คำเตือนจาก "ซีอีโอ" หัวเว่ย สัญญาณอันตรายเศรษฐกิจจีน

เมื่อไม่กี่วันมานี้ บันทึกหรือจดหมายเวียนภายในบริษัท "หัวเว่ย" ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีและโทรคมนาคมของจีน เขียนโดย "เหริน เจิ้งเฟย" ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัท เกิดรั่วไหลออกมาภายนอก
 
กลายเป็นไวรัลที่แชร์และถกกันสนั่นโลกโซเชียลมีเดียในจีน
 
ในบันทึกดังกล่าว เหรินเตือนพนักงานของหัวเว่ยอย่างตรงไปตรงมาว่า “ความหนาวเย็นจะแผ่ซ่านจนทุกคนรู้สึกได้” และเตือนว่า หากต้องการให้หัวเว่ยอยู่รอดได้ในอีก 3 ปีข้างหน้า บริษัทจำเป็นต้องโฟกัสไปที่ “กำไร” และ “กระแสเงินสด” มากกว่าการขยายกิจการหรือการเติบโต ซึ่งไม่ได้เป็นความสำคัญลำดับต้น ๆ อีกต่อไปแล้ว
 
เป็นสัญญาณเตือนว่า จะยังคงมีการปรับลดพนักงานลง และลดการลงทุนลงต่อไป
 
“ทศวรรษต่อไปจะเป็นห้วงเวลาประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวด เมื่อเศรษฐกิจโลกจะเสื่อมทรุดลงอย่างต่อเนื่อง” ทั้งจากวิกฤตโควิด, ผลกระทบจากสงครามในยูเครน และการที่สหรัฐอเมริกายังคง “ปิดล้อม” ธุรกิจบางอย่างของจีนอยู่อย่างต่อเนื่อง
 
ซีอีโอของหัวเว่ย บอกกับพนักงานว่า สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับบริษัทในเวลานี้ก็คือ “การเอาตัวให้รอด” ต้องลดความคาดหวังในทางที่ดีเกินจริง ไม่เพียงแค่ในเวลานี้ แต่ยังต้องต่อสู้เพื่ออยู่รอดให้ได้ในปี 2023 หรืออาจจะถึงปี 2025 ด้วยซ้ำไป
 
“ในอดีต เรารับเอาอุดมการณ์โลกาภิวัตน์และความทะยานอยากที่จะรับใช้มนุษยชาติเข้าไว้ ตอนนี้อุดมการณ์ของเราคืออะไรกัน ? คือการอยู่รอดและหาเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ได้ ในที่ที่สามารถจะทำได้” ต้องปรับตัวเข้ากับโครงสร้างของตลาด และศึกษาเรียนรู้ว่าอะไรทำได้ อะไรที่ควรตัดทิ้งไป
 
นั่นหมายถึงอาจเกิดการปรับลดขนาดกิจการลง โดยเฉพาะในส่วนที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
 
ซึ่งก่อให้เกิดการแสดงความคิดเห็นกระหึ่มโลกโซเชียลตามมาว่า ถ้าหากยักษ์อย่างหัวเว่ยต้องดิ้นเอาตัวรอดอย่างนี้ แล้วธุรกิจเอกชนในจีนที่ส่วนใหญ่เป็นขนาดกลางและขนาดเล็กจะตกอยู่ในสภาพอย่างไร ?
 
เปา หลิงเฮ่า นักวิเคราะห์ของทริเวียม ไชน่า ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า “บันทึกของเหริน” ได้รับความสนใจอย่างเอกอุ ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะการเตือนภัยถึงความยุ่งยากที่กำลังต้องเผชิญ แต่ยังเป็นเพราะวิธีการสื่อสารของเขา ที่ตรงไปตรงมาจนเหมือนกำลังตกอยู่ในภาวะ “แตกตื่น” กับสิ่งที่บริษัทเผชิญอยู่
 
“หัวเว่ย” ซึ่งถือกันว่าเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดของจีน ในตอนนี้ตกอยู่ในสภาพตกต่ำทั้งรายได้และกำไร รายได้ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ลดลงถึง 14% กำไรสุทธิลดลงเหลือเพียง 4.3% จากที่เคยทำได้ 11.1% เมื่อ 1 ปีก่อนหน้า
 
ในเวลาเดียวกัน เศรษฐกิจจีนกำลังถูกท้าทายจากแรงกดดันรอบด้าน ปัจจัยลบผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ทั้งจากความเข้มงวดในการรับมือกับการระบาดของโควิด-19, วิกฤตการณ์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ และผลกระทบอย่างรุนแรงจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เสื่อมทรามลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว
 
คาดกันอย่างกว้างขวางว่า ในปีนี้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนคงไม่บรรลุถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 5.5%
 
นักวิชาการอย่างศาสตราจารย์ “สตีฟ ซ่าง” ที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบัน SOAS China Institute ชี้ว่า เมื่อคนที่อยู่ในสถานะอย่าง “เหริน เจิ้งเฟย” พูดออกมาเช่นนี้ คำพูดนี้ควรถูกพินิจพิเคราะห์อย่างจริงจัง เพราะหากเหรินยอมรับว่าบริษัทอย่างหัวเว่ย อาจเผชิญความยุ่งยากลำบากสาหัส ก็แสดงให้เห็นเช่นกันว่า เศรษฐกิจจีนก็กำลังตกอยู่ในสภาพเปราะบางเต็มที
 
ภาคธุรกิจเอกชนของจีน ถือเป็นภาคธุรกิจที่ก่อให้เกิดการจ้างงานสูงถึง 1 ใน 3 ของตำแหน่งงานทั้งหมดที่มีในประเทศ โดยเฉพาะในเขตเมือง ซึ่ง 90% ของตำแหน่งงานเกิดขึ้นจากภาคเอกชนทั้งสิ้น
 
ข้อเท็จจริงดังกล่าว สะท้อนออกมาให้เห็นในรูปของอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นมากในเวลานี้
 
อัตราว่างงานในกลุ่มเยาวชนจีนในเดือนกรกฎาคมทะยานขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 19.9% ในขณะที่อัตราว่างงานทั่วไปในเขตเมือง ยังคงอยู่ในระดับสูงเช่นกันที่ 5.4% ระดับขอรับเงินประกันการว่างงานเมื่อเดือนมิถุนายนก็เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกัน
 
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนเพิ่งประกาศอัดฉีดเงินงบประมาณอีก 146,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ ๆ อีก 19 มาตรการ เพื่อแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจจากปัจจัยต่าง ๆ
 
คำถามที่ถามกันอยู่ในจีนในเวลานี้ก็คือ “เหริน เจิ้งเฟย” ดูเหมือนจะมองเห็นทางรอดที่มีประสิทธิภาพของหัวเว่ยและชี้แจงออกมาแล้ว
 
แล้ว “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีจีนมองเห็นลู่ทางเอาตัวรอดของเศรษฐกิจจีนในเวลานี้แล้วหรือยัง ?
 
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 30 สิงหาคม 2565

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)