ดัน FTA "ไทย-อ่าวอาหรับ" ซาอุฯ รับปากช่วยแจ้งเกิด ขยายการค้า 8 แสนล้าน
ไทยลุยต่อผนึกซาอุฯ ดันแจ้งเกิด FTA กับ 6 ประเทศกลุ่มอ่าวอาหรับ เล็งขยายการค้า 8 แสนล้านโตก้าวกระโดด "จุรินทร์" สร้างผลงานนำทัพซีอีโอเอกชนเยือนซาอุฯ ทั้งดัน FTA ตั้งสภาธุรกิจ-JTC ขยายค้า-ลงทุนครั้งใหญ่ เอกชนมั่นใจร่วมลงทุนในอนาคต หอการค้าจี้เคลียร์ความชัดเจนส่งออกไก่
การนำคณะภาคเอกชน 89 บริษัท และผู้บริหารระดับสูงกว่า 130 คน ของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ระหว่างวันที่ 27 -31 สิงหาคม 2565 ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง มีไฮไลท์สำคัญเกิดขึ้นมากมาย
หนึ่งในไฮไลท์สำคัญนายจุรินทร์ ได้หารือกับนายอับดุลลาห์ อัล-คัสซาบี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของซาอุฯ และได้รับข้อเสนอของไทยในการช่วยประสานกับกลุ่มประเทศคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council : GCC) ซึ่งมีสมาชิก 6 ประเทศ ประกอบด้วย ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) กาตาร์ โอมาน คูเวต และบาห์เรน ในการผลักดันการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับกลุ่ม GCC ต่อไป
นอกจากนี้ทางซาอุฯได้ตอบรับข้อเสนอของไทยในการผลักดันให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) คาดจะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงและนำสู่การจัดตั้ง JTC ได้ก่อนสิ้นปีนี้
รวมถึงทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกันในการจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-ซาอุดีอาระเบีย เพื่อสร้างความร่วมมือในการขยายการค้า การลงทุนของภาคเอกชนทั้งสองฝ่าย และองค์การอาหารและยา (อย.) ของซาอุฯจะเร่งส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบและรับรองโรงงานแปรรูปไก่ในไทยเพิ่มเติมอีก 28 โรง (จากปัจจุบันผ่านตรวจสอบมาตรฐานและส่งออกได้แล้ว 11 โรง) ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสในการส่งออกสินค้าไก่จากไทยไปซาอุฯได้เพิ่มขึ้น
FTA ไทย-GCC สร้างโอกาสทอง :
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หากไทยสามารถเจรจาและบรรลุผลสำเร็จในการจัดตั้ง FTA ไทย-GCC ได้ จะเป็นโอกาสทองของไทยเพิ่มขึ้นในการขยายการค้ากับ 6 ประเทศในกลุ่มอ่าวอาหรับ ซึ่งรวมถึงซาอุฯ ที่เวลานี้การค้าไทย-ซาอุฯ เริ่มขยายตัวมากหลังฟื้นความสัมพันธ์รอบ 32 ปี ขณะที่ 6 ประเทศในกลุ่มนี้มีรายได้เพิ่มจากการส่งออกนํ้ามันซึ่งเป็นสินค้าหลัก ดังนั้นไทยต้องเร่งปักธงในการจัดทำ FTA เพื่อขยายการค้า การลงทุนชิงความได้เปรียบสินค้าจากจีน เกาหลีใต้ ที่กำลังเร่งขยายตลาดการค้าใน GCC ในเวลานี้
“การส่งออกไทยไปซาอุฯ ปีนี้มั่นใจว่าจะทำได้ถึง 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯแน่นอน เพราะช่วง 7 เดือนแรกส่งออกไปแล้ว 1,100 ล้านดอลลาร์ ซึ่งอีก 5 เดือนเหลืออีกประมาณ 900 ล้านดอลลาร์เชื่อว่าทำได้ เพราะซาอุฯเป็นตลาดศักยภาพสูง สินค้าส่วนใหญ่เขานำเข้ามากกว่าผลิตได้ในประเทศ ส่วนกลุ่ม GCC หากไทยทำเอฟทีเอได้ จะทำให้สินค้าไทยได้เปรียบด้านภาษีนำเข้าตํ่า หรือเป็นศูนย์ และจะขยายการส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มนี้ได้อีกมาก เพราะประเทศสมาชิกมีกำลังซื้อค่อนข้างสูง”
ขยายการค้ากลุ่ม GCC 8 แสนล้าน :
จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือของกรมศุลกากร ระบุการค้าไทยกับกลุ่ม GCC ช่วง 7 เดือนแรกปี 2565 มีมูลค่ารวม 830,448.58 ล้านบาท ขยายตัว 95.74% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยไทยส่งออก 127,590.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.72% นำเข้า 702,858.16 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 115.16% ไทย ขาดดุลการค้า 575,267.74 ล้านบาท โดยสินค้าส่งออก 5 อันดับแรกของไทยไปยังกลุ่ม GCC ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้, เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ, อัญมณีและเครื่องประดับ และผลิตภัณฑ์ยาง
ขณะสินค้านำเข้าของไทยจากกลุ่ม GCC ใน 5 อันดับแรกได้แก่ น้ำมันดิบ (สัดส่วน 65%), น้ำมันสำเร็จรูป (สัดส่วน 11%), ก๊าซธรรมชาติ (สัดส่วน 1%), ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ (สัดส่วน 4%) และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (สัดส่วน 4%)
ประธาน สรท. กล่าวอีกว่า สำหรับตลาดซาอุฯ สินค้าไทยมีศักยภาพเกือบทุกรายการ เพราะซาอุฯมีโรงงานผลิตสินค้าน้อย โดยมีการเลี้ยงไก่ไข่ ไก่เนื้อ และโรงงานแปรรูปบ้างแต่ไม่เพียงพอกับความต้องการ สินค้าส่วนใหญ่ต้องนำเข้า โดยสินค้าเกษตรและอาหารจากไทยที่ได้รับความนิยมในซาอุฯ เช่น ผัก ผลไม้ต่าง ๆ ที่มีการส่งออกทางเครื่องบินไปซาอุฯวันละประมาณ 3 ตันเพื่อจำหน่ายในห้างฯ นอกจากนี้มีสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง เครื่องปรับอากาศ และอื่น ๆ
ชิ้นส่วนรถยนต์สินค้าเรือธงตัวใหม่ :
“สินค้าเรือธงของไทยในซาอุฯเวลานี้ คือชิ้นส่วนรถยนต์ที่กำลังขยายตัวมาก โดย 7 เดือนแรกส่งออกไปแล้ว 522 ล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 18,000 ล้านบาท) ขยายตัวถึง 18% ผลพวงจากซาอุฯอนุญาตให้ผู้หญิงขับรถยนต์ได้ มีการสร้างถนน และเมืองใหม่เพิ่ม ทำให้มีความต้องการชิ้นส่วนและอะไหล่เพื่อซ่อมบำรุงรถมากขึ้น
นอกจากนี้มีโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะดึงซาอุฯมาร่วมลงทุนแปรรูปอาหารที่เขามีความต้องการเพื่อหล่อเลี้ยงประชากรกว่า 30 ล้านคน ขณะที่ไทยมีโอกาสร่วมลงทุนในซาอุฯในห่วงโซ่อุปทานปิโตรเคมี ที่เขามีวัตถุดิบน้ำมันและปิโตรเลียมที่มีต้นทุนด้านพลังงาน และการขนส่งที่ตํ่า”
ตั้งสภาธุรกิจดันค้าเพิ่มหมื่นล้าน :
ด้าน นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เผยว่า ในการจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-ซาอุดีอาระเบียในครั้งนี้ ภาคธุรกิจของทั้งสองประเทศจะสนับสนุนเพื่อนำไปสู่มูลค่าการค้า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 10,500 ล้านบาท) ภายใน 1 ปี และมีการจับคู่ธุรกิจระหว่างภาคเอกชนคิดเป็นมูลค่าการค้ากว่า 40 ล้านดอลลาร์ (1,400 ล้านบาท)
นอกจากนี้ฝ่ายไทยยังได้เชิญชวนนักลงทุนซาอุฯไปลงทุนในไทย โดยจะได้สิทธิประโยชน์จาก FTA ที่ปัจจุบันไทยมีกับคู่ค้า 18 ฉบับ รวม 18 ประเทศ และกำลังเจรจากับอีกหลายประเทศ
“ในการหารือกับประธาน อย.ของซาอุฯ หอการค้าไทยได้ฝากประเด็นเรื่องส่งออกไก่ ซึ่งปัจจุบันตามที่ได้มีการอนุญาตให้ 11 บริษัทของไทยสามารถส่งออกไก่มาได้ และปรากฏรายชื่อบนเว็บไซต์ของทางซาอุฯแล้ว แต่เรายังมีความกังวลเรื่องความชัดเจนระหว่างไก่สดและไก่แปรรูป ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีของไทยได้ขอให้มีการตั้ง Contact Point ของทั้งสองฝ่ายเพื่อดำเนินการต่อเรื่องรายละเอียดต่าง ๆ ที่ยังต้องติดตามให้ครบถ้วน เพราะไม่เช่นนั้นไทยอาจจะส่งออกได้แค่ไก่สดก่อน”
ด้าน นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวว่า ซาอุฯมีการนำเข้าสินค้าไก่ปีละ 5.9 แสนตัน โดยนำเข้าจากบราซิล 70% อีก 30% นำเข้าจากยูเครน และฝรั่งเศส ผลจาก 11 โรงงานไก่ไทยได้รับการรับรองส่งออกไปซาอุฯ จะทำให้ไก่ไทยเข้าไปมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น และหากขยายได้เพิ่มอีก 28 โรง และหากในอนาคตไทยมีการจัดทำ FTA กับกลุ่ม GCC สินค้าไก่ไทยจะช่วยสร้างโอกาสทางการตลาดและการส่งออกให้กับประเทศไทย ทั้งในตลาดซาอุฯและในกลุ่ม GCC มากยิ่งขึ้น
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 1 กันยายน 2565