บิ๊กเอกชนห่วงปัจจัยเสี่ยงรอบทิศ เงินเฟ้อพุ่ง-บาทอ่อน จี้ ธปท.ดูแลลดผันผวน

บิ๊กเอกชนห่วงหลากปัจจัยเสี่ยง ฉุดเศรษฐกิจไทยเดินหน้าช้า ขึ้นดอกเบี้ยสร้างหนี้เพิ่ม แบงก์ยิ่งปล่อยกู้ยาก บาททำนิวไฮ ทิศทางยังอ่อนค่าเพิ่มภาระนำเข้าวัตถุดิบ พลังงาน ดัน เงินเฟ้อพุ่งไม่หยุด จี้แบงก์ชาติช่วยดูแล
 
เศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยในไตรมาสแรกปี 2565 ขยายตัว 2.2% ส่วนภาคการส่งออกที่คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 60% ของจีดีพี ช่วง 5 เดือนแรกขยายตัว 12.9% ขณะที่เงินเฟ้อพุ่ง 7.6% (มิ.ย.65) สูงสุดรอบ 13 ปี  เข้าสู่ครึ่งหลังของปีนี้ ผู้นำภาคเอกชนยังมีความกังวลในหลากหลายปัจจัยเสี่ยงที่จะฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าช้า
 
นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ราคาพลังงานทั้งในต่างประเทศและในประเทศที่ยังอยู่ในระดับสูง สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ กระทบเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นสวนทางกำลังซื้อผู้บริโภคที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นยังเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย ส่วนการเตรียมปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.5%  อาจจะปรับขึ้นอีก 0.25-0.50% จะทำให้ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น และแบงก์จะปล่อยยากขึ้นเพราะกลัวหนี้เสีย หรือหนี้สูญ
 
“เรื่องนํ้ามันหรือพลังงานอยากขอให้รัฐบาลหาแหล่งนำเข้าราคาถูกเพิ่มเติม เช่น รัสเซีย ไม่ต้องไปกลัวชาติตะวันตกจะมาแซงชั่นเรา เพราะเวลาเราไม่มีกินก็ไม่มีใครช่วยเราได้”
 
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า จากเงินบาทที่อ่อนค่าระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์อ่อนค่ามากสุดในรอบ 6 ปี ในเวลานี้ และมีโอกาสที่อ่อนค่าแตะระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์ ผลจากเงินทุนต่างชาติไหลออกหลังสหรัฐฯขึ้นดอกเบี้ย และเงินหยวนแข็งค่า เรื่องนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องดูแลใกล้ชิดไม่ให้ค่าเงินผันผวนรวดเร็ว เพราะแม้บาทอ่อนจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออก แต่ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ และสินค้าเชื้อเพลิง/พลังงานต่าง ๆ ในราคาสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตในภาพรวมและเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นอีก ทำให้กำลังซื้อของประชาชนยิ่งถดถอย
 
 
นายสนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่, ราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวระดับสูง, ภาวะเงินเฟ้อ, ภาวะสงครามและความขัดแย้งระหว่างประเทศ และหนี้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ยังเป็นปัจจัยที่บั่นทอนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าช้าในช่วงครึ่งหลังปีนี้ ซึ่งทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนต้องร่วมกันแก้ไขปัญหา
 
ขณะที่นายชัยชาญ  เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและการส่งออกของไทยในเวลานี้ ได้แก่ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่เริ่มกลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง, ราคาพลังงานที่ทรงตัวในระดับสูง, การชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐฯและสหภาพยุโรปที่จะส่งผลให้การส่งออกของไทยชะลอตัวลง ซึ่งต้องเร่งหาตลาดอื่นชดเชย รวมถึงค่าระวางเรือที่มีแนวโน้มทรงตัวระดับสูงจนถึงปีหน้า ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันหาทางออกเพื่อฟันฝ่าอุปสรรคเหล่านี้ไปให้ได้
 
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 14 กรกฏาคม 2565

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)