ประชุมสมัชชาใหญ่ UN สัปดาห์นี้ มีประเด็นอะไรต้องจับตา
การประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติครั้งที่ 77 (UNGA77) เริ่มขึ้นแล้วที่มหานครนิวยอร์กในสัปดาห์นี้ ผู้นำรัฐบาลจากประเทศต่าง ๆ จะร่วมหารือในระดับสูงตั้งแต่วันอังคารที่ 20 กันยายนถึงวันจันทร์ที่ 26 กันยายน เรามาดูกันว่า การประชุมครั้งนี้ มีประเด็นสำคัญอะไรบ้าง
บรรดา ผู้นำรัฐบาล นานาประเทศเดินทางเข้าร่วม ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติครั้งที่ 77 ในสัปดาห์นี้ (20-26 ก.ย.) โดยจะมี วิกฤติความมั่นคงด้านอาหารโลก และ สงครามในยูเครน เป็นประเด็นหารือที่สำคัญ
ทั้งนี้ นายอันโตนิโอ กูเทอเรซ เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ ตัดสินใจไม่เดินทางไปร่วมถวายอาลัยต่อพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เนื่องจากเขาจำเป็นต้องอยู่ที่นิวยอร์กเพื่อต้อนรับบรรดาผู้นำประเทศและร่วมประชุมด้านการศึกษาในวันจันทร์นี้ (19 ก.ย.) ก่อนที่จะเข้าร่วมในพิธีเปิดการประชุมสมัชชาใหญ่ประจำปี หรือ UNGA (United Nations General Assembly) ครั้งที่ 77 ในเช้าวันอังคาร (20 ก.ย.)
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ในฐานะผู้นำประเทศเจ้าภาพ ซึ่งเดิมจะต้องกล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุม UNGA ในวันอังคารเป็นคนที่สองต่อจากนายกูเทอเรซ ได้มีการปรับเปลี่ยนลำดับการขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ โดยเลื่อนไปเป็นวันพุธ (21 ก.ย.) เนื่องจากตัวเขาต้องเดินทางไปเข้าร่วมพระราชพิธีพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถในวันจันทร์
นับเป็นครั้งแรกในรอบสองปีที่การประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติกลับสู่สภาวะปกติ หลังจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่ทำให้ผู้นำส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่เดินทางมาร่วมประชุม ณ นครนิวยอร์กในช่วงสองปีที่ผ่านมา
ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตา :
สำนักข่าววีโอเอ สื่อใหญ่ของสหรัฐรายงานว่า สงครามในยูเครนจะเป็นประเด็นที่ถูกจับตามองในการประชุมครั้งนี้ แม้ว่าทั้งประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย และประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ต่างไม่ได้เดินทางมาร่วมการประชุมที่นิวยอร์กก็ตาม
ทั้งนี้ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีกำหนดหารือกันในวันพฤหัสบดีนี้ (22 ก.ย.) เกี่ยวกับสถานการณ์ในยูเครน โดยเฉพาะความกังวลด้านความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ซาปอริห์เชียทางภาคใต้ของยูเครน
สงครามที่ยืดเยื้อและผลกระทบที่ไม่อาจประเมินได้ :
นายราฟาเอล มาริอาโน กรอสซี ผู้อำนวยการสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA (International Atomic Energy Agency) กล่าวว่า สถานการณ์ในยูเครนทำให้โลกเหมือนกับกำลังเล่นอยู่กับไฟในเวลานี้ นั่นคือเหตุการณ์ที่สุ่มเสี่ยงกับสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับการเกิดอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ “ความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริห์เชียกำลังแขวนอยู่บนเส้นด้าย" กรอสซีกล่าว
อีกประเด็นสำคัญคือ เจ้าหน้าที่ของชาติตะวันตกต่างพยายามหาทางช่วยเหลือประเทศยากจนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามในยูเครน
นายริชาร์ด โกวาน ผู้อำนวยการองค์กร International Crisis Group เปิดเผยว่า หลายชาติในแอฟริกาและเอเชียต่างมีความสัมพันธ์ทางทหารหรือทางเศรษฐกิจกับรัสเซีย แม้ว่าประเทศเหล่านี้ต้องการตำหนิวิจารณ์รัสเซียที่ส่งกำลังเข้าบุกรุกยูเครน แต่พวกเขาก็ไม่อยากสร้างความขัดแย้งกับรัฐบาลรัสเซียในที่ประชุมยูเอ็นเช่นกัน
