สภาองค์กรของผู้บริโภค เผยสาเหตุที่ค่า Ft ในบิลค่าไฟขึ้นไป 300%
สภาองค์กรของผู้บริโภค เผยสาเหตุที่ค่า Ft ในบิลค่าไฟขึ้นไป 300% ชี้ต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติพุ่งจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แท้จริงจากการบริหารจัดการ ไทยแบกไฟสำรองพุ่ง 51%
วันที่ 21 กันยายน 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยข้อมูลจากผศ.ประสาท มีแต้ม ประธานคณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค ในประเด็น “ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นเพราะว่าราคาก๊าซธรรมชาติแพงขึ้นเนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน นั้นเป็นความจริงเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น คล้ายกับภูเขาน้ำแข็งที่ลอยอยู่ในมหาสมุทร แต่ที่จมอยู่ใต้น้ำนั้นคนมองไม่เห็น
โดยระบุว่า กระแสฮือฮาเวลานี้ หนีไม่พ้นการแชร์สลิปค่าไฟฟ้าลงโซเชียล พร้อมด้วยการตั้งคำถาม ใช้ค่าไฟฟ้าเท่าเดิม แต่ที่ไม่เหมือนเดิม คือ ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft ที่เรียกเก็บ ในรอบเดือน กันยายน – ธันวาคม 2565 ขึ้นพรวดเดียว 300 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์
คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( กกพ.) อ้างว่า ต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ เป็นหลัก เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย จึงส่งผลกระทบต่อราคาวัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า ทำให้ต้องปรับฐานค่า Ft งวดเดือน กันยายน – ธันวาคม 2565 อีก 68.66 สตางค์ต่อหน่วย รวมเป็น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย จากเดิมเรียกเก็บที่ 3.78 บาทต่อหน่วย
หากถามว่า ค่าไฟแพงเป็นเพราะเรื่องของวัตถุดิบ(เชื้อเพลิง)และผลกระทบจากสงครามเท่านั้น มีความเป็นจริงหรือไม่ ?
ผศ.ประสาท เปิดเผยว่า ถ้าเราสรุปว่า ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นเพราะว่าราคาก๊าซธรรมชาติแพงขึ้นเนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนนั้นเป็นความจริงเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น คล้ายกับภูเขาน้ำแข็งที่ลอยอยู่ในมหาสมุทร แต่ที่จมอยู่ใต้น้ำนั้นคนมองไม่เห็น
สาเหตุที่คนมองไม่เห็นคืออะไร เอาเฉพาะการใช้ก๊าซธรรมชาติก่อน ไฟฟ้าที่คนไทยใช้ประมาณ 55-60% ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ แต่ก๊าซธรรมชาติมาจาก 3 แหล่ง คือ 1) ผลิตเองในประเทศไทย ราคาต่ำที่สุด 2) นำเข้าจากพม่า ราคาแพงกว่าแหล่งแรก และ 3) นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ถ้าเป็นราคาขาจรจะแพงมาก นั่นเป็นที่มาของก๊าซฯ
แต่ฝ่ายผู้ใช้ก๊าซแบ่งเป็น 4 กลุ่มคือ 1) เพื่อผลิตไฟฟ้า 2) ใช้ในภาคอุตสาหกรรม 3) ใช้ในปิโตรเคมีโดยที่ในระยะหลังมีการใช้ในจำนวนที่มากขึ้น และ 4) ใช้กับรถยนต์และส่วนใหญ่เป็นแท็กซี่
รัฐบาลได้กำหนดให้นำราคาของก๊าซทั้ง 3 แหล่งมาเฉลี่ยกัน ราคาก๊าซที่ใช้ผลิตไฟฟ้าจึงแพงขึ้นมันดูอย่างผิวเผินเหมือนว่ารัฐบาลมีความเป็นธรรมกับผู้ใช้ทั้ง 4 กลุ่ม แต่ลองคิดดูให้ดี ภาคปิโตรเคมีเป็นธุรกิจที่มีกำไรมหาศาล ภาคการผลิตไฟฟ้าเป็นการให้บริการกับคนไทยทั้งประเทศซึ่งส่วนใหญ่ยากจน
และก็ไม่ได้ใช้ก๊าซเพิ่มขึ้นเลยในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ปิโตรเคมีเพียงกลุ่มเดียวที่ใช้ก๊าซเพิ่มขึ้น แถมเป็นคนจำนวนน้อยและร่ำรวยด้วย ทำไมรัฐบาลไม่กำหนดให้ภาคอื่นๆใช้ก่อน หากไม่พอก็ให้ปิโตรเคมีนำเข้า LNG มาใช้เอง ผมมีกราฟแสดงรายละเอียดมาให้ดูด้วย
นี่คือสาเหตุหนึ่งและเป็นสาเหตุสำคัญ เพราะค่าเชื้อเพลิงเป็นต้นทุนส่วนที่มากที่สุดของค่าไฟฟ้า ผู้บริโภค ตัดสินเอาเองก็แล้วกันว่า… รัฐบาลพลเอกประยุทธ์อยู่ข้างประชาชนทั้งประเทศ หรือยืนอยู่ข้างกลุ่มทุนที่ร่ำรวย สำหรับสาเหตุอื่นที่จมอยู่ใต้น้ำซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่รู้กัน
