"สนั่น" ประธานหอการค้าไทย ชี้โอกาสไทยในซาอุฯ มีอื้อ "ปตท.-CP-SCG" สั่งลุย

"สนั่น" บิ๊กหอการค้าไทย ชี้โอกาสไทยในซาอุฯ มีมากมายทั้งการค้า ร่วมลงทุน บริการ แรงงาน ก่อสร้าง รับ VISION 2030 ของซาอุฯ ลดการพึ่งพารายได้น้ำมัน สร้างสังคมมีชีวิตชีวา บิ๊กธุรกิจไทย "ปตท.-CP-SCG" สั่งลุยเต็มพิกัด
 
ในงานสัมมนา BIG ISSUE : The Opportunities ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ "ไทย-ซาอุฯ" จัดโดยฐานเศรษฐกิจ ช่วงเสวนา “Go Thailand : ทัพธุรกิจไทยตะลุยซาอุฯ”
 
นายสนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ซาอุฯเป็นโอกาสมากมายสำหรับประเทศไทย ทั้งด้านการค้า บริการ ท่องเที่ยว แรงงาน และอื่น ๆ หลังฟื้นความสัมพันธ์ในรอบ 32 ปี เห็นได้จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) ของซาอุดิอาระเบียในไตรมาส 1 ปีนี้ ขยายตัวถึง 9.9% และไตรมาสที่ 2 อาจจะเห็นการขยายตัวในตัวเลข 2 หลัก โดยมกุฎราชกุมารของซาอุฯ (เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด  หรือเป็นที่รู้จักกันในตะวันตกในชื่อย่อ “MBS”) ซึ่งมีพระชนมายุเพียง 36 พรรษา ได้ประกาศปฏิรูปประเทศ และมี Saudi Vision 2030 ซึ่งมี 2 เรื่องหลักคือในปี 2030 ซาอุฯจะมีการลดการพึ่งพารายได้จากการขายน้ำมันที่เป็นรายได้ 80% ของประเทศ ให้เหลือสัดส่วน 50%
 
เรื่องที่ 2 ซาอุฯประกาศชัดเจนว่าจะไม่อยู่ใต้อาณัติของประเทศมหาอำนาจ โดยซาอุฯต้องการจะคบกับประเทศต่าง ๆ โดยที่ดูเรื่องผลประโยชน์ของประเทศ และประชาชนของซาอุฯ เป็นหลัก ถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก
 
สำหรับ Vision 2030 ของมกุฎราชกุมารซาอุฯแยกได้เป็น 3 เสาหลัก เสาหลักแรก ต้องการสร้างสังคมของซาอุฯให้มีชีวิตชีวา จากเดิมซาอุฯมีภาพลักษณ์เป็นประเทศปิด เคร่งเรื่องศาสนาเป็นอย่างมาก  แต่ทันทีที่มกุฎราชกุมารฯได้ประกาศ vision ก็ได้ทำออกมาให้เป็นรูปธรรม เช่น สตรีชาวซาอุฯ สามารถขับรถได้เอง เปิดผ้าคลุมหน้าได้ ขณะเดียวกันให้ผู้หญิงสามารถออกมาทำงานในสถานที่ต่าง ๆ นอกบ้านได้ ถือเป็นการปฏิรูปครั้งสำคัญที่สุด
 
ขณะที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเที่ยวซาอุฯปีละประมาณ 18  ล้านคน ซึ่งในปี 2030  หรืออีก 8 ปีนับจากนี้ ตั้งเป้าจะต้องได้ 100 ล้านคน ซึ่งมีความเป็นไปได้ เพราะมีแผนยุทธศาสตร์รองรับ รวมถึงมีการส่งเสริมเรื่องการแข่งขันกีฬา มีการจัดอีเว้นต์ใหญ่ระดับโลก รวมถึงการทำให้ซาอุฯเป็นสวรรค์สำหรับนักช็อปปิ้งคล้ายกับดูไบ ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
 
เสาหลักที่ 2 ต้องการเห็นเศรษฐกิจของซาอุฯอยู่ในยุคที่เฟื่องฟูมากที่สุด จะมีการลงทุนเกี่ยวกับเรื่องสาธารณูปโภคทั้งถนน ตึกอาคารต่าง ๆ สนามบิน ส่วนในภาคอุตสาหกรรมซาอุฯ มีแผนตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ คล้าย EEC ของไทย  เพื่อดึงต่างชาติไปลงทุนผลิตสินค้า โดยมีโรดแม็ปที่ชัดเจนมาก จากปัจจุบันซาอุฯต้องนำเข้าสินค้าเกือบทุกอย่าง ขณะเดียวกันมีการสร้างมหาวิทยาลัยคิง อับดุลลาห์ ด้าน  Science and Technology  และนำเอานักวิจัย จ้างคนเก่ง ๆ ที่เป็นอัจฉริยะทั้งหลายมาทำงานในมหาวิทยาลัย เพื่อให้มั่นใจว่าแต่ละปีโครงการต่าง ๆ จะต้องเสร็จทันเวลา ขณะที่ภาคบริการซึ่งเป็นอีกหนึ่งภาคที่สำคัญมาก ซาอุฯ จะมีการสร้างโรงแรม โรงพยาบาลอีกจำนวนมาก
 
“การที่ซาอุฯจะดึงต่างชาติไปลงทุน โดยเลือกผู้ที่มีความชำนาญที่สุดในแต่ละอุตสาหกรรมที่ซาอุฯ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เพราะจะทำให้สามารถผลิตของ ลดการพึ่งพา แทนที่จะนำเข้าอย่างเดียว สามารถจำหน่ายในประเทศที่มีประชากรกว่า 35 ล้านคนได้ ขณะเดียวกันสามารถที่จะส่งออกสินค้าเหล่านี้ไปประเทศต่าง ๆ เช่น ในตะวันออกกลาง  ยุโรป หรือแอฟริกาได้ โดยซาอุฯมีจุดเด่นด้านประชากรจาก 35 ล้านคน ในจำนวนนี้สัดส่วน 65% มีอายุเฉลี่ยเพียง 30 ปีเท่านั้น และมีการศึกษาสูง ทำให้เขาได้เปรียบมาก”
 
นอกจากนี้หลังซาอุฯมีการประกาศ Vision 2030 มีโครงการเมกะโปรเจ็กต์ออกมามากมาย โดยโครงการขนาดใหญ่ เช่น THE LINE ที่จะมีการสร้างตึกที่สูงที่สุดในโลก โดยสูงถึงประมาณ 500 เมตร ความกว้าง 200 เมตร และมีความยาวถึง 170 กิโลเมตร ทำให้เป็นเมือง ๆ หนึ่ง โครงการนี้จะใช้เงินลงทุนประมาณ 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเขาทำได้แน่นอน เพราะมีเงินที่จะลงทุน โดยจะไปหาคนที่ออกแบบตึก และสร้างตึกที่อยู่ที่ดูไบมาทำให้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะทำให้โครงการเกิดขึ้นจริง
 
และเสาหลักที่ 3 ซาอุฯต้องการสร้างชาติ และให้คนในชาติมีความทะเยอทะยาน ลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมัน และต้องการให้รัฐบาล เป็น e-government เพื่อต้องการปราบปรามเรื่องคอรัปชั่น
 
“เขาสนใจไทยที่อยู่ในโลเคชั่นที่ดี และหากมีความร่วมมือดี ๆ หลายโครงการในซาอุฯที่จะเกิดการจ้างงานจะเป็นโอกาสของแรงงานไทยที่ปัจจุบันเราเน้นแรงงานที่มีทักษะที่มีค่าจ้างแรงงานสูง ต่างจากอดีตที่เป็นแรงงานขั้นต่ำที่ไทยต้องแข่งขันสูงกับตลาดแรงงานจากประเทศอื่นๆ”
 
อย่างไรก็ดี เมื่อเร็ว ๆ นี้ หอการค้าไทยมีโอกาสร่วมเดินทางกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ(ดอน ปรมัตถ์วินัย) เยือนซาอุฯ ได้ไปสร้างโมเมนตัมที่ดีมาก โดยชาวซาอุฯมีความเชื่อมั่นในประเทศไทย และคนไทยอย่างมาก การที่ได้ไปเซ็นเอ็มโอหลายฉบับระหว่างกัน ไม่ใช่เป็นเพียงสัญลักษณ์อย่างหนึ่งเท่านั้น แต่อยากจะให้ออกมาอย่างเป็นรูปธรรมจริง ๆ  ซึ่งในการไปครั้งนี้นอกจากได้มีการเซ็นเอ็มโอยูแล้ว มีผู้ประกอบอีกประมาณ 20 รายก็ได้มีการเซ็นโอยูกัน
 
“รูปธรรมที่กำลังเกิดขึ้น ในเดือนสิงหาคมนี้จะมีร้านคาเฟ่ อเมซอน ของพีทีทีโออาร์ เครือ ปตท. จะไปตั้งร้านแห่งแรกที่เมืองริยาด และเราเชื่อว่าเขาจะมาลงทุนในอีอีซีบ้าง ขณะเดียวกันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไทยเพิ่งกลับจากซาอุฯ ก็ได้มีการพูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องที่ซาอุฯมีความสนใจที่จะมาสร้างคลังเก็บน้ำมันในไทย และอาจมีการร่วมทุนตั้งโรงกลั่น เป็นต้น ซึ่งเฟสแรกอาจจะใช้เงินประมาณ 5 พันล้านเหรียญ”
 
นอกจากนี้ด้านวัสดุก่อสร้าง ทางซาอุฯต้องการสินค้าวัสดุก่อสร้างทุกอย่าง เพื่อใช้ในการก่อสร้างอีกหลายโครงการ โดย SCG หลังเดินทางร่วมคณะหอการค้าฯเยือนซาอุฯ ก็ได้กลับเข้าไปซาอุเองอีก 2-3 ครั้งเพื่อขายสินค้า ส่วนเครือซีพี หลังกลับมาก็กลับไปเองอีกหลายครั้งเช่นกัน
 
ล่าสุดนายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะนำคณะภาคเอกชนรายกลาง รายเล็กเยือนซาอุฯ ปลายเดือนสิงหาคม ซึ่งไม่ใช่แค่ MOU แต่จะทำให้เป็น M O DO ให้เกิดขึ้นจริง ๆ ซึ่งจะเป็นโอกาสของไทยใน 9 ด้านตามที่นายกรัฐมนตรีของไทยได้ประกาศไว้หลังเดินทางไปฟื้นความสัมพันธ์กับซาอุฯ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
 
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 3 สิงหาคม 2565
 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)