วิกฤตขาดแคลนอาหาร :
ด้านนายอันโตนิโอ กูเทอเรซ เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ เชื่อว่า โอกาสที่จะเกิดข้อตกลงสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครนในตอนนี้ ค่อนข้างริบหรี่ ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ สงครามดังกล่าวได้ก่อให้เกิดวิกฤตขาดแคลนอาหารขึ้นทั่วโลก ประกอบกับปัญหาห่วงโซ่อุปทาน และราคาสินค้าที่สูงขึ้นก็ยิ่งทำให้วิกฤตดังกล่าวรุนแรงมากขึ้นในแถบตะวันออกของทวีปแอฟริกา ซึ่งกำลังประสบภาวะแห้งแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี
รายงานระบุว่า ประชาชนแอฟริการาว 20 ล้านคนกำลังเผชิญความเสี่ยงจากความอดอยากหิวโหยอย่างสาหัส และภัยแล้งก็กำลังคุกคามประชากรเกือบ 8 ล้านคนในโซมาเลีย
ในการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งนี้ ประธานาธิบดีไบเดนจะเป็นผู้นำการประชุมระดับสูงว่าด้วยความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งถือเป็นหนึ่งในประเด็นเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว
สำหรับประเทศไทย มีประเด็นอะไรใน UN :
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และคณะผู้แทนไทย มีกำหนดเดินทางเข้าร่วมการประชุม UNGA77 และกิจกรรมคู่ขนานสำคัญ ณ มหานครนิวยอร์ก ระหว่างวันที่ 17-25 ก.ย. โดยไทยจะใช้เวทีนี้เป็นโอกาสดำเนินการต่าง ๆ ได้แก่
1. กระชับความสัมพันธ์ (reconnect) กับนานาประเทศ
2. ตอกย้ำ (reaffirm) ความเชื่อมั่นของไทยต่อระบบพหุภาคี ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการผลักดันวาระสำคัญด้านการพัฒนาของโลก และรับมือกับประเด็นความท้าทายใหม่ อาทิ เทคโนโลยีดิจิทัล การใช้อวกาศส่วนนอก และการผลักดันให้ระบบการเงินโลกมีความยุติธรรมและเท่าเทียม
3. ร่วมกำหนด (reshape) วาระสำคัญของโลก ผ่านการมีส่วนร่วมในการหารือต่าง ๆ และนำเสนอบทบาทของไทยในฐานะประธานเอเปคปีนี้ นำเสนอผลลัพธ์ของการประชุมเอเปค รวมถึงการเป็นผู้ประสานงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของอาเซียน โดยมุ่งผลักดันวาระสำคัญของไทย โดยเฉพาะโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green (BCG) ซึ่งมีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ
4. สานต่อ (revitalize) ความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐไทยกับชุมชนไทยในสหรัฐ และภาคเอกชน อาทิ US-ASEAN Business Council (USABC)
การประชุมของ UN ครั้งนี้ยังเป็นโอกาสที่ไทยจะได้เปิดตัว การลงสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council: HRC) วาระปี 2025-2027 ของไทยอีกด้วย
สำหรับหัวข้อ “ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง : ทางออกที่พลิกรูปแบบเพื่อรับมือความท้าทายที่เชื่อมโยงกัน” (A watershed moment: transformative solutions to interlocking challenges) ที่ประมุข ผู้นำรัฐบาล และตัวแทนของรัฐสมาชิก UN จะร่วมแสดงวิสัยทัศน์และจุดยืนต่อวาระสำคัญของโลกด้วยการกล่าวถ้อยแถลงในการอภิปรายทั่วไป (General debate) นั้น ตัวแทนของไทยคือ นายดอน ปรมัตถ์วินัน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศ มีกำหนดกล่าวถ้อยแถลงในช่วงเช้าของวันที่ 24 ก.ย.
นอกจากนี้ พลเอก ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการนายกรัฐมนตรี จะร่วมกล่าวถ้อยแถลงแบบบันทึกวีดิทัศน์ล่วงหน้าในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการพลิกโฉมการศึกษา (Transforming Education Summit: TES) ในวันจันทร์ (19 ก.ย.) โดยมุ่งแสดงเจตนารมณ์ของไทยในการสนับสนุนการพัฒนาทักษะของผู้เรียน และการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 19 กันยายน 2565