เอกชนตื่นตัวสถานการณ์ “จีน-ไต้หวัน” เร่งปรับแผนการผลิต-รับออร์เดอร์ หวั่นชิปเซมิคอนดักเตอร์ขาดแคลนหนัก
เอกชนไทยตื่นตัวสถานการณ์ในช่องแคบไต้หวัน หลังจีนต่อเวลาซ้อมรบ เร่งปรับแผนการผลิต-รับออร์เดอร์ เหตุมีชิปและเซมิคอนดักเตอร์ในสต๊อกรองรับการผลิตแค่ 1-3 เดือน จี้ไทยคว้าโอกาสในวิกฤตขยายตลาดส่งออก-ดึงต่างชาติย้ายฐานลงทุนใน EEC
เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมไทยอยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันอย่างใกล้ชิด หลังจากที่จีนได้ประกาศซ้อมรบในทะเลปั๋วไห่เพิ่มอีก 1 เดือนเต็ม เนื่องจากมีความเสี่ยงที่ปัญหาอาจลุกลามจนสร้างผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตเซมิคอนดักเตอร์และชิปของไต้หวัน ซึ่งถือเป็นผู้เล่นรายใหญ่ของโลกที่มีส่วนแบ่งในตลาดเซมิคอนดักเตอร์และชิปกว่า 60%
“สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนทำให้ชิปและเซมิคอนดักเตอร์มีปัญหาขาดแคลนอยู่แล้ว เพราะยูเครนเป็นผู้ส่งออกก๊าซนีออนที่ใช้ในการผลิตชิปในสัดส่วน 30-40% ของโลก ขณะนี้มีความเสี่ยงที่ปัญหาในไต้หวันจะซ้ำเติมและทำให้วิกฤตดังกล่าวรุนแรงขึ้น” เกรียงไกรกล่าว
เกรียงไกรกล่าวว่า แม้ว่าโรงงานส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมต่างๆ ของไทยยังมีชิปในสต๊อกเพียงพอสำหรับการผลิตได้ 1-3 เดือน แต่ทุกแห่งก็ตื่นตัวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและเริ่มระมัดระวังตัว มีการปรับแผนการผลิตและรับออร์เดอร์ รวมถึงมองหาแหล่งนำเข้าสินค้าทดแทน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากตลาดเซมิคอนดักเตอร์มีผู้เล่นจำนวนไม่มากและไต้หวันก็เป็นรายใหญ่ที่สุด
“สิ่งที่ทุกคนจับตาดูคือการคว่ำบาตรไต้หวันของจีนจะยาวแค่ไหน ถ้า 1 เดือนแล้วจบ ทุกคนก็น่าจะพอไหว แต่ถ้าลากยาวยืดเยื้อเหมือนกรณีของรัสเซีย-ยูเครน ผลกระทบก็จะรุนแรงมาก เพราะเซมิคอนดักเตอร์เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการผลิตสินค้าหลายอุตสาหกรรม ทั้งยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์” ประธาน ส.อ.ท. ระบุ
เกรียงไกรกล่าวอีกว่า แม้ว่าปัจจุบันจีนจะสามารถผลิตเซมิคอนดักเตอร์ได้เอง แต่ก็มีส่วนแบ่งในตลาดเพียงแค่ 6% หากการแซงก์ชันไต้หวันยาวนานออกไป จีนเองก็เจ็บตัวไปด้วย แต่การทำสงครามในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบและวิธีการ จีนอาจจะเลือกใช้ยุทธศาสตร์ทำให้เซมิคอนดักเตอร์ขาดแคลนจนนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อที่รุนแรงขึ้นในสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลต่อการเลือกตั้งในช่วงปลายปีของสหรัฐฯ ก็เป็นไปได้
อย่างไรก็ดี เกรียงไกรยังมองว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจเป็นประโยชน์กับประเทศไทยในบางมุมได้เช่นกัน เช่น ในกรณีที่จีนสั่งแบนไม่ซื้อสินค้าจากไต้หวันกว่า 2,000 รายการ โดยส่วนใหญ่เป็นอาหารและสินค้าเกษตร ก็ถือเป็นโอกาสที่ไทยสามารถเข้าไปทำตลาดแทนไต้หวันได้
ในด้านการลงทุน เกรียงไกรเชื่อว่าปัญหาความตึงเครียดของการซ้อมรบปิดล้อมกันในทะเลปั๋วไห่ จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนไต้หวัน ทำให้บางส่วนเริ่มคิดเรื่องย้ายฐานผลิต ซึ่งปัจจุบันไต้หวันถือเป็นประเทศที่มีการลงทุนโดยตรงในไทยสูงเป็นอันดับต้นๆ อยู่แล้ว และประเทศไทยก็มีคนไต้หวันอาศัยอยู่กว่า 1 แสนคน จึงมีโอกาสที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงบางส่วนอาจย้ายฐานการผลิตมาไทย
“เมื่อเร็วๆ นี้มีบริษัทผลิตชิปของไต้หวันย้ายฐานการผลิตไปสิงคโปร์ เชื่อว่าบางส่วนจะสนใจมาไทยเช่นกัน แต่จุดนี้เป็นหน้าที่ของ BOI และ EEC ที่ต้องเร่งเข้าไปยื่นข้อเสนอและชักชวนให้เลือกเรา” เกรียงไกรกล่าว
ด้าน ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สรท. ได้มีการติดตามสถานการณ์ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ดี จากการติดตามเรดาร์ล่าสุดยังไม่พบว่ามีสายการเดินเรือหยุดให้บริการ โดยท่าเรือในไต้หวันยังคงมีเรือขนส่งสินค้าเข้า-ออกตามปกติ
“สิ่งที่เรากังวลค่อนข้างมากคือปัญหาการขาดแคลนชิปและเซมิคอนดักเตอร์ที่มีโอกาสลุกลามเป็นวิกฤตสูง หลังจากที่จีนประกาศหยุดส่งออกทรายให้ไต้หวัน หากการขาดแคลนรุนแรงขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่อหลายอุตสาหกรรมของไทย โดยเฉพาะยานยนต์ที่ในครึ่งปีแรกส่งออกติดลบไปแล้ว 10%” ชัยชาญกล่าว
ชัยชาญระบุว่า ขณะนี้ สรท. อยู่ระหว่างร่วมมือกับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อประเมินผลกระทบและหาแนวทางรับมือหากปัญหาขาดแคลนชิปและเซมิคอนดักเตอร์ทวีความรุนแรงขึ้น
ที่มา the standard
วันที่ 8 สิงหาคม 2565