ตลาดส่งออกของไทยมีที่ไหนบ้างยังโตต่อเนื่อง
ตลาดส่งออกของไทยมีที่ไหนบ้าง ยังโตต่อเนื่อง แม้จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ "สหรัฐ-จีน-ญี่ปุ่น-ยุโรป" กลับมาโตต่อเนื่อง ขณะที่ อาเซียน-CLMV ยังคงเป็นตลาดสำคัญของไทย
แม้ว่าเศรษฐกิจในหลายประเทศจะมีทิศทางการฟื้นตัวที่ดีแต่ก็มีหลายประเทศที่กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิดและเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้น ปัญหาอัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ย ผลกระทบจากสงครามรัสเซียเป็นต้น แต่ก็ไม่ได้ส่งผล กระทบต่อการส่งออกไทยมาก เห็นได้จากการส่งออกไทยไปยังตลาดสำคัญยังขยายตัวต่อเนื่องและมีทิศทางที่ดี
เช่น ตลาดสหรัฐฯกลับขยายตัวต่อเนื่อง 24เดือนถึง 29.2% ส่งให้ 5 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัว 22.5% โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ยาง เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และเครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ เป็นต้น
ตลาดจีน :
กลับมาขยายตัว 3.8% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องยนต์สันดาปภายในฯ เป็นต้น ขณะที่ 5 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัว 1.6%
ตลาดญี่ปุ่น :
กลับมาขยายตัว6.2% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และทองแดงและของทำด้วยทองแดง เป็นต้น ขณะที่ 5 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัว1.9%
ตลาดอาเซียน (5) :
ขยายตัว 8.3% ขยายตัวต่อเนื่อง 13 เดือน สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำตาลทราย เคมีภัณฑ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น ขณะที่ 5 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัว 22.7%
ตลาด CLMV :
ขยายตัว13.1%ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน)สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องดื่ม ทองแดงและของทำด้วยทองแดง และผ้าผืน เป็นต้น ขณะที่ 5 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัว7.9%
ตลาดสหภาพยุโรป (27) :
กลับมาขยายตัว 12.8% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ขณะที่ 5 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัว 5.8%
ตลาดเอเชียใต้ :
ขยายตัว 55.7% (ขยายตัวต่อเนื่อง 16 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ อัญมณีและเครื่องประดับ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น ขณะที่ 5 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัว 33.2%
ตลาดตะวันออกกลาง :
ขยายตัว 37.9% (ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่ 5 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัว 21%
ตลาดทวีปแอฟริกา :
ขยายตัว10.2% (ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ข้าว น้ำตาลทราย และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น ขณะที่ 5 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัว 3.8%
ตลาดลาตินอเมริกา :
ขยายตัว 22.5% (ขยายตัวต่อเนื่อง 16 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่ 5 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัว7.8%
ในขณะที่ 2 ตลาดอย่าง ตลาดทวีปออสเตรเลียและตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CISส่งออกไทยยังคงติดลบต่อเนื่อง เช่น ตลาดทวีปออสเตรเลียติดลบ 11.9% ต่อเนื่อง 5 เดือน สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เม็ดพลาสติก และเครื่องยนต์สันดาปภายในฯ ขณะที่ 5 เดือนแรกของปี 2565 ติดลบ4.8%
และตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ติดลบ 56.9 % (หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น ขณะที่ 5 เดือนแรกของปี 2565 ติดลบ 31.5%
โดยเห็นได้จากการที่ส่งออกไทยไปตลาดสำคัญส่วนใหญ่ปรับดีขึ้น สะท้อนถึงอุปสงค์จากประเทศคู่ค้าที่ยังขยายตัวได้ แม้จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ และการใช้มาตรการควบคุมไวรัสโควิด-19 ที่เข้มงวดในจีน
ทั้งนี้ไทยแบ่งการส่งออกเป็น3ตลาดหลัก ประกอบด้วย ตลาดหลัก อย่างสหรัฐฯ อาเซียน(5) CLMV จีน ญี่ปุ่นและยุโรป(27) ภาพรวมขยายตัว 12.3% ตลาดรอง ประกอบด้วย เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง ทวีปแอฟริกา และลาตินอเมริกา ออสเตรีเลีย และ รัสเซียและกลุ่มประเทศCIS ซึ่งภาพรวมขยายตัว 8.9% และ ตลาดอื่น ๆ ติดลบ 59.1% เช่น สวิตเซอร์แลนด์
กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่า การส่งออกไทยยังขยายตัวได้ดี และมั่นใจว่า ตัวเลขการส่งออกในไตรมาส 2 จะขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง โดยมีปัจจัยบวกจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทรงตัว ความต้องการอาหารจากทั่วโลกที่สูงขึ้น พร้อมปัจจัยหนุนด้านราคาสินค้าเกษตร ขณะเดียวกัน ภาคบริการท่องเที่ยวของหลายประเทศเริ่มฟื้นตัว และการมีปริมาณเรือขนส่งและตู้คอนเทนเนอร์ใหม่ ล้วนส่งผลดีต่อ
การส่งออกไทย
อย่างไรก็ตาม การส่งออกอาจได้รับแรงกดดันบ้างจากสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่เผชิญกับความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อที่เป็นผลสืบเนื่องจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคชะลอตัวลง
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 5 กรกฏาคม 2565