กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สาม เสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่

การเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 ทำให้ "เจ้าชายแห่งเวลส์" มกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นองค์รัชทายาทลำดับที่ 1 ทรงขึ้นครองพระราชบัลลังก์เป็นกษัตริย์ชาร์ลส์ที่สาม (Charles the III) พระประมุขพระองค์ใหม่แห่งสหราชอาณาจักรโดยทันที
 
สำนักข่าวบีบีซี สื่อใหญ่ของอังกฤษ รายงานวันนี้ (9 ก.ย.) ว่า กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 พระประมุขพระองค์ใหม่แห่งสหราชอาณาจักร จะทรงต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ ทั้งในทางปฏิบัติและทางราชประเพณี ก่อนที่จะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเพื่อเสด็จขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการ
 
บีบีซีรายงานว่า สิ่งที่กษัตริย์พระองค์ใหม่จะต้องทรงตัดสินพระทัยเป็นอย่างแรก คือพระนามที่ใช้ประจำรัชกาล ซึ่งอาจทรงเลือกใช้พระนามปัจจุบัน "ชาร์ลส์" หรือพระนามที่เป็นชื่อกลางชื่อใดชื่อหนึ่งจากพระนามเต็มว่า “ชาร์ลส์ ฟิลิป อาเธอร์ จอร์จ”
 
กรณีตัวอย่างที่กษัตริย์พระองค์ใหม่เลือกใช้พระนามประจำรัชกาลที่ไม่ใช่ชื่อตัวในปัจจุบัน ได้แก่พระเจ้าจอร์จที่ 6 พระอัยกา ซึ่งทรงเลือกใช้พระนาม "จอร์จ" แทนที่จะเป็น "อัลเบิร์ต" เพื่อแสดงความต่อเนื่องของการสืบสันตติวงศ์จากพระเจ้าจอร์จทั้ง 5 พระองค์ที่ครองบัลลังก์ก่อนหน้านั้น
 
นอกจากกษัตริย์ชาร์ลส์ที่สามแล้ว เจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งเคมบริดจ์ ผู้เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ จะทรงได้รับการสถาปนาเลื่อนพระอิสริยยศขึ้นเป็นมกุฎราชกุมาร หรือเจ้าชายแห่งเวลส์ในภายหลัง แต่ฐานันดรศักดิ์ที่จะทรงได้ครองแทนที่พระราชบิดาโดยอัตโนมัติในทันที คือตำแหน่ง ดยุกแห่งคอร์นวอลล์ ส่วนพระชายาแคทเธอรีนก็จะได้เป็นดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ แทนที่พระชายาคามิลลาซึ่งขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีของกษัตริย์พระองค์ใหม่เช่นกัน
 
 
พระราชโองการประกาศการสืบทอดบัลลังก์
ทั้งนี้ ภายใน 24 ชั่วโมงหลังการสวรรคตของพระราชมารดา กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สามจะมีพระราชโองการประกาศการสืบทอดบัลลังก์ของพระองค์อย่างเป็นทางการ โดยพิธีนี้จะมีขึ้นที่พระราชวังเซนต์เจมส์ในกรุงลอนดอน ต่อหน้าคณะบุคคลสำคัญที่เรียกว่า "สภาการขึ้นครองราชย์" (Accession Council) ซึ่งประกอบไปด้วยเหล่าองคมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอาวุโสทั้งในอดีตและปัจจุบัน สมาชิกสภาขุนนาง ข้าราชการระดับสูง รวมทั้งข้าหลวงใหญ่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ประจำรัฐต่าง ๆ ในเครือจักรภพ
 
คณะบุคคลสำคัญเหล่านี้อาจมีได้สูงสุดถึง 700 คน แต่ในทางปฏิบัติที่ต้องเร่งรีบแล้ว อาจมีผู้เข้าร่วมจริงน้อยกว่านั้นมาก เช่นในปี 1952 ที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองเสด็จขึ้นครองราชย์ มีผู้เข้าร่วมราว 200 คน อย่างไรก็ตาม ตามธรรมเนียมแล้วกษัตริย์พระองค์ใหม่มักไม่เสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีการนี้ แต่ประธานองคมนตรีจะเป็นผู้อ่านประกาศการสวรรคตของกษัตริย์พระองค์ก่อน รวมทั้งประกาศการขึ้นครองราชย์ไปในคราวกัน
 
จากนั้น จึงจะมีการลงนามรับรองคำประกาศการขึ้นครองราชย์นี้โดยผู้นำคนสำคัญจำนวนหนึ่ง รวมถึงนายกรัฐมนตรี อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี ผู้นำศาสนจักรอังกฤษ และประธานสภาขุนนาง โดยหลายฝ่ายต่างจับจ้องให้ความสนใจว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มลดข้อความในประกาศ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเข้าสู่รัชสมัยใหม่อย่างไรหรือไม่
 
การประกาศ “ปฐมบรมราชโองการ”
ในวันถัดมา สภาการขึ้นครองราชย์จะพบปะกันอีกครั้ง ซึ่งในครั้งนี้กษัตริย์พระองค์ใหม่จะเสด็จมาในพิธีด้วยเพื่อทรงประกาศ “พระปฐมบรมราชโองการ” ซึ่งมีเนื้อหาแตกต่างจากการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของผู้นำชาติอื่น ๆ โดยจะมีข้อความตามธรรมเนียมโบราณปะปนอยู่ด้วย เช่นทรงปฏิญาณว่าจะอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนจักรแห่งสกอตแลนด์ ตามธรรมเนียมที่มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18
 
จากนี้ไป หลังการประโคมเสียงแตรสัญญาณ จะมีเจ้าพนักงานอ่านประกาศการขึ้นครองราชย์ต่อสาธารณชนที่ระเบียงเหนือลาน Friary Court ในพระราชวังเซนต์เจมส์ โดยจะป่าวร้องขึ้นว่า "พระผู้เป็นเจ้าทรงปกปักรักษาพระราชา" (God Save the King) ซึ่งคราวนี้จะเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี ที่เพลงชาติของสหราชอาณาจักรซึ่งมีชื่อเดียวกัน จะเปลี่ยนเนื้อร้องจากคำว่า Queen มาเป็นคำว่า King
 
การประกาศพระปฐมบรมราชโองการนี้จะมีขึ้นนอกกรุงลอนดอน ที่เมืองเอดินบะระ คาร์ดิฟฟ์ และเบลฟาสต์ด้วย พร้อมกับมีการยิงสลุดที่สวนสาธารณะไฮด์ปาร์ก หอคอยแห่งลอนดอน และจากเรือรบหลวงต่าง ๆ
 
พระราชพิธีราชาภิเษก
พระราชพิธีทางการที่เป็นสัญลักษณ์อันสูงสุดของการขึ้นครองราชย์ คือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งจะต้องใช้เวลาจัดเตรียมงานระยะหนึ่งหลังกษัตริย์พระองค์ใหม่เริ่มการสืบทอดราชบัลลังก์ เช่นในกรณีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองนั้น พระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีขึ้นหลังทรงครองราชย์ถึง 1 ปีเต็ม
 
ในประวัติศาสตร์ 900 ปีที่ผ่านมา พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจัดขึ้นที่ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ทุกครั้ง โดยพระเจ้าวิลเลียมผู้พิชิต (William the Conqueror) เป็นกษัตริย์อังกฤษพระองค์แรกที่ทรงประกอบพิธีราชาภิเษกที่นั่น และ กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สามจะนับเป็นองค์ที่ 40 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้
 
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะมีขึ้นตามแนวทางของศาสนจักรอังกฤษ และประกอบพิธีโดยอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี ผู้นำนิกายแองกลิกัน จุดสำคัญของพิธีดังกล่าวอยู่ที่การสวมพระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด ซึ่งทำขึ้นตั้งแต่ปี 1661 ด้วยทองคำล้วนหนัก 2.23 กิโลกรัม ลงบนพระเศียรของกษัตริย์พระองค์ใหม่ รวมทั้งการเจิมน้ำมันหอม การรับคทาและลูกโลกประดับกางเขนจากอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี
 
พระราชพิธีนี้ถือว่าเป็นรัฐพิธีเช่นกัน ทำให้รัฐบาลอังกฤษเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในงานนี้ทั้งหมด ทั้งยังคัดเลือกจัดทำรายชื่อผู้เข้าร่วมงานเองอีกด้วย
 
นอกจากกษัตริย์พระองค์ใหม่จะทรงเป็นพระประมุขของสหราชอาณาจักรแล้ว ยังทรงเป็นผู้นำของเครือจักรภพที่มีรัฐเอกราช 56 ชาติ และประชากร 2,400 ล้านคนร่วมเป็นสมาชิกอยู่ โดยในจำนวนนี้ 14 ประเทศมีกษัตริย์อังกฤษเป็นประมุขของรัฐ
 
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 9 กันยายน 2565

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)