ประเทศไทยสะเทือน เมื่อโลกขัดแย้งรุนแรงขึ้น

ในระยะสั้น ประเทศไทยคงทำได้เพียงการประคองการส่งออกและการท่องเที่ยวให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อรักษาระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2565 แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย
 
ปัญหาความขัดแย้งในภูมิรัฐศาสตร์มีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่เริ่มตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ.2565 ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก จนทำให้หลายประเทศมีปัญหาอัตราเงินเฟ้อ
 
รวมถึงประเทศไทยที่ภาครัฐต้องเข้าไปดูแลราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้ม จนทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบถึง 110,000 ล้านบาท ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อได้ขยายตัวสูงสุดในรอบ 13 ปี เป็นผลมาจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นเป็นสำคัญ
 
ความขัดแย้งล่าสุด ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน เกิดขึ้นหลังจากนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ เดินทางเยือนไต้หวัน เมื่อวันที่ 2 ส.ค.2565 ส่งผลให้จีนประกาศระงับความร่วมมือ 8 ด้านกับไต้หวันทันที พร้อมกับการซ้อมรบใกล้กับน่านน้ำของไต้หวัน นำมาสู่ความกังวลถึงคู่ขัดแย้งใหม่ที่จะซ้ำเติมสงครามระหว่างรัฐเซียและยูเครนที่ยังไม่จบ รวมทั้งสร้างความกังวลต่อซัพพลายเชนโลก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมชิปที่ทั้งจีนและไต้หวันมีบทบาทหลัก
 
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานต่อคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 11 ส.ค.2565 ถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
 
จุดที่น่าสนใจคือ Worst case scenario ที่เป็นไปได้น้อยแต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ หลังจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนชัดเจนขึ้น ทำให้เริ่มมีขั้วอำนาจชัดเจน ระหว่างขั้วที่มีสหรัฐและพันธมิตรเป็นแกนนำ รวมถึงขั้วอำนาจที่มีรัสเซียและจีนเป็นแกนนำ
สิ่งที่น่ากังวลสำหรับกรณีดังกล่าวคือ เศรษฐกิจโลกถดถอยในระยะแรก และขยายตัวในเกณฑ์ต่ำสลับกับเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งจะเป็นไปตามความรุนแรงของมาตรการตอบโต้ระหว่าง 2 ขั้วเศรษฐกิจหลัก และการเพิ่มขึ้นของความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยจะทำให้ราคาพลังงาน อาหาร และสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น และอยู่ระดับสูงต่อเนื่อง รวมทั้งเริ่มขาดแคลนพลังงานและอาหาร 
 
ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโลกหดตัวรุนแรง และขยายตัวในเกณฑ์ต่ำสลับกับภาวะถดถอยหลายปีข้างหน้า
ในระยะสั้น ประเทศไทยคงทำได้เพียงการประคองการส่งออกและการท่องเที่ยวให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อรักษาระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2565 แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ซ้ำเติมปัญหาขาดแคลนชิป ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อการส่งออกยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์
ขณะที่การท่องเที่ยวต้องได้รับผลกระทบกรณีตลาดหลักเจอภาวะเศรษฐกิจถดถอย เช่น ยุโรป ดังนั้น โจทย์ครั้งนี้จึงไม่ง่ายที่ประเทศไทยจะก้าวข้าม แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ถ้าตั้งใจที่จะแก้ปัญหา
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 15 สิงหาคม 2565   

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)