
ปัจจัยลบที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง คือ สงครามรัสเซียยูเครนทำให้ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์รวมถึงอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงยืดเยื้อมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจหลักปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ปัญหาของการขาดแคลนสินค้าในห่วงโซ่การผลิตมีผลต่อการส่งออก และเศรษฐกิจจีนยังคงมีความไม่แน่นอนโดยมีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงหลังการระบาดของโควิด-19 จนต้องใช้มาตรการ Zero COVID รวมถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีนอาจมีผลต่อการค้าโลกอีกครั้ง
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำต่อเนื่องเพื่อพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภคภายในประเทศ คือการดูแลราคาพลังงานไม่ให้ปรับขึ้นเร็วจนส่งผลต่อจิตวิทยา ต้นทุนการผลิต ดูแลปริมาณวัตถุดิบไม่ให้ขาดแคลน และราคาสูงจนเกินไป เช่น ปุ๋ย นอกจากนี้ต้องปรับเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี เพื่อให้เกิดความคล่องตัวทางการเงินสามารถที่จะประคองธุรกิจไปได้และเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ประกอบการ
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 16 มิถุนายน 2565