โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย "บีเอ.5" คืออะไร และทำไมผู้ป่วยจำนวนมากติดเชื้อซ้ำ

ปัจจุบันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกกลับมาพุ่งสูงขึ้นอีกครั้งอย่างเห็นได้ชัดในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยตัวการของการแพร่ระบาดระลอกใหม่นี้ถูกชี้ไปที่สาเหตุเดียวกัน นั่นคือ โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย ‘บีเอ.5’
 
รายงานล่าสุดขององค์การอนามัยโลกระบุว่า บีเอ.5 เป็นสาเหตุของผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ถึง 52% ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 37% ขณะที่สำนักงานควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ (ซีดีซี) ระบุว่า บีเอ.5 คิดเป็นสัดส่วนการแพร่ระบาดในสหรัฐถึง 65% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่สายพันธุ์ย่อย บีเอ.4 และบีเอ.5 รวมกัน มีสัดส่วนการแพร่ระบาดสูงถึงกว่า 80% ส่วนค่าเฉลี่ยของผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่านับตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
 
จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น :
 
บีเอ.5 ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการรายงานว่าพบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยตัวนี้ครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ขณะที่องค์การอนามัยโลกได้ติดตามพัฒนาการของการแพร่ระบาดของมันมาตั้งแต่เดือนเมษายน
 
บีเอ.5 เป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกในช่วงปลายปี 2564 ที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในครั้งนั้น เริ่มจากที่แอฟริกาใต้ซึ่งพบการแพร่ระบาดครั้งแรก ลามไปยังอังกฤษ บางส่วนของยุโรป ออสเตรเลีย และทั่วโลก ท่ามกลางการทดสอบหาเชื้อที่ลดลง
 
ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกบ่งชี้ว่า ในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวเลขของผู้ติดโควิดโอมิครอนเพิ่มขึ้นทั่วโลก
 
ทำไมมันจึงแพร่ระบาด :
 
บีเอ.4 และบีเอ.5 มีความสามารถพิเศษในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่มีอยู่ในร่างกายมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นภูมิคุ้มกันจากวัคซีนต้านโควิด หรือจากการติดเชื้อมาก่อน จึงเป็นเหตุให้ บีเอ.5 มีโอกาสในการแพร่กระจายได้มากกว่าสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ ของโอมิครอนที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน
 
ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคขององค์การอนามัยโลกชี้ว่า สำหรับหลายๆ คน มันหมายความว่า บีเอ.5 จะทำให้พวกเขาสามารถติดเชื้อซ้ำได้ และอาจติดเชื้อซ้ำได้ในช่วงเวลาสั้นๆ หลังจากที่พวกเขาจะเพิ่งจะหายป่วยจากโควิด-19 ด้วย
การติดเชื้อซ้ำแทบจะดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาที่พบได้ในขณะนี้ เนื่องจากมีคนจำนวนมากที่เป็นเช่นนั้น และมีตัวอย่างมากมายที่พบว่าผู้ที่เคยติดโควิด-19 มาแล้ว ติด บีเอ.5 ซ้ำอีก
 
อาการไม่รุนแรง :
 
แม้บีเอ.5 จะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ และแม้จะมีผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นในบางประเทศ แต่จำนวนผู้เสียชีวิตไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นมากแต่อย่างใด
 
องค์การอนามัยโลกยืนยันว่า ยังไม่มีหลักฐานว่า บีเอ.5 อันตรายกว่าโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ แต่รับว่าจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอาจทำให้ระบบสาธารณสุขตกอยู่ภายใต้แรงกดดัน ทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะมีผู้คนมีอาการลองโควิดมากขึ้น
 
องค์การอนามัยโลกและผู้เชี่ยวชาญชี้ตรงกันว่า การแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อเป็นผลจากความไม่เท่าเทียมด้านวัคซีน และความต้องการของหลายประเทศที่จะ “ก้าวข้าม” โควิด-19 ซึ่งจะนำไปสู่การกลายพันธุ์ของไวรัสใหม่ที่คาดเดาไม่ได้มากขึ้น
 
ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์กำลังให้ความสนใจไปที่ไวรัสโควิดกลายพันธุ์ บีเอ.2.75 หรือที่เรียกกันว่า เซนทอรัส (Centaurus) ซึ่งพบครั้งแรกในอินเดียเมื่อเดือนพฤษภาคม ซึ่งมีการกลายพันธุ์หลายจุดและแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว จากนั้นก็พบการแพร่ระบาดในอีก 10 ประเทศ รวมถึงสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี และออสเตรเลีย และเพิ่งมีรายงานพบการแพร่ระบาดในเนเธอร์แลนด์
 
องค์การอนามัยโลกย้ำว่า ขณะนี้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังถือเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพทั่วโลก พร้อมกับแนะนำให้ประเทศต่างๆ หันกลับมาพิจารณาการใช้มาตรการป้องกันด้านสาธารณสุขอย่างการสวมใส่หน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างทางสังคม ควบคู่ไปกับการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น
 
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 14 กรกฏาคม 2565  

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)