มองความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบจีน-ไต้หวัน แต่ละฝ่ายพึ่งพากันมากแค่ไหน
สถานการณ์ตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันปะทุขึ้นสู่จุดสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ หลัง แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เดินทางเยือนไต้หวัน เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา จุดชนวนให้จีนแสดงความกราดเกรี้ยว ถึงขั้นเปิดฉาก ‘ปิดล้อม’ เกาะไต้หวันเพื่อซ้อมรบใหญ่ ระดมกองเรือรบ ฝูงบินขับไล่ และขีปนาวุธหลากชนิด ทดสอบยิงข้ามเกาะ สร้างความหวาดหวั่นแก่หลายฝ่ายที่เกรงว่าเหตุการณ์อาจลุกลามบานปลายไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง
จนถึงตอนนี้ จีนได้ดำเนินมาตรการตอบโต้ในขั้นต้นต่อไต้หวัน ฐานละเมิดนโยบาย ‘จีนเดียว’ ด้วยการคว่ำบาตร ระงับการนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารไปแล้วกว่า 2,000 รายการ ซึ่งรวมถึงปลาและผลไม้ ขณะที่ยังระงับการส่งออกทรายแก่ไต้หวัน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมการก่อสร้างของไต้หวัน
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งของไต้หวันที่จีนเองต้องละเว้นไว้ คืออุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญ โดยเฉพาะไมโครชิป หรือเซมิคอนดักเตอร์ ที่ยังจำเป็นสำหรับการเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของจีน
ซึ่งแม้ว่าในแง่มุมด้านการเมืองนั้น ทั้งจีนและไต้หวันจะไม่มีท่าทีโอนอ่อนแก่กัน แต่แน่นอนว่าความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบในแง่มุมอื่นระหว่างสาธารณรัฐจีน (Republic of China) หรือไต้หวัน และสาธารณรัฐประชาชนจีน (People’s Republic of China) หรือจีนแผ่นดินใหญ่ นั้นยังคงมีสิ่งที่ตัดกันไม่ขาด และต้องพึ่งพากันอยู่ไม่น้อย
‘ไต้หวัน’ คือดินแดนทรงอิทธิพลนอกชายฝั่งของจีน
* เกาะไต้หวันมีขนาด 36,197 ตารางกิโลเมตร หรือใหญ่กว่ารัฐแมรีแลนด์ของสหรัฐอเมริกาเพียงเล็กน้อย หรือเทียบได้ประมาณครึ่งหนึ่งของสกอตแลนด์ และมีประชาชนราว 23 ล้านคน
* ถึงจะเป็นดินแดนเล็กๆ แต่ไต้หวันนั้นมีความคล้ายคลึงกับประเทศใหญ่อย่างเยอรมนี โดยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกจากอุตสาหกรรมการผลิตสินค้า
* อุตสาหกรรมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวันนั้นมีความสำคัญสูงสุดสำหรับเศรษฐกิจของไต้หวัน พอๆ กับที่อุตสาหกรรมรถยนต์มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของเยอรมนี
* ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจของไต้หวันนั้นพึ่งพิงการส่งออกเป็นหลัก โดยผลผลิตทางเศรษฐกิจกว่า 70% นั้นสืบเนื่องมาจากการผลิตเพื่อส่งออก
* และหากดูที่ระดับ GDP หรือตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของไต้หวันก็ถือว่าไม่น้อย โดยข้อมูลจาก IMF พบว่า ตัวเลข GDP ต่อหัวในปี 2021 อยู่ที่ 33,775 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่าเกือบ 3 เท่า เมื่อเทียบกับจีนที่มี GDP ต่อหัวในปี 2021 อยู่ที่ 12,259 ดอลลาร์สหรัฐ
คู่ค้าสำคัญและความจำเป็นต่ออุตสาหกรรมผลิต ‘ชิป’
* โดยรวมแล้ว จีนถือเป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของไต้หวัน รองลงมาคือสหรัฐฯ
* มากกว่า 42% ของการส่งออกของไต้หวันนั้นส่งไปยังจีน ขณะที่ไต้หวันนำเข้าสินค้าจากจีนในสัดส่วนราว 22%
* ทั้ง 2 ฝ่ายมีการค้าขายและแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการระหว่างกัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.66 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
* ขณะที่ไต้หวันเองก็เป็นหนึ่งในนักลงทุนชั้นนำอันดับต้นๆ ของจีนแผ่นดินใหญ่
* จากข้อมูลของรัฐบาลไทเป ระบุว่า ระหว่างปี 1991 ถึงปลายเดือนพฤษภาคม 2021 บริษัทต่างๆ ของไต้หวันลงทุนโครงการในจีนทั้งหมด 44,577 โครงการ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.94 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยโรงงานผู้ผลิตชิปรายใหญ่อย่าง Foxconn เป็นหนึ่งในตัวอย่าง ซึ่งเป็นที่รู้กันดีจากการลงทุนตั้งโรงงานทั่วประเทศจีนเพื่อรับจ้างผลิตสินค้าตามสัญญาผลิต เช่น iPhone สำหรับ Apple, สมาร์ทโฟน Galaxy สำหรับ Samsung และเครื่องเล่นเกมสำหรับ Sony
* อีกข้อเท็จจริงที่ต้องยอมรับ คือเซมิคอนดักเตอร์และเทคโนโลยีด้านไอทีอื่นๆ นั้น คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของการส่งออกทั้งหมดของไต้หวัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไต้หวันนั้นมีความสำคัญต่อประเทศอื่นๆ ของโลก รวมทั้งจีนด้วย
