ผลสำรวจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยระบุ ประชาชนเกินครึ่งไม่กินเจเพราะแพง ไม่อร่อย และเศรษฐกิจไม่ดี
วานนี้ (20 กันยายน) ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลกินเจและความคิดเห็นต่อสถานการณ์ปัจจุบัน โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 1,250 คน
ธนวรรธน์กล่าวว่า การใช้จ่ายในช่วงเทศกาลกินเจปี 2565 คาดว่าจะมีมูลค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 42,235 ล้านบาท ขยายตัวจากปี 2564 อยู่ที่ 5.2% ถือว่าคึกคักในรอบ 7 ปีนับตั้งแต่ปี 2558 โดยการใช้จ่ายเริ่มดีขึ้น แต่ทั้งนี้ยังมองว่าผู้บริโภคยังระวังการจับจ่ายซื้อสินค้า เพราะยังกังวลในเรื่องของค่าครองชีพ
สำหรับพฤติกรรมการกินเจในปีนี้ กลุ่มที่บอกว่าจะกินเจต่อเนื่องส่วนใหญ่ให้คำตอบว่าตั้งใจจะทำบุญ และกลุ่มที่ไม่กินเจจะบอกว่าอาหารเจแพง เศรษฐกิจไม่ดี และรสชาติไม่อร่อย สิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือคือ ต้องการให้แก้ไขปัญหาค่าครองชีพ ต้องการให้มีการเมืองมีเสถียรภาพ และต้องการเงินช่วยเหลือ
จากข้อมูลที่รวบรวมพบว่า ประชาชน 66% ระบุว่า จะไม่กินเจ สาเหตุหลักคืออาหารเจแพง เศรษฐกิจไม่ดี และรสชาติไม่อร่อย ขณะที่ประชาชนอีก 34% ระบุว่า กินเจ เพราะตั้งใจทำบุญ ชอบอาหารเจ และกินตามคนที่บ้านหรือคนรอบข้าง
ส่วนพฤติกรรมการกินเจในครั้งนี้ ประชาชน 81.2% ระบุว่า จะกินตลอดช่วงเทศกาล ขณะที่ประชาชนอีก 18.8% ระบุว่า จะกินเจเฉพาะบางมื้อ โดยช่องทางในการเลือกซื้ออาหารเจส่วนใหญ่ตอบว่าเป็นการซื้อด้วยตนเอง 91.8%
สำหรับเรื่องราคาวัตถุดิบ ประชาชน 62.2% มองว่าราคาจะแพงกว่าปีที่แล้ว ในขณะที่อีก 37.8% มองว่าราคาจะเท่ากับปีที่แล้ว นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่ 81% ระบุว่า ไม่ได้เดินทางไปทำบุญตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ขณะที่อีก 19% ระบุว่า จะเดินทางไปทำบุญ
จากการสอบถามเรื่องความคึกคักของเทศกาลกินเจคาดว่าไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อน 53.5% ในขณะที่ 26.2% มองว่าจะลดลงจากปีก่อน เนื่องจากปัญหาค่าครองชีพสูง เศรษฐกิจไม่ดี และรายได้ลด
ที่มา the standard
วันที่ 21 กันยายน 2565