จีนไล่บี้ "โควิดเป็น 0" สั่งกักตัวนักศึกษาเกือบ 500 คนหลังพบเด็กหอติดโควิด
จีนสั่งกักตัวนักศึกษา-อาจารย์เกือบ 500 คนภายใต้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ (zero-Covid policy) หลังพบผู้ติดเชื้อโควิดเพียงหยิบมือที่หอพักนักศึกษาของมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่งเมื่อเร็ว ๆนี้ ขณะที่ยอดประชาชนที่ยังคงอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ มีถึง 65 ล้านคนทั่วประเทศ
ทางการจีน ยังคง มาตรการโควิดเป็นศูนย์ อย่างเข้มข้น โดยล่าสุด มีการสั่งกักตัวนักศึกษาด้านวารสารศาสตร์เกือบ 500 คน พร้อมด้วยอาจารย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หลังมีรายงานพบ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพียงไม่กี่คนที่หอพักนักศึกษาของมหาวิทยาลัย Communication University of China ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในการผลิตบุคลากรด้านสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ โดยทั้งหมดถูกส่งตัวไปยังศูนย์กักตัวภายใต้นโยบายการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มงวด
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า มีการส่งตัวนักศึกษา 488 คน พร้อมด้วยอาจารย์ 19 คน และเจ้าหน้าที่ 5 คนของมหาวิทยาลัยดังกล่าวขึ้นรถบัสเพื่อไปกักตัวที่ ศูนย์ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 เมื่อค่ำวันศุกร์ที่ผ่านมา (9 ก.ย.) โดยนักศึกษา อาจารย์และเจ้าหน้าที่ทั้งหมดนี้ เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในมหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ ภายใต้มาตรการโควิดเป็นศูนย์ (zero-Covid policy) ของทางการจีน กำหนดให้ต้องกักตัวทุกคนที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ที่มีผลตรวจโควิดเป็นบวก และต้องส่งไปยังศูนย์กักตัวตามโรงพยาบาลสนามที่ปรับปรุงจากสนามกีฬาหรือศูนย์การประชุมขนาดใหญ่ ซึ่งได้รับเสียงวิจารณ์ว่าเป็นสถานที่กักตัวที่แออัดเกินไป ขาดสุขอนามัย และยังพบปัญหาอาหารเน่าเสียในศูนย์กักตัวด้วย
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สถิติชี้ว่า มีชาวจีนราว 65 ล้านคนที่ยังคงอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ ขณะที่ยอดติดเชื้อโควิดรายใหม่ในจีนอยู่ที่ 1,248 คน (ตามข้อมูลล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 ก.ย.2565) และส่วนใหญ่เป็นผู้ติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ
ข่าวระบุว่า มาตรการล็อกดาวน์เข้มข้นของทางการจีน ได้นำไปสู่การประท้วงในรูปแบบการเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์ และการปะทะระหว่างประชาชนที่ได้รับผลกระทบกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและตำรวจ ความเคลื่อนไหวในจีนนั้นเกิดขึ้นท่ามกลางบริบทที่นานาประเทศต่างก็ได้ผ่อนคลายมาตรการสกัดกั้นการระบาดของโควิดกันไปแล้วหลังจากมีวัคซีนและยาต้านโควิดออกมามากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่า มาตรการโควิดเป็นศูนย์ของรัฐบาลจีน กำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนเองเป็นอย่างมาก ทั้งยังส่งแรงสั่นสะเทือนไปทั้งระบบห่วงโซ่อุปทานโลก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าอื่น ๆ ขณะที่การปิดเมืองใหญ่หลายแห่งของจีน อาทิ นครเซี่ยงไฮ้ เป็นเวลาหลายเดือนเพื่อควบคุมโควิด ยังก่อให้เกิดปัญหาการย้ายออกของแรงงานต่างชาติ รวมถึงการไหลออกของการลงทุนในภาคธุรกิจต่างประเทศในจีนเป็นจำนวนมาก
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 12 กันยายน 2565