เช่น การวางแผนให้มีโรงไฟฟ้าสำรองล้นเกิน ในปี 2557 เรามีกำลังผลิตสำรอง 29% ซึ่งในทางสากลถือว่าควรจะมี 10-15% ปัจจุบันเรามีสำรองถึง 51% ประชาชนต้องค่าความพร้อมจ่ายทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เดินเครื่องเลยมาเป็นเวลานานแล้ว เพราะเราทำสัญญาแบบ “ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย (Take or Pay)” ปีละหลายหมื่นล้านบาท ในช่วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์มีโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) เกิดขึ้นจำนวนมาก ราคารับซื้อไฟฟ้าก็แพงกว่าที่ซื้อจากเอกชนรายใหญ่
แต่ทุกรายเดินเครื่องทำงานต่ำกว่าค่ามาตรฐานสากลมากๆ นี่คือต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพง และจะแพงกว่านี้อีกเพราะยังมีอีกหลายโครงการโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายเกี่ยวกับการนำเข้า LNG เสรี แต่ไม่เสรีจริง
และจากคำถามที่ว่า … จากปัญหาด้านก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ลดลง และต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ กกพ.ประกาศปรับขึ้นค่า Ft หรือค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ อีก 68.66 สตางค์ ต่อหน่วย ดังนั้นค่าเอฟทีที่เรียกเก็บในรอบเดือนกันยายน – ธันวาคม 2565 จะเท่ากับ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย เรียกว่า ขึ้นพรวดเดียว 300 เปอร์เซ็นต์
ผศ.ประสาท มีแต้ม ให้คำตอบกับประเด็นนี้ว่า … ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ค่าไฟฟ้าประกอบด้วย 3 ส่วน คือ
(1) ค่าไฟฟ้าฐาน อันนี้เป็นอัตราก้าวหน้า ยิ่งใช้มาก อัตราต่อหน่วยยิ่งสูง
(2) ค่า Ft และ (3) ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
ก่อนขึ้นค่า Ft ครั้งล่าสุด (พ.ค.-ส.ค.65) ตอนนั้นค่า Ft เท่ากับ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ถ้าเราใช้ไฟฟ้า 500 หน่วยต่อเดือน ค่าไฟฟ้าฐานเฉลี่ย 4.07 บาทต่อหน่วย แต่ถ้าเราใช้มากขึ้นเป็น 1,000 หน่วย ค่าไฟฟ้าฐานเท่ากับ 4.23 บาทต่อหน่วย เห็นไหมว่าค่าไฟฟ้าฐานเพิ่มขึ้น ถ้ารวมค่าไฟฟ้าทั้งหมดก็จะเท่ากับ 2,297 และ 4,795 บาท สำหรับผู้ใช้ 500 และ 1,000 ตามลำดับ เห็นไหมครับว่า การใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 2 เท่า แต่ ค่าไฟฟ้ามากกว่า 2 เท่า เพราะเป็นอัตราก้าวหน้า
คราวนี้มาคิดในปัจจุบัน (ก.ย.-ธ.ค.65) คราวนี้ค่า Ft เป็น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ค่าไฟฟ้าฐานเหมือนเดิมครับ แต่เมื่อรวมเป็นค่าไฟฟ้าทั้งหมดของกรณี 500 และ 1,000 หน่วย จะเท่ากับ 2,665 บาท และ 5,530 บาท ตามลำดับ
ถ้าเราจะคำนวณว่าค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ ในสองช่วงที่ผ่านมา ก็พบว่า ถ้าใช้ 500 หน่วย เพิ่มขึ้น 16.02% และ ใช้ 1,000 หน่วย เพิ่มขึ้น 15.33% ของค่าไฟฟ้าในช่วงก่อน การไปคิดว่าขึ้นค่า Ft พรวดเดียวกว่า 300 % แม้จะเป็นความจริง แต่ก็อาจจะทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิดหรือหลงได้ว่า เป็นการขึ้นค่าไฟฟ้าถึงกว่า 300%
อัตราค่าไฟฟ้าล่าสุดขึ้นเป็นราคา4.72 บาทต่อหน่วย ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากเดิมเรียกเก็บที่ 3.78 บาทต่อหน่วย การไฟฟ้าฝ่ายแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกิจการพลังงาน(เป็นหน่วยงานของกระทรวงพลังงาน) อ้างว่า ต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก
เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซียจึงส่งผลกระทบต่อราคาวัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า ทำให้ต้องปรับฐานค่าไฟเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงกับประชาชน โดยเฉพาะเมื่อเข้าหน้าร้อนมีการใช้ไฟมากขึ้น จึงเป็นช่วงที่ค่าไฟสูงกว่าปกติอยู่แล้วในทุกปี และนี่คือคำตอบจากผู้รู้ลึก รู้จริง ที่ขยายประเด็นให้เห็นชัดเจน ตัวการที่ก่อให้เกิด ค่า Ft ในบิลค่าไฟขึ้นไป พรวดเดียว 300%
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 21 กันยายน 2565