เดินหน้าศูนย์ทดสอบรถ รั้งไทยฐานผลิตโลก

อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ผลักดันไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์สำคัญของโลก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาลในปัจจุบัน
 
ย้อนกลับไปช่วงปี 2559 เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมยานยนต์ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติให้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ดำเนินโครงการจัดตั้ง ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (แอททริค) ขึ้น กรอบวงเงินงบประมาณ 3,705.7 ล้านบาท บนพื้นที่ 1,235 ไร่ ณ บริเวณเขตสวนป่าลาดกระทิง ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ 3,705.7 ล้านบาท ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
 
การตัดสินใจครั้งนั้นของรัฐบาลถือเป็นนโยบายสำคัญในการผลักศูนย์ทดสอบครบวงจรมาตรฐานโลกแห่งแรกของภูมิภาคอาเซียน กลไกสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย รองรับทั้งรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน และรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ช่วยเร่งรัดการพัฒนาการมาตรฐานการวิจัยและนวัตกรรมของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนและยางล้อให้มีศักยภาพตามมาตรฐานสากล ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0
 
ที่สำคัญยังช่วยดึงดูดค่ายรถยนต์จากทั่วโลกและผู้ผลิตชิ้นส่วนให้ลงทุนในไทยทั้งรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน และรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เพราะสามารถลดต้นทุนตรวจสอบมาตรฐานทั้งระบบ และยังลดต้นทุนการส่งรถยนต์หรือชิ้นส่วนตัวอย่างไปตรวจมาตรฐานในต่างประเทศ!!
 
อย่างไรก็ตาม พบว่า การก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ระยะที่ 1 ตั้งแต่ปี 2559-2565 ได้รับงบประมาณอยู่ที่ 1,872.7 ล้านบาท ความคืบหน้าจึงค่อนข้างช้าเนื่องด้วยข้อจำกัดทางงบประมาณ แต่ยังอยู่ในกรอบเวลาแล้วเสร็จปี 2566-69 เนื้องานแบ่งเป็น 2 ส่วน แบ่งเป็น ส่วนแรก แยกย่อยเป็น 1.งานก่อสร้างอาคารสนามทดสอบ แบ่งเป็น สนามทดสอบยางล้อ UN R117 และอาคารห้องปฏิบัติการทดสอบยางล้อ ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการทดสอบแล้ว อีกส่วนคือ อาคารสำนักงาน อยู่ในระหว่างการก่อสร้างกำหนดเสร็จปีนี้ 2.งานจัดซื้อเครื่องมือทดสอบ คือชุดทดสอบยางล้อ (UN R117/มอก.2721) เพื่อทดสอบมลพิษทางเสียง ทดสอบการยึดเกาะบนพื้นผิวเปียก และทดสอบความต้านทานการหมุน ติดตั้งและส่งมอบแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการทดสอบแล้ว
 
ส่วนที่ 2 งานทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วน แยกย่อยเป็น 1.งานก่อสร้างอาคาร สนามทดสอบ ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ ได้แก่ สนามทดสอบระบบเบรก (Brake Performance Track), สนามทดสอบระบบเบรกมือ (Park Brake (Test Hill) Track), สนามทดสอบพลวัต (Dynamic Platform Track), สนามทดสอบ
 
การยึดเกาะขณะเข้าโค้ง (Skid Pad Track), ถนนหลักในสยามทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วน, สถานีควบคุมการทดสอบ ขณะที่ระบบสาธารณูปโภค อยู่ระหว่างการก่อสร้างคาดเสร็จปีนี้
2.งานจัดซื้อเครื่องมือทดสอบ ติดตั้งและส่งมอบแล้วเสร็จ ได้แก่ ชุดทดสอบเข็มขัดนิรภัย (UN R16/มอก.721), ชุดทดสอบจุดยึดเข็มขัดนิรภัย (UN R14/มอก.1467), ชุดทดสอบที่นั่ง จุดยึดที่นั่ง และพนักพิงศีรษะ (UN R17/มอก.896 และ UN R25/มอก.714) ขณะที่ชุดทดสอบห้ามล้อ (UN R13/มอก.1466 และ UN R13H/มอก.2305) อยู่ระหว่างการติดตั้งและส่งมอบ คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2565
 
ล่าสุดปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณส่วนที่เหลืออีก 1,833 ล้านบาท เดินหน้าศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ระยะที่ 2 ช่วง 3 ปี (2566-68) หลังว่างเว้นการจัดสรรงบประมาณในปี 2565
 
โดยการลงทุนระยะที่ 2 จะเป็นส่วนทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ 2 ส่วนสำคัญ คือ 1.งานก่อสร้างอาคารสนามทดสอบ ประกอบด้วย สนามทดสอบสมรรถนะและความเร็ว,อาคารสำหรับเตรียมสภาพรถ,ทางวิ่งส่วนต่อขยายจากสนามทดสอบยางล้อ และแล็บทดสอบการชน 2.งานจัดซื้อเครื่องมือทดสอบ ประกอบด้วย ชุดทดสอบอุปกรณ์เลี้ยว (UN R79/มอก.1471), ชุดทดสอบการยึดเกาะถนนขณะเข้าโค้ง (UN R79/มอก.1471),ชุดทดสอบมาตรความเร็ว (UN R39/มอก.2308), ชุดทดสอบความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง พลังงานไฟฟ้า และระยะขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (UN R101/มอก.2335), ชุดทดสอบการชนด้านหน้า และการชนด้านข้าง (UN R94/มอก.2400 และ UN R95/มอก.2399) และชุดทดสอบอุปกรณ์สัญญาณเสียงเตือน (UN R28/มอก.771)
 
ไม่เพียงเท่านี้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสถาบันยานยนต์ยังอยู่ระหว่างก่อสร้างศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ไฟฟ้า ในพื้นที่ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติด้วย เพื่อรองรับนโยบายขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ของประเทศที่กำหนดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 100% หรือบีอีวี ให้ได้ 30% ภายในปี ค.ศ.2030 หรือ พ.ศ.2573 พร้อมทั้งผลักดันการกำหนดมาตรฐานรถยนต์อีวีและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง อาทิ มาตรฐานการใช้พลังงาน มาตรฐานแบตเตอรี่ มาตรฐานสถานีอัดประจุไฟฟ้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนผู้ใช้งาน
 
บรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ให้ข้อมูลว่า กรณีรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ 2566 เพื่อใช้ก่อสร้างโครงการ ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ในระยะที่ 2 วงเงิน 1,833 ล้านบาท เพื่อดำเนินการช่วง 3 ปี (2566-68) ถือเป็นข่าวดี ซึ่งการอนุมัติงบประมาณครั้งนี้เป็นก้อนสำคัญเพื่อทำให้โครงการนี้เสร็จสมบูรณ์ตามเป้าหมายที่วางไว้ช่วงปี 2568-69 และยังแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีเป้าหมายสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ ทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำและเป็นศูนย์กลางการทดสอบและรับรองในภูมิภาคอาเซียน
 
เลขาธิการ สมอ.ระบุว่า สมอ.ยังอยู่ระหว่างผลักดันองค์การมหาชนรองรับการบริหารศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ โดยขณะกระทรวงอุตสาหกรรมได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดแนวทางในการจัดตั้งองค์การดังกล่าวแล้ว มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นที่ปรึกษา และเลขาธิการ สมอ. เป็นประธานกรรมการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถาบันยานยนต์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมเป็นกรรมการ เพื่อทำหน้าที่กำหนดกรอบแนวทางและแผนการปฏิบัติงานของหน่วยงาน
 
“สมอ.ได้ว่าจ้างทีดีอาร์ไอศึกษาแนวทางการดำเนินธุรกิจสำหรับศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ โดยรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พบว่าการบริหารงานในรูปแบบองค์การมหาชนมีความเหมาะสมต่อการบริหารจัดการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ เพราะจะมีความคล่องตัวสูง มีความเป็นกลาง สามารถบริหารจัดการงบประมาณ และบุคลากรได้โดยอิสระ อีกทั้งยังเป็นหน่วยรับงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐได้อีกด้วย” เลขาธิการ สมอ.ทิ้งท้าย
 
ล่าสุดแม้อุตสาหกรรมยานยนต์จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความขัดแย้งจากสงครามในประเทศต่างๆ จนทำให้ชิ้นส่วนสำคัญอย่างเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) ขาดแคลน แต่ในภาพรวมยังเดินหน้าไปได้ด้วยดี โดยเฉพาะแนวโน้มความต้องการรถยนต์อีวี โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า 100% ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่ (บีอีวี) ซึ่งรัฐบาลออกมาตรการสิทธิประโยชน์ (แพคเกจอีวี) ทั้งลดอากรนำเข้า ลดภาษีสรรพสามิต และการให้เงินสนับสนุน รวมส่วนลดราคาบีอีวีสูงสุดประมาณ 2 แสนบาทต่อคันเลยทีเดียว เพื่อกระตุ้นการใช้บีอีวีในประเทศ
 
นอกจากนี้ ยังพบว่าตลาดรถยนต์ในประเทศในเติบโตสวนทางสภาพเศรษฐกิจที่เปราะบาง โดย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ออกมาประกาศปรับเป้าตัวเลขประมาณการการผลิตรถยนต์ปี 2565 จาก 1,800,000 คัน เป็น 1,750,000 คัน ลดลง 50,000 คัน แต่จะพบว่าเป็นการปรับเป้าผลิตส่งออกลงจาก 1,000,000 คัน เป็น 900,000 คัน ขณะที่ตลาดในประเทศยังเดินหน้าได้ดี เพราะปรับเป้าผลิตขายในประเทศขึ้นจาก 800,000 คันเป็น 850,000 คัน
 
โดยตลาดบีอีวียังเติบโตต่อเนื่อง เพราะข้อมูลการจดทะเบียนบีอีวีช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-มิถุนายน 2565) พบว่าเพิ่มขึ้นกว่า 50% เมื่อเทียบกับปี 2564 จึงคาดการณ์ว่ายอดจดทะเบียนรถยนต์นั่งบีอีวีทั้งปี 2565 อาจสูงถึง 10,000 คัน
 
สอดรับกับภาพรวมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าของไทยที่เติบโตเช่นกัน โดยตัวเลขจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่า ช่วงครึ่งปี 2565 (มกราคม-มิถุนายน) อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน มีคำขอ 53 โครงการ เงินลงทุนรวม 4.2 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นโครงการของบริษัทร่วมทุน ปตท. และ Foxconn ภายใต้ชื่อ Horizon Plus มูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ล่าสุดเดือนสิงหาคมบีโอไอได้อนุมัติคำขอของค่ายรถยนต์ บีวายดี สัญชาติจีน วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท สอดรับกับแพคเกจอีวีที่รัฐบาลประกาศออกไป
 
จะพบว่าภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งเครื่องยนต์สันดาปภายใน และอีวี กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง การปิดจ๊อบ ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ให้เสร็จไม่เกินปี 2569 จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างที่สุด เพื่อดันไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์ทดสอบยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดและได้มาตรฐานโลกแห่งแรกในอาเซียน ช่วยให้ไทยครองฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้น้ำมันและยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลกให้ได้!!
 
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 13 กันยายน 2565  
 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)