ชงรถไฟสายใหม่อุดร-บึงกาฬต่อ "ลาวลิ้งก์" ขนสินค้าอีสานลงท่าเรือเวียดนาม

เอกชนบึงกาฬชงรถตัดทางรถไฟสายใหม่ คู่ขนานถนนอุดรธานี-บึงกาฬ รองรับเมกะโปรเจ็กทางด่วน-รถไฟของสปป.ลาว ไปออกทะเลที่ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋างในเวียดนาม ตามยุทธศาสตร์ LLL พร้อมเร่งทางรถไฟไทย-จีน ช่วงโคราช-หนองคาย ให้เสร็จโดยเร็ว ก่อนตกขบวนโครงข่ายโลจิสติกส์ภูมิภาค 
 
นายเจตน์  เกตุจำนง ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดบึงกาฬ นักธุกิจระหว่างประเทศไทย-ลาว  เปิดเผยว่า  จากการติดตามข่าวสารของสปป.ลาวและเวียดนาม พบว่า หลังจากเปิดใช้งานรถไฟจีน-ลาว จากพรมแดนลาว-จีนตอนเหนือ ลงมาถึงเวียงจันทน์แล้ว ล่าสุดทางการสปป.ลาว โดยความร่วมมือกับทางการเวียนดนาม มีแผนลงทุน 2 โครงการใหญ่ ตามยุทธศาสตร์ LLL-LAOS Logistic Link  ทั้ง 2 โครงการ มีมูลค่าโครงการรวมกันประมาณ 400,000 ล้านบาท
 
 
โครงการแรกคือ ต่อทางรถไฟ ขนาดรางกว้าง 1.435 เมตร จากเวียงจันทน์ ผ่านแขวงบอลิคำไซ และแขวงคำม่วน ไปสิ้นสุดโครงการที่ท่าเรือน้ำหวุงอ๋าง เมืองฮาติงห์ เมืองชายฝั่งทะเลในประเทศเวียดนาม ระยะทาง 565 ก.ม.เศษ  โครงการนี้ผสมผสานทั้งระบบรางและระบบล้อ คือมีเส้นทางถนนคู่ขนานด้วย
 
โครงการที่ 2 คือ โครงการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือหวุงอ๋าง ที่ประเทศเวียดนามอนุญาตให้เอกชนลาวเข้าไปลงทุนพัฒนา เพื่อเป็นท่าเรือน้ำลึก รองรับการขนส่งสินค้าและระบบโลจิสติกส์จากสปป.ลาว ไปออกทะเล เป็นการปลดล็อกสปป.ลาว จากประเทศแลนด์ล็อก(ไม่มีทางออกทะเล) สู่ประเทศแลนด์ลิ้งก์ (เชื่อมโยงการเดินทางทางบกในภูมิภาค) 
 
นายเจตน์ กล่าวอีกว่า เมกะโปรเจ็กสปป.ลาว 2 โครงการดังกล่าว เป็นโครงข่ายด้านการเดินทางคมนาคมขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ เส้นทางใหม่ เพิ่มเติมจากท่าเรือเรือน้ำลึกแหลมฉบังของไทย ช่วยลดระยะทางการขนส่งจากสปป.ลาว ถึงตลาดเมืองท่าแนวฝั่งตะวันออกของประเทศจีนลงได้มากกว่าครึ่ง รวมถึงเป็นคู่แข่งการเป็นฮับโลจิสติกส์ของไทยในภูมิภาค สินค้าทั้งหมดของภาคอีสานจะหันไปใช้เส้นทางดังกล่าวแทนเมื่อแล้วเสร็จและเปิดให้บริการ
 
"ไทยอาจเสียโอกาสหากไม่เร่งปรับตัว โดยต้องเร่งรัดโครงการรถไฟไทย-ลาว-จีน ที่ไม่ก้าวหน้าให้เดินเร็วขึ้น เปลี่ยนแนวคิดจากคู่แข่งมาเป็นคู่ค้า หาทางนั่งพูดคุยหารือจีน-สปป.ลาว-เวียดนาม ในฐานะเพื่อนบ้านในภูมิภาค ให้ไทยมีส่วนร่วมในโครงการดังกล่าวในอนาคต โดยเร่งศึกษาความเหมาะสมการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่คู่ขนานกับถนนสายใหม่อุดรธานี-บึงกาฬ ระยะทาง 152 กิโลเมตร เพื่อไปเชื่อมต่อกับทางรถไฟสปป.ลาว-เวียดนามในอนาคต"
 
 
นายเจตน์กล่าวต่อไปอีกว่า สปป.ลาววางยุทธศาสตร์การพัฒนา เพื่อเปลี่ยนจากประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล สู่ประเทศที่เป็นข้อต่อเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งของภูมิภาค(แลนด์ลิ้งก์) หรือยุทธศาสตร์ LLL มาเป็นเวลานานหลายปีแล้ว  ประกอบกับลาว จีน และเวียดนาม มีระบอบการปกครองคล้ายคลึงกัน เมื่อโครงการรถไฟจีน-ลาวเปิดใช้โครงการแล้ว จึงหันมาให้ความสนใจกับโครงข่ายยุทธศาสตร์ต่อเนื่องของลาวดังกล่าว ซึ่งจะเป็นอีกเส้นทางเชื่อมโยงการค้าการขนส่งของภูมิภาค
 
ผลประโยชน์ของโครงการนี้จะเกิดกับทั้ง 4 ประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีนฝั่งตะวันออกตามแนวชายฝั่ง  เมื่อลาวมีทางออกสู่ทะเลจีนใต้ที่ท่าเรือหวุงอ๋างแล้ว จะทำให้ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายการขนส่ง และประหยัดเวลาการขนส่ง จากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนไปยังมณฑลชายฝั่งตะวันออกของจีนได้ ไม่ต้องขนส่งผ่านท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังของไทย ที่ต้องเดินทางอ้อมแหลมญวนได้กว่าครึ่ง  
 
โดยโครงการใหม่มีส่วนแตกต่างไปคือ จากความร่วมมือ 2 ฝ่าย เพิ่มเป็น 3 ฝ่าย คือมีเวียดนามด้วย ขณะที่แผนงานก่อสร้างทางรถไฟจีน-ลาว-ไทย ในส่วนประเทศไทยยังไม่แล้วเสร็จ ทำให้การขนส่งระหว่างไทย-ลาวยังไม่สะดวก หากโครงการทางด่วนทางรถไฟและท่าเรือน้ำลึกลาวในเวียดนามแล้วเสร็จ จะส่งผลให้โลจิสติกส์ไทยเสียโอกาส จึงต้องเร่งพิจารณาแนวทางแก้ไข โดยเข้าไปมีส่วนร่วมกับเพื่อนบ้านให้มากกว่าเดิม เพื่อจะไม่ตกขบวนการพัฒนาของกลุ่มอาเซียน
 
 
นายเจตน์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ทางการไทยควรเร่งรัดโครงการก่อสร้างทางรถไฟไทย-จีน โดยเฉพาะระยะที่ 2 โคราช-หนองคาย ที่ยังไม่กำหนดเวลาแล้วเสร็จ ให้มีความชัดเจนและเปิดใช้โดยเร็ว ส่วนการขนส่งระบบล้อ หรือรถบรรทุกก็มีปัญหา เรื่องน้ำมันดีเซลขึ้นราคาเกือบทุกวัน ต้องหันไปให้ความสำคัญกับการขนส่งทางรางให้มากขึ้น 
 
“เอกชนในพื้นที่บึงกาฬทุกภาคส่วน เห็นความสำคัญในเรื่องนี้มาก จึงได้นำเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ผ่านการประชุมกรอ.จังหวัดบึงกาฬ  พร้อมกันนี้ก็ได้นำเสนอต่อ นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งก็มีแนวคิดที่สอดคล้องกัน เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปแล้ว” นายเจตน์กล่าว
 
ทั้งนี้ ที่บึงกาฬขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 เชื่อมกับเมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซของสปป.ลาว เริ่มก่อสร้างเมื่อปลายปี 2563 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี 
 
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 21 มิถุนายน 2565

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)