จับคู่ค้า "ไทย-ซาอุฯ" ฟื้นเศรษฐกิจ ปลุกตลาด 2.3 แสนล้าน
ปิดฉากลงไปแล้วสำหรับงาน “Thai-Saudi Business Forum” ที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อน เพื่อสานต่อภารกิจหลังการเยือนซาอุดีอาระเบีย ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในช่วงต้นปี ฟื้นฟูความสัมพันธ์ครั้งประวัติศาสตร์ในรอบ 32 ปี ทำให้เริ่มเห็นสัญญาณการค้า การลงทุน หากดูมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียปี 2564 มีมูลค่ารวมกันถึง 234,000 ล้านบาท ไทยส่งออกไปซาอุดีอาระเบีย 51,000 ล้านบาท ในปีก่อน และยังนำเข้าพลังงานและวัตถุดิบจากซาอุฯจำนวนมาก
เปิดประตูการค้า GCC :
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออก 5 เดือนแรกของปี 2565 ไทยส่งออกไปซาอุดีอาระเบียถึง 25,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.3% และตั้งเป้าว่าปีนี้ไทยจะส่งออกถึง 56,000 ล้านบาท และซาอุดีอาระเบียสามารถใช้ไทยเป็นประตูการค้าไปสู่อาเซียนและประตูการค้าไปสู่เอเชียตะวันออกได้ และยังจะได้รับสิทธิประโยชน์จากไทย
ซึ่งมีการทำความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีกับ 18 ประเทศ จำนวน 14 ฉบับ ส่วนไทยก็สามารถใช้ซาอุดีอาระเบียเป็นประตูการค้าไปสู่ตะวันออกกลาง และกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC : Gulf Cooperation Council) ซึ่งในโอกาสนี้ไทยยังได้เจรจานำเข้าปุ๋ยซาอุฯ 1 ล้านตัน
สำหรับการค้าระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบีย ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-พฤษภาคม) ซาอุดีอาระเบียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 18 ของไทย และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 2 ของไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง
สินค้าส่งออกหลักไปซาอุดีอาระเบีย 5 อันดับแรก ได้แก่
1)รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 2)ม้และผลิตภัณฑ์ไม้ 3)ผลิตภัณฑ์ยาง 4)อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และ 5)เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล
สินค้าที่ไทยนำเข้าจากซาอุดีอาระเบีย 5 อันดับแรก ได้แก่
1)น้ำมันดิบ 2)เคมีภัณฑ์ 3)ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ 4)น้ำมันสำเร็จรูป และ 5)สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์
หอการค้าไทย-ริยาด :
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าริยาดได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับหอการค้าไทย และภาคเอกชน 12 ฉบับ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางธุรกิจและการลงทุนระหว่างกัน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักธุรกิจของทั้งสองประเทศ
“การจับคู่ธุรกิจ (business matching) ครั้งนี้ เอกชนจากหอการค้าริยาด จำนวน 70 บริษัท และเอกชนไทยกว่า 200 บริษัท จะมีทั้งธุรกิจสาขาต่าง ๆ อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ท่องเที่ยวและโรงแรม สิ่งทอ (เสื้อผ้า/แฟชั่น) สุขภาพ อาหารและเครื่องดื่ม เกษตรและประมง เทคโนโลยีและสารสนเทศ R&D โลจิสติกส์ เครื่องมืออุตสาหกรรม อุปกรณ์การเกษตร ทรัพยากรมนุษย์และการฝึกอบรม ด้านกฎหมาย ด้านพลังงานและเหมืองแร่ มั่นใจว่าจะเป็นโอกาสลงทุนระหว่างกัน”
Mr.Krayem S. Alenezi, Member the Board of Directors of the Riyadh Chamber ผู้นำคณะนักธุรกิจซาอุดีอาระเบีย กล่าวว่า การเยือนประเทศไทยครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในแผนการขับเคลื่อนและขยายการค้า การลงทุน ตามนโยบาย Saudi Vision 2030 ที่มุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมลดการพึ่งพาน้ำมัน และซาอุดีอาระเบียยังมีแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในระดับจิกะโปรเจ็กต์เชื่อมโยงเข้ากับแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ไทย
พร้อมทั้งยกระดับระบบขนส่งโลจิสติกส์คาดว่าจะเกิดการลงทุนหลายหมื่นล้านบาทโดยเฉพาะการส่งออกปุ๋ยและอุปกรณ์การเกษตรของฝ่ายซาอุฯ ปลดล็อกอุปสรรคและหาแนวทางผ่อนปรนมาตรการในด้านการส่งออก-นำเข้าในสินค้า เช่น อาหารทะเลกระป๋อง เป็นต้น ซึ่งฝ่ายซาอุฯได้แสดงความสนใจระบบการรับรองมาตรฐานสินค้าฮาลาล รวมถึงระบบการจัดการห้องปฏิบัติการของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทุนไทยจ่อขยายลงทุน :
นายสัตวแพทย์สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจสัตว์น้ำ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า ได้ลงนามความร่วมมือกับ NAQUA บริษัทเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชั้นนำของซาอุดีอาระเบีย โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาพันธุ์กุ้งร่วมกัน เนื่องจากพันธุ์กุ้งของ NAQUA มีความพิเศษในเรื่องของความทนทานต่อโรค แต่มีข้อด้อยในเรื่องการโตช้า ในขณะที่พันธุ์กุ้งของซีพีเอฟ มีจุดเด่นในเรื่องเจริญเติบโตไว จึงเกิดความร่วมมือพันธุ์กุ้งระหว่างกัน จากก่อนหน้านี้ ซีพีเอฟได้มีการขยายการส่งออกไก่ไปซาอุดีอาระเบียแล้ว
นายสามารถ บุญธราทิพย์ ประธานกรรมการ บริษัท โปลิเคม อินเตอร์กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้ลงนามความร่วมมือขยายการลงทุนในธุรกิจศูนย์ดูแลรักษารถยนต์ ในประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งยังขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญในการดูแลรักษารถยนต์ สวนทางกับปริมาณรถยนต์ และซูเปอร์คาร์ที่มีเป็นจำนวนมาก บริษัทมีความเชี่ยวชาญ 40 ปี มีสาขาในไทยมากกว่า 70 แห่ง เบื้องต้นจะไปลงทุน 16 แห่งภายใน 2 ปี ใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 80 ล้านบาท และอนาคตจะขยายสาขาให้ครอบคลุมภูมิภาคตะวันออกกลาง
นอกจากนี้ บริษัทยังมองถึงโอกาสขยายการลงทุนธุรกิจด้านอื่น ๆ เช่น โรงแรม โรงพยาบาล ร้านอาหาร และสถานบริการด้านความงาม ซึ่งมีโอกาสสูงมาก เพราะมีการเปิดเสรีให้กับผู้หญิงออกจากบ้าน และสามารถทำงานนอกบ้านได้มากขึ้น และทางซาอุฯต้องการให้ธุรกิจไทยไปร่วมลงทุนตั้งแต่เอสเอ็มอีไปจนถึงบริษัทขนาดใหญ่
ไทยฐานผลิตอาหารซาอุฯ:
นายวสุ เซ็นสม นายกสมาคมนักธุรกิจไทยมุสลิม (TMTA) กล่าวว่า สมาคมจะเป็นตัวเชื่อมผู้ประกอบการซาอุฯมาไทย และธุรกิจ SMEs ไทยไปอาหรับ ล่าสุดได้พานักลงทุนไปดูการลงทุนที่นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ต่อไปจะสร้างงานให้ท้องถิ่น 3 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งเป็นสินค้าเกษตร อาทิ ทั้งทุเรียนกวน กล้วย มะม่วงแปรรูป
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ซาอุฯมาลงทุนโรงงานผลิตไก่แปรรูปตามมาตรฐานฮาลาล ตามหลักการอิสลามที่ตลาดซาอุฯต้องการ ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจา เป็นการร่วมทุนที่ จ.นครนายก นอกจากเกษตรแล้วยังมีสัญญาณการลงทุนการแพทย์ การศึกษา แรงงาน การท่องเที่ยว โดยสิ้นเดือนนี้จะพาผู้ประกอบการ 40-50 ราย ไปออกบูทและเพื่อขยายช่องทางลงทุนกับนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย นอกจากนี้ สมาคมจะประสานการดูแลนักท่องเที่ยวชาวซาอุฯซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้ามารักษาพยาบาลมีกำลังจ่ายสูงมาก สามารถกระจายรายได้ทั้งการท่องเที่ยวทั้งเมืองหลักและเมืองรอง
การฟื้นสัมพันธ์ครั้งนี้เเค่ระยะเเรกจะนำเงินเข้าประเทศไม่ต่ำกว่าร้อยล้าน และจะเป็นโอกาสของไทยอีกมหาศาล มากไปกว่านั้น มกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งซาอุดีอาระเบีย ที่จะเสด็จเยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการภายในปีนี้ จะยิ่งเป็นการดึงดูดชาวอาหรับให้เข้ามาท่องเที่ยวและลงทุนในไทยเพิ่ม”
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 9 กรกฏาคม 2565