ดัชนีค่าครองชีพเมืองท่องเที่ยว เร่งเครื่อง ศก.ไทย
ภาคการท่องเที่ยวถือเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยกลับมาเที่ยวไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทุกความหวังมุ่งเข้ามาที่ภาคการท่องเที่ยว
ล่าสุดสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2565 นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 สิงหาคม 2565 มีจำนวน 4,635,418 คน
โดย 10 อันดับแรกที่เดินทางเข้าไทยมากที่สุดได้แก่ 1.มาเลเซีย 647,648 คน 2.อินเดีย 449,236 คน 3.สปป.ลาว 276,924 คน 4.สิงคโปร์ 242,220 คน 5.กัมพูชา 228,846 คน 6.สหราชอาณาจักร 211,016 คน 7.เวียดนาม 205,687 คน 8.สหรัฐอเมริกา 191,404 คน 9.เกาหลีใต้ 187,792 คนและ 10.เยอรมนี 159,639 คน
นอกจากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาดีขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังเห็นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศฟื้นตัวมากขึ้น
สะท้อนได้จากสิทธิในโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 4 ส่วนต่อขยาย 1.5 ล้านสิทธิหรือห้องพักหมดลงแล้วเมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา
จำนวนการเดินทางของตลาดไทยเที่ยวไทย ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-มิถุนายน) แตะระดับ 60 ล้านคน-ครั้งแล้ว
แนวทางในการเดินหน้าภาคการท่องเที่ยวต่อไป จึงต้องมีความชัดเจนมากขึ้น เพื่อให้ท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัวในตอนนี้ สามารถกลับมาเป็นปกติและดีขึ้นต่อเนื่องต่อไป โดยอาศัยแผนการเดินหน้า หรือนโยบายของภาคการท่องเที่ยวอย่างชัดเจน
พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) ได้สั่งการให้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาเรื่องการจัดทำดัชนีค่าครองชีพเมืองท่องเที่ยว ตัวชี้วัดภาวะของภาคการท่องเที่ยวไทย โดย ท.ท.ช.นัดถัดไปจะหารือเรื่องนี้อีกครั้ง
ดัชนีค่าครองชีพเมืองท่องเที่ยว เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อกำหนดมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพ กำกับดูแลราคาสินค้า และดัชนีค่าครองชีพเมืองท่องเที่ยว
รวมถึงเพื่อเป็นตัวช่วยให้นักท่องเที่ยวสามารถนำไปวางแผนการใช้จ่ายในการท่องเที่ยวได้ด้วยโดยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสร้างรายได้ 3 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 17.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2562 ภาคการท่องเที่ยวก่อให้เกิดการจ้างงาน
ทั้งในภาคของการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ โรงแรมที่พัก ภัตตาคาร ร้านอาหาร ธุรกิจทัวร์นำเที่ยว ธุรกิจก่อสร้าง ช่วยให้เกิดการกระจายความเจริญ นำรายได้สู่ท้องถิ่นและชุมชน
ดัชนีค่าครองชีพเมืองท่องเที่ยว จะช่วยสำรวจราคาสินค้า และบริการด้านการท่องเที่ยวในแต่ละจุดหมายปลายทาง โดยการจัดข้อมูลราคาสินค้าที่นักท่องเที่ยวนิยม อาทิ บริการแหล่งท่องเที่ยว การบริโภคสินค้า ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเลือกปลายทางและวางแผนการเดินทางที่สอดคล้องกับงบประมาณที่มีได้ ขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นมีมุมมองที่ชัดเจนมากขึ้นในการวางแผนพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่ หรือชุมชนเหล่านั้น นายพิพัฒน์เผย
นายพิพัฒน์ยังให้ข้อมูลว่า ภาครัฐ หรือเอกชนสามารถนำดัชนีค่าครองชีพเมืองท่องเที่ยวไปใช้ในการออกแบบมาตรการส่งเสริม หรือกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงทบทวนบริการแหล่งท่องเที่ยว หรือแหล่งขายสินค้าที่ระลึกด้านการท่องเที่ยว ช่วยให้การกำกับดูแลราคาสินค้าและบริการในเมืองท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพ สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับในเชิงคุณภาพของดัชนีค่าเมืองท่องเที่ยว ได้แก่ การกำหนดนโยบายและมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ ในภาพรวมที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การกำกับดูแลราคาสินค้าและบริการในเมืองท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพเกิดการบูรณาการระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม
าน ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านการตลาดภายในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ให้เหตุผลว่าหากมีดัชนีค่าครองชีพเมืองท่องเที่ยว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุมราคา จะกำหนดราคาสินค้าในเมืองท่องเที่ยวได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น สำหรับผลิตภัณฑ์และบริการด้านการท่องเที่ยว และอาจเป็นเกณฑ์มาตรฐานอย่างเป็นทางการสำหรับคู่มือการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ อาทิ Lonely Planet และ Michelin Green Guide
จากความเห็นรัฐมนตรีฯท่องเที่ยวและกีฬา ตลอดจนผู้บริหาร ททท. จะพบว่า การจัดทำดัชนีค่าครองชีพเมืองท่องเที่ยว มีหลักการและเหตุผล เพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย และสร้างรายได้แก่ประเทศอย่างมหาศาล
โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งหมดของการท่องเที่ยวในปี 2562 มีมูลค่าถึง 3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 17.8% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งจากนี้ภาคการท่องเที่ยวจะเป็นส่วนช่วยให้เกิดการจ้างงาน ทั้งในภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ภัตตาคาร ร้านอาหาร ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ธุรกิจทัวร์นำเที่ยว และธุรกิจก่อสร้าง เกิดการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นและชุมชน ซึ่งรัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในข้อนี้ผ่านการออกมาตรการส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง
ส่วนวิธีดำเนินการ มีขั้นตอนคือ 1.ออกแบบลักษณะ และโครงสร้างดัชนีค่าครองชีพเมืองท่องเที่ยว 2.ศึกษา วิเคราะห์ และคัดเลือกเมืองท่องเที่ยวสำคัญของไทย 3.สำรวจ และคัดเลือกแหล่งสินค้าและบริการที่นักท่องเที่ยวนิยม 4.จัดทำโครงสร้างน้ำหนักดัชนีค่าครองชีพเมืองท่องเที่ยว 5.จัดเก็บข้อมูลราคาสินค้าและบริการจากแหล่งต่างๆ ในพื้นที่ที่คัดเลือก พร้อมกับบันทึกข้อมูลในระบบ 6.ทบทวนแหล่งจำหน่ายสินค้าและบริการที่นักท่องเที่ยวนิยม 7.ตรวจสอบและประมวลผลข้อมูล และ 8.วิเคราะห์และจัดทำรายงานดัชนีค่าครองชีพเมืองท่องเที่ยว
ผลที่คาดว่าจะได้รับ คาดว่าจะได้รับในเชิงปริมาณ ได้แก่
1.มีข้อมูลแหล่งจำหน่ายสินค้าและบริการที่นักท่องเที่ยวนิยม
2.มีข้อมูลรายการและลักษณะจำเพาะสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคกลุ่มนักท่องเที่ยวนิยม
3.มีโครงสร้างน้ำหนักการบริโภคสินค้า หรือบริการของนักท่องเที่ยวในแต่ละเมือง และ
4.มีดัชนีค่าครองชีพเมืองท่องเที่ยว
ส่วนผลที่คาดว่าจะได้รับในเชิงคุณภาพ ได้แก่ 1.การกำหนดนโยบายและมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่และภาพรวมที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 2.การกำกับดูแลราคาสินค้าและบริการในเมืองท่องเที่ยวมีประสิทธิภาพและตรงเป้าหมาย 3.นักท่องเที่ยวสามารถวางแผนการใช้จ่ายในเมืองท่องเที่ยวล่วงหน้าได้ 4.ดัชนีค่าครองชีพเมืองท่องเที่ยวของไทยถูกนำไปอ้างอิงในคู่มือการท่องเที่ยว และ 5.เกิดการบูรณาการการทำงานระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงพาณิชย์ อย่างเป็นรูปธรรม
ในด้านของภาคเอกชนก็มีการจัดทำตัวชี้วัดสถานการณ์ของผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวผ่านดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว ที่จัดทำโดยสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ซึ่งที่ผ่านมาก็สะท้อนถึงภาวะของภาคการท่องเที่ยวไทยมาโดยตลอด
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 4 กันยายน 2565