* แต่การพึ่งพากันของทั้งสองฝ่ายนั้นถือว่ามีความสำคัญต่อกัน โดยจีนนั้นสามารถจัดหาวัตถุดิบหลักๆ เช่น แรร์เอิร์ธ (Rare Earth) หรือสินแร่หายากที่ใช้ผลิตสินค้าไฮเทคต่างๆ และผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ราคาถูกในปริมาณมาก
* ในขณะที่ไต้หวันเองก็ส่งออกเซมิคอนดักเตอร์และชิ้นส่วนออปติคัล (Optical Component) ระดับสูงให้แก่จีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งยังไม่มีความรู้ความชำนาญมากพอจะผลิตได้
* สำหรับเป้าหมายหลักของรัฐบาลปักกิ่งนั้น คือการได้เทคโนโลยีการผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ระดับสูง โดยผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์หลายคนต่างเน้นย้ำเรื่องนี้ในหลายโครงการ อาทิ โครงการ ‘Made in China 2025’ แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่สามารถตามทันเทคโนโลยีการผลิตชิปของไต้หวัน
* อย่างไรก็ตาม วิกฤตตึงเครียดระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายที่เกิดขึ้น ทำให้ต้องจับตามองว่า จีนจะเพิ่มหรือคงมาตรการคว่ำบาตรลงโทษไต้หวันต่อไปอีกนานแค่ไหน เนื่องจากปัจจัยสำคัญที่สุดคือทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของไต้หวันที่มีประมาณ 280% ของ GDP ซึ่งเพียงพอสำหรับการนำเข้าสินค้าได้ 13 เดือน แต่ความขัดแย้งและ ‘การลงโทษ’ ที่ยืดเยื้อจากจีน อาจส่งผลให้เศรษฐกิจไต้หวันตึงเครียดมากขึ้นในระยะยาว
ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบจีน-ไต้หวัน
* ไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่นั้นมีความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบที่ตั้งอยู่ระหว่างมณฑลฝูเจี้ยนของจีนกับเกาะไต้หวัน โดยรัฐบาลสาธารณรัฐจีนอพยพมาตั้งรกรากที่ไต้หวันเมื่อปี 1949 หลังพ่ายแพ้สงครามกลางเมืองแก่พรรคคอมมิวนิสต์จีน
* ข้อมูลจากเว็บไซต์รัฐบาลไต้หวัน (https://www.taiwan.gov.tw/content_6.php) ระบุความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบระหว่างไต้หวันและจีนว่า ไต้หวันได้ยกเลิกแบนการเดินทางไปยังจีนสำหรับประชาชนที่มีญาติใกล้ชิดอยู่ในแผ่นดินใหญ่ ตั้งแต่ปี 1987 ขณะที่เริ่มผ่อนคลายข้อจำกัดด้านการเดินทาง และเริ่มเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างกันในปี 2008
* ไช่อิงเหวิน ประธานาธิบดีหญิงผู้ยืนหยัดสนับสนุนเอกราชของไต้หวัน ระบุว่า เพื่อส่งเสริมการปฏิรูปภายใน ไต้หวันจำเป็นต้องมีสภาพแวดล้อมภายนอกที่สงบสุขและมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงเรื่องความสัมพันธ์ต่อจีน ซึ่งนับตั้งแต่ได้รับเลือกตั้งครั้งแรกในเดือนพฤษภาคมปี 2016 และชนะสมัยที่ 2 ในปี 2020 ประธานาธิบดีไช่ได้ทำงานเพื่อสร้างความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบที่ ‘เหนียวแน่น คาดเดาได้ และยั่งยืน’ โดยอิงจากความเป็นจริงที่มีอยู่และรากฐานทางการเมือง
* จุดยืนที่ไม่เปลี่ยนแปลงของรัฐบาลไต้หวัน คือการรักษาสถานะความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบที่เป็นอยู่ (Status Quo) ซึ่งประเด็นความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบระหว่างไต้หวันและจีนมีความเชื่อมโยงกับสันติภาพในภูมิภาค
* อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนได้กำหนดเงื่อนไขเบื้องต้นทางการเมืองสำหรับการแลกเปลี่ยนข้ามช่องแคบ และระงับปฏิสัมพันธ์อย่างเป็นทางการเพียงฝ่ายเดียว อีกทั้งพยายามดำเนินการปราบปรามทางการเมือง และบีบบังคับทางทหารต่อไต้หวันอย่างต่อเนื่อง และเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2019 รัฐบาลจีนได้เสนอให้มีการศึกษาโมเดล ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ สำหรับไต้หวัน ซึ่งข้อมูลในเว็บไซต์ชี้ว่า เป็นการทำลายสถานะที่เป็นอยู่ของสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค
* สิ่งที่ตามมาคือในวันที่ 11 มีนาคม 2019 ประธานาธิบดีไช่ได้เสนอแนวทางปฏิบัติในการเผชิญกับวาระทางการเมืองที่ก้าวร้าวมากขึ้นของจีน โดยมุ่งเป้าไปที่การเสริมสร้างมาตรการด้านความมั่นคงของชาติ ปกป้องอธิปไตยของชาติ และสร้างความมั่นใจว่า คนรุ่นปัจจุบันและรุ่นอนาคตมีสิทธิตัดสินใจอนาคตของไต้หวัน
* สภานิติบัญญัติไต้หวันยังได้ผ่านพระราชบัญญัติต่อต้านการแทรกซึม ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2020 เพื่อป้องกันการแทรกแซงในกระบวนการทางการเมืองของประเทศ โดยกองกำลังที่เป็นศัตรูจากภายนอก
โอกาสที่จีนจะบุกไต้หวัน?
* ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนยืนกรานว่าไต้หวันนั้นเป็นมณฑลหนึ่งของจีน โดยประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ประกาศเป้าหมายที่ชัดเจนในการรวมชาติระหว่างไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่ อย่างช้าที่สุดในวันครบ 100 ปี การก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2049 ซึ่งหากจำเป็นก็ต้อง ‘ใช้กำลัง’
* แต่เป็นไปได้ว่าการเดินหน้าความพยายามเพื่อรวมชาติของจีนอาจเกิดขึ้นเร็วกว่านั้น โดย โรเดอริช คีเซอเว็ตเทอร์ (Roderich Kiesewetter) ส.ส. เยอรมนี ประธานคณะกรรมการกิจการต่างประเทศในรัฐสภาเยอรมนี และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัย ซึ่งรับผิดชอบการตรวจสอบหน่วยข่าวกรองเยอรมนี แสดงความเห็นในระหว่างให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นเมื่อไม่นานนี้ว่า “จนถึงตอนนี้ ปัจจัยชี้วัดของเราเป็นอย่างที่เราเคยระบุไว้ว่า หากจีนสามารถผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่มีความแม่นยำ ความรวดเร็ว และปริมาณที่เท่ากันได้ และนั่นอาจจะไม่ถึงปี 2027 ก็มีแนวโน้มว่าจะมีการโจมตีเกิดขึ้น”
* ขณะที่คีเซอเว็ตเทอร์กล่าวว่า “ยังมีฐานความคิดในจีนที่มองว่า ตอนนี้ชาติตะวันตกกำลังติดพันอย่างมากกับการทำสงครามกับรัสเซียและสนับสนุนยูเครน ซึ่งจีนมองว่าสหรัฐฯ นั้นไม่มีความแข็งแกร่งมากพอที่จะต่อสู้ในสงคราม 2 ด้าน”
* อย่างไรก็ตาม คีเซอเว็ตเทอร์เชื่อว่า จีนนั้นไม่พร้อมสำหรับการบุกไต้หวัน ซึ่งแม้จะมีสัญญาณเตือน แต่ก็ไม่ใช่ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
ธุรกิจยังสำคัญที่สุดสำหรับจีน
* คิชอร์ มาห์บูบานี (Kishore Mahbubani) อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติชาวสิงคโปร์ ให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg TV โดยมองเรื่องนี้ว่า เป็นที่ชัดเจนว่าจีนจะยืนหยัดเพื่อผลประโยชน์ของตนในลักษณะที่ไม่มีความปราณีมากขึ้นอีกในอนาคต
* ก่อนหน้านี้เขาเขียนหนังสือชื่อว่า ‘Has China Won?’ ซึ่งวิเคราะห์ว่าอะไรจะเกิดขึ้น หากจีนแซงหน้าสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก
* มาห์บูบานีไม่เชื่อว่ารัฐบาลปักกิ่งจะใช้กำลังทหารเพื่อเข้ายึดครองไต้หวัน เขามองว่าชาวจีนสนใจธุรกิจมากกว่าอุดมการณ์
* สำหรับผู้มีอำนาจตัดสินใจในปักกิ่ง แน่นอนว่าความเสี่ยงนั้นมีน้ำหนักมากกว่าโอกาส ทางการจีนไม่ได้คิดเรื่องการสร้างเศรษฐกิจให้ยิ่งใหญ่กว่าสหรัฐฯ ในหลักปี แต่คิดในหลักหลายทศวรรษ
“ชาวจีนกำลังทำให้แน่ใจว่าพวกเขามีเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าสหรัฐฯ และพวกเขาจะจดจำทุกอย่างที่เกิดขึ้นในอดีต นั่นคือเวลาที่การตอบโต้ที่แท้จริงทั้งหมดและการเอาคืนที่แท้จริงจะเกิดขึ้น เมื่อในที่สุดจีนได้กลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเป็นอันดับ 1 ของโลก” เขากล่าว
ที่มา the standard
วันที่ 8 สิงหาคม 2565