ม.หอการค้าชี้ไทยเสี่ยงสูง เข้าภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ม.หอการค้าไทย เผย เผลสำรวจภาคธุรกิจที่แสดงถึงความกังวลค่าครองชีพและต้นทุนที่สูงขึ้น รวมถึงการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ขณะที่สงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาพลังงาน เงินเฟ้อ ทำเศรษฐกิจโลกถดถอย กระทบประเทศคู่ค้าไทยและจะกดดันจีดีพีไทย
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์ฯ ได้สำรวจความเห็นจากภาคธุรกิจถึงผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกต่อธุรกิจไทยในปัจจุบัน จำนวน 850 ตัวอย่างทั่วประเทศ สำรวจระหว่างวันที่ 6-12 ก.ย.2565 พบว่า
ภาคธุรกิจ ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับผลกระทบทั้งในด้านการดำเนินธุรกิจและกำไร แต่ในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2565 ยังมีความเสี่ยงในระดับปานกลางถึงสูงที่ประเทศคู่ค้าหลักของไทย อาทิ จีน และสหรัฐ จะประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ซึ่งในที่สุดก็จะส่งผลกระทบต่อมายังเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ขณะที่ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ คือ ค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบด้านกำไร ยอดขายและจำนวนลูกค้าที่จับจ่ายน้อยลดลง
ส่วนเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย มีนักธุรกิจ 77.1% มองว่าส่งผลกระทบต่อต้นทุน และส่งผลต่อสภาพคล่อง
ในขณะที่การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพิ่ม 5% ที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือน ต.ค.2565 เป็นต้นไป นักธุรกิจ 61.3% มองว่าส่งผลกระทบต่อต้นทุนของภาคธุรกิจทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ อาทิ ภาคการท่องเที่ยว ค้าส่ง และภาคการเกษตร แต่ไม่ใช่เป็นเหตุให้ภาคอุตสาหกรรมปรับลดแรงงานให้น้อยลง ในขณะที่นักธุรกิจ 80 % เห็นว่าจะไม่มีการปรับลดคนงานออกจากงาน หลังค่าแรงขั้นต่ำขึ้นแต่อย่างใด
ส่วนปัญหาน้ำท่วมในประเทศหลายพื้นที่โดยคาดว่ากระทบด้านความเสียหายประมาณ 5,000 ล้านบาท ถือว่ากระทบต่อจีดีพีของประเทศน้อยมาก โดยทางศูนย์ฯ มองว่าไม่มีผลกับการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้มากนัก เนื่องจากพื้นที่ทางการเกษตรแม้จะได้รับผลกระทบแต่โดยรวมไม่ได้รับความเสียหายมากจนเกินไป โดยพื้นที่น้ำท่วมส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะน้ำท่วมและเร่งระบายน้ำออกเป็นส่วนมาก
นอกจากนี้ศูนย์ฯ ได้ประเมินผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยและปัจจัยเสี่ยงอื่นต่อเศรษฐกิจไทยปี 2565 โดยเริ่มจากนิยามคำว่า “เศรษฐกิจถดถอย” เป็นสถานการณ์ที่เศรษฐกิจติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน ถ้าเศรษฐกิจขยายตัวเป็นบวกน้อยลง2 ไตรมาสคือเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ถ้าเศรษฐกิจขยายตัวติดลบ 3 ปีจะเรียกว่าเศรษฐกิจตกต่ำ
สำหรับสาเหตุของเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยในปี 2565 คือ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นเร็ว และธนาคารกลางปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะผลก็คือจะทำให้จีดีพีประเทศลดลง ต้นทุนสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนลดลง ซึ่งสิ่งที่ทั่วโลกกังวลขณะนี้ คือ เศรษฐกิจสหรัฐติดลบ 2 ไตรมาส เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ใช้มาตรการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยคาดว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งหน้า 1 % ซึ่งก็จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสที่จะติดลบต่อเนื่อง
ขณะที่ยุโรป เอเชีย ทั้งจีน ญี่ปุ่น และอินเดีย ที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย มีความเสี่ยงในเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิค หรือเศรษฐกิจติดลบทั้งปีมีความเสี่ยงน้อยมาก แต่ขณะนี้เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณชะลอตัวลง ซึ่งจะรุนแรงหรือไม่จะประเมินอีกครั้ง โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ยังใช้มาตรการซีโร่โควิด อาจทำให้อัตราการขยายตัวของจีนติดลบใน 2 ไตรมาส แต่ตัวเลขเศรษฐกิจยังไม่ออกมาซึ่งก็มีโอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในประเทศยักษ์ใหญ่ของโลกได้ ทั้งนี้มีข้อดี คือ มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนปีนี้ขยายตัว 3.3% อินเดีย 6.5% และญี่ปุ่น 1% ทั้ง 3 ประเทศมีสัดส่วนจีดีพีโลก 30% ทำให้เศรษฐกิจโลกถูกประคองโดยเศรษฐกิจเอเชีย
ทั้งนี้ หากเกิดกรณี ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย คาดว่าปริมาณการค้าโลกจะลดลง 1.0-2.0% ฉุดส่งออกไทยลดลง 185,596 ล้านบาท ส่งผลให้การบริโภคเอกชนลดลง 33,876 ล้านบาท การลงทุนเอกชนลดลง 4,302 ล้านบาทและการนำเข้าสินค้าลดลง 23,491 ล้านบาท รวมแล้วลดลง 200,282 ล้านบาท หรือฉุดจีดีพีลดลง 1.22%
ดังนั้นช่วงเวลาที่เหลือของปี 2565 จึงมีความเสี่ยงระดับปานกลางถึงสูงที่ประเทศคู่ค้าหลักของไทยจะเจอภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งจะกระทบเศรษฐกิจไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเศรษฐกิจโลกถดถอยและปัจจัยเสี่ยงอื่นจะกดดันจีดีพีของปี 2565 ให้ลดลงมาอยู่ระดับใกล้เคียงปีก่อน แต่ถ้าหากผลักดันจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นไปใกล้เคียงหรือมากกว่า 10 ล้านคน จะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวได้เกือบทั้งหมด ซึ่งคาดว่าปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 10 ล้านคน และสร้างรายได้ 2.4 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยที่หลังจากนี้อาจจะได้เห็นการปรับขึ้นอีก 2 ครั้ง หรืออาจอยู่ที่ 1.25% ในปลายปี 2565 ยืนยันว่าไม่ใช่ตัวบั่นทอนหลัก แต่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจแน่นอน ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยสร้างความกังวลต่อภาคเกษตรที่กังวลทุกปัจจัยลบ โดยเฉพาะเรื่องหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) เป็นผลให้ในระยะนี้ เศรษฐกิจไทยยังเติบโตในลักษณะ เคเชฟ (K) อยู่
ศูนย์ฯ ยังคงคาดการณ์เดิมว่าปี 2565 จีดีพีอยู่ที่3.1% ส่งออกอยู่ที่ 5-6% และคาดการณ์ว่าในปี 2566 แนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวไม่โดดเด่น เพราะความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่มีการชะลอตัวจากราคาน้ำมันแพง ส่งผลต่อเงินเฟ้อ ต้นทุนธุรกิจสูง โดยจีดีพีจะเติบโตอยู่ในกรอบ 3-3.5% อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์พยากรณ์จะมีการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจอีกครั้งในเดือน พ.ย.นี้
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 16 กันยายน 2565