ไทย-เวียดนาม คู่มิตรชิดใกล้ที่พร้อมเดินไปด้วยกัน
หลายปีที่ผ่านมาหลายท่านคงเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับพัฒนาการที่โดดเด่นของเศรษฐกิจเวียดนามกันอยู่ไม่น้อย ด้วยเศรษฐกิจที่ “โตไว” กว่า 6% ต่อปี ตลาดที่ “ใหญ่และไฟแรง” จากประชากรเกือบ 100 ล้านคน และส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่มสาว อีกทั้งแรงงานที่ยัง “คุ้มค่าแถมคุณภาพดี” ปัจจัยดังกล่าวทำให้เวียดนามก้าวขึ้นมาทาบรัศมีตลาดเกิดใหม่หลายแห่ง รวมถึงไทยในการดึงดูดเม็ดเงินการค้าการลงทุนของโลกอย่างไม่ต้องสงสัย
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ผมจะขอชวนท่านผู้อ่านลองหันมามองเวียดนามในฐานะคู่มิตรชิดใกล้ที่จะสามารถโตไปพร้อมกันกับไทยได้ในอนาคต ซึ่งจากการที่ผมสังเกตตัวเลขเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศมาโดยตลอด พบว่ามีความแน่นแฟ้นและเชื่อมโยงกันในหลายมิติ ดังนี้
การค้าระหว่างไทยกับเวียดนามมีพัฒนาการที่ดีต่อเนื่อง สะท้อนได้จากมูลค่าการค้าที่เพิ่มขึ้นจากเพียง 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2535 มาอยู่ที่ราว 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน หรือขยายตัวเกือบ 20% ต่อปี ทำให้ปัจจุบันเวียดนามกลายเป็นตลาดส่งออกและนำเข้าอันดับ 4 และอันดับ 10 ของไทยตามลำดับ ทั้ง ๆ ที่เมื่อ 30 ปีก่อนเวียดนามยังเป็นเพียงคู่ค้าที่เล็กกว่าเมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชาด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ ในมิติของสินค้าส่งออกและนำเข้าของทั้งสองประเทศก็ดูจะเกื้อหนุนกันได้ดี อย่างไทยมีน้ำมันดิบไม่เพียงพอ เราก็นำเข้าจากเวียดนามบางส่วนมากลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์และเม็ดพลาสติกเพื่อส่งออกกลับไปเวียดนาม จนทำให้สินค้ากลุ่มนี้กลายสินค้าส่งออกอันดับ 1 (สัดส่วนรวมกันถึง 20%) ของไทยไปเวียดนาม
ยิ่งไปกว่านั้น สินค้าอีกหลายชนิดของไทยก็ยังตอบโจทย์การพัฒนาประเทศของเวียดนามแต่ละช่วงเวลาได้อย่างลงตัว เห็นได้จากในอดีตที่อุตสาหกรรมหลักของเวียดนามยังเป็นเสื้อผ้าและรองเท้า เราก็ส่งออกผ้าผืนและหนังฟอกไปเป็นวัตถุดิบให้เวียดนามได้ เช่นเดียวกับปัจจุบันเราก็ยังส่งออกอุปกรณ์กึ่งตัวนำ/ไดโอด ทองแดงและชิ้นส่วนรถยนต์ไปสนับสนุนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ที่กลายเป็นเครื่องยนต์ใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเวียดนามได้อีกด้วย
คู่หูลงทุน ที่เชื่อมต่อกัน :
โดยเฉพาะหลังจากเวียดนามปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศมากขึ้นผ่านนโยบาย Doi Moi ทำให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในเวียดนามเพิ่มขึ้นถึง 20% ต่อปีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และทำให้เวียดนามกลายเป็นแหล่งลงทุนอันดับ 4 ของไทย ไต่ขึ้นจากอันดับ 10 เมื่อ 10 ปีก่อน ไม่เพียงเท่านี้อุตสาหกรรมที่ไทยเข้าไปลงทุนยังมีความหลากหลายตามบริบททางเศรษฐกิจของเวียดนามที่เปลี่ยนแปลงไป
อย่างธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม 3 อันดับแรกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คือ การเงิน การผลิตไฟฟ้า ค้าส่งค้าปลีก ซึ่งก็สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมและการบริโภคของเวียดนามที่ปัจจุบันโตได้อย่างรวดเร็ว จึงต้องการบริการทางการเงิน ไฟฟ้า และ marketplace ที่หลากหลายมากขึ้น
นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้ FDI จะหลั่งไหลเข้าเวียดนามต่อเนื่อง แต่อุตสาหกรรมสนับสนุนในเวียดนามอาจยังไม่สามารถรองรับความต้องการทั้งหมดได้เพียงพอ จุดนี้ถือเป็นโอกาสของนักลงทุนไทยในการเข้าไป plug-in เพื่อเชื่อมต่อ future supply chain ในหลายอุตสาหกรรม อาทิ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ พลังงานสะอาด อาหารแห่งอนาคต ซึ่งไทยมีความเชี่ยวชาญเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
คู่เที่ยว ที่ไปไหนไปกัน :
หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าชาวเวียดนามที่เข้ามาเที่ยวไทยในช่วงก่อนเกิด COVID-19 มีจำนวนมากถึง 1.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 2 เท่าตัวจากช่วงวิกฤต Hamburger ปี 2552 ทำให้นักท่องเที่ยวเวียดนามกลายมาเป็นนักเที่ยวต่างชาติ top 10 ของไทย ขณะเดียวกัน คนไทยเองก็ไปเที่ยวเวียดนามเพิ่มขึ้นจาก 1 แสนคน เป็นเกือบ 5 แสนคนในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้เวียดนามกลายเป็น Travel Destination อันดับ 7 ของคนไทย
สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงโอกาสที่จะใช้การท่องเที่ยวเป็นสะพานเชื่อมโยงการค้าการลงทุน โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคบริการ อาทิ โรงแรม การแพทย์ โลจิสติกส์ ก่อสร้าง หรือแม้แต่ digital content ที่จะมีโอกาสเติบโตไปด้วยกันมากขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ EXIM BANK ได้เปิดสำนักงานผู้แทนในนครโฮจิมินห์ เวียดนาม อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565 เพื่อเป็น one stop service ในการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปคว้าโอกาสการค้าการลงทุนในตลาดที่เรียกได้ว่าเป็น rising star ของโลกอย่างเวียดนาม อย่าพลาดโอกาสนี้กันนะครับ
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 22 มิถุนายน